SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
01 ตุลาคม 2020

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ณ ไตรมาส 3/2020

EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -7.8% จากเดิมคาดที่ -7.3% จากภาคท่องเที่ยวที่ยังซบเซา ประกอบกับเม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 


TH_Outlook_Q3_2020_Final_19.jpg

EIC ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -7.8% จากเดิมคาดที่ -7.3% จากภาคท่องเที่ยวที่ยังซบเซา ประกอบกับเม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือภาครัฐที่มีแนวโน้มต่ำกว่าที่เคยคาด โดยการฟื้นตัวในระยะต่อไปยังมีอุปสรรคและความเสี่ยงที่ต้องจับตาอีกหลายประการ



เศรษฐกิจไทยหลายภาคส่วนอยู่ในช่วงฟื้นตัวหลังจากผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 (Bottomed out) แต่การฟื้นตัวเริ่มช้าลงในช่วงหลัง (stalling recovery) โดยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2020 หดตัวถึง -12.2%YOY นับเป็นอัตราการหดตัวสูงสุดในรอบ 22 ปี สะท้อนผลกระทบที่รุนแรงและรวดเร็วจากมาตรการปิดเมืองที่เกิดขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ดี หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง กิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายประเภทก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากหลายตัวชี้วัดสำคัญ อาทิ ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน มูลค่าการส่งออก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม อัตราการใช้กำลังการผลิต และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ แต่หากวิเคราะห์ข้อมูลเร็ว (Real-time data) ได้แก่ Google mobility และจำนวนประกาศสมัครงานของ JobsDB.com จะพบว่าความรวดเร็วของการฟื้นตัวเริ่มช้าลงหรือมีลักษณะทรงตัวในช่วงหลัง สอดคล้องกับที่ EIC คาดการณ์ไว้ว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ทั้งนี้ในส่วนของภาคท่องเที่ยว เริ่มเห็นการฟื้นตัวของคนไทยเที่ยวไทย โดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯ แต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงซบเซาต่อเนื่อง โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2020 เหลือเพียง 6.7 ล้านคน หรืออีกนัยหนึ่งคือคาดว่าแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเลยในช่วงที่เหลือของปีนี้

มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐมีส่วนสำคัญในการช่วงพยุงเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี จากความคืบหน้าล่าสุด คาดว่าจะมีเม็ดเงินช่วยเหลือออกมาต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ โดยเม็ดเงินล่าสุดที่ได้รับอนุมติภายใต้ พรก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อยู่ที่ประมาณ 4.75 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่เคยคาดไว้ก่อนหน้า ดังนั้น EIC จึงปรับลดคาดการณ์เม็ดเงินในส่วนดังกล่าวที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2020 เหลือเพียงประมาณ 5 แสนล้านบาท จากเดิมที่คาดไว้ประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการปรับคาดการณ์ GDP ลดลงในรอบนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงเรื่องหน้าผาทางการคลังหรือ Fiscal cliff ซึ่งเกิดจากการที่เม็ดเงินช่วยเหลือของรัฐบาลที่มีการเบิกจ่ายไปมากในช่วงไตรมาส 2 จะปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่รายได้จากภาคท่องเที่ยวและส่งออกยังคงซบเซา จึงอาจเป็นการเพิ่มภาระต่อประชาชนบางกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบหนักและอาจมีผลต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้าได้

นอกจากนี้ การหดตัวที่รุนแรงและรวดเร็วยังได้สร้างแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (scarring effects) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคและความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยแผลเป็นสำคัญประกอบไปด้วยการปิดกิจการที่เพิ่มมากขึ้น ที่จะส่งผลต่อการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงต่อเนื่อง รวมถึงจะไปซ้ำเติมอีกแผลเป็นทางเศรษฐกิจซึ่งก็คือ ความเปราะบางของตลาดแรงงาน โดยจากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 2 อัตราว่างงานของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.95% นับเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี โดยหากคำนวณเป็นชั่วโมงการทำงานรวมของคนทั้งประเทศ จะหดตัวมากถึง -11.5% สะท้อนความอ่อนแอของตลาดแรงงานที่มีในระดับสูง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องพฤติกรรมการออมจากการกลัวความเสี่ยงในอนาคต (precautionary saving) โดย EIC พบว่าระดับเงินฝากเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในทุกขนาดบัญชี สะท้อนว่าประชาชนส่วนใหญ่มีการเน้นเก็บออมในช่วงเวลาวิกฤติเนื่องจากยังกลัวความเสี่ยงในอนาคต ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวจะเป็นอีกอุปสรรคขัดขวางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เพราะประชาชนจะลดการใช้จ่ายและทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจน้อยลง

ด้านความเสี่ยงที่ต้องจับตา คือการกลับมาระบาดอีกระลอกของ COVID-19 ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศหากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้น และยังต้องจับตาประเด็นความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อภาวะการค้าและความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ นอกจากนี้เม็ดเงินจากมาตรการช่วยเหลือของรัฐที่อาจออกมาน้อยกว่าคาด ก็จะเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่คาดได้ รวมถึงยังต้องจับตาผลของการปิดกิจการและความเปราะบางของตลาดแรงงาน (scarring effects) ว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยเพียงใด และปัจจัยเสี่ยงสุดท้ายคือความเสี่ยงด้านปัญหาการเมืองไทยที่มีความร้อนแรงเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา



ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ