SHARE
OUTLOOK:CHINA ECONOMY
01 ตุลาคม 2020

เศรษฐกิจจีน

เจ็บก่อนฟื้นตัวก่อน การลงทุนภาครัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

iStock-916629338.jpg

เศรษฐกิจจีน : เจ็บก่อนฟื้นตัวก่อน การลงทุนภาครัฐช่วยหนุนเศรษฐกิจ


เศรษฐกิจจีนกลับมาขยายตัวได้หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ โดยในไตรมาส 2 ปี 2020 กลับมาขยายตัว 3.2%YOY ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจหลักแรกที่สามารถฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด โดยอุตสาหกรรมที่ได้รับการขับเคลื่อนด้วยนโยบายภาครัฐเริ่มฟื้นตัวขึ้นก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมการก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน และตามด้วยการฟื้นตัวในภาคการผลิต สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่กลับมาอยู่เหนือเกณฑ์ขยายตัวที่ 50 ตั้งแต่เดือนมีนาคม สำหรับดัชนี PMI ในหมวดคำสั่งซื้อเพื่อการส่งออก แม้ว่ายังต่ำกว่า 50 แต่การส่งออกสินค้าของจีนกลับขยายตัว เนื่องจากการส่งออกสินค้าบางหมวดที่ขยายตัวมาก เช่น ผลิตภัณฑ์ยา หน้ากากอนามัย เป็นต้น หากไม่รวมสินค้าดังกล่าวการส่งออกจีนจนถึงเดือนมิถุนายน 2020 ยังหดตัวอยู่ที่ -5.4%YOY

เศรษฐกิจจีนอาจถูกกดดันจากการบริโภคภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยการบริโภคสินค้าคงทนสามารถฟื้นตัวได้เร็ว สะท้อนจากปริมาณยอดขายรถยนต์ที่สามารถกลับเข้าสู่ช่วงก่อน COVID-19 ได้แล้ว ขณะที่การบริโภคในภาคบริการยังอ่อนแอ เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากความกังวลด้านสุขภาพ ความเชื่อมั่นจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งต้องใช้เวลาจนกว่าจะค้นพบวัคซีน ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยังถูกนำโดยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐผ่านการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งในปี 2020 โควตาพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษสูงถึง 3.75 ล้านล้านหยวน สูงกว่าปี 2019 ที่ 1.6 ล้านล้านหยวน ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2020 จะเติบโต 2.2% โดยมีการฟื้นตัวแบบ V-shape และเศรษฐกิจจีนจะฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับช่วงก่อน COVID-19 ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้

ทางการจีนใช้นโยบายการคลังแบบกว้างเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่นโยบายการเงินเน้นเจาะจงกลุ่มเสี่ยงเป็นหลัก ทางการจีนพยายามออกนโยบายการคลังขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ได้แก่ การลดภาษีและค่าธรรมเนียม การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการสนับสนุนการจ้างงานซึ่งยังเป็นปัจจัยที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี สำหรับนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีน (PBOC) ส่งสัญญาณชะลอการออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติมเนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดย EIC มองว่ามีโอกาสต่ำที่ PBOC จะลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่จนต้องออกมาตรการปิดเมืองอีกครั้ง อย่างไรก็ดี PBOC เน้นนโยบายการเงินแบบเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs และภาคเกษตร เช่น การพักชำระหนี้ และสร้างแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs เป็นต้น

การแพร่ระบาดรอบใหม่และความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีน เป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตาในช่วงที่เหลือของปี โดยความเสี่ยงของการแพร่ระบาด COVID-19 รอบใหม่ หากสถานการณ์ร้ายแรงขึ้นและต้องออกมาตรการปิดเมืองอีกครั้งย่อมส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและทำให้ฟื้นตัวล่าช้าออกไป อีกทั้งยังมีความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนทั้งด้านการค้า การลงทุนและเทคโนโลยี ที่อาจส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในระยะยาวได้




นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินหยวน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2020 แข็งค่าขึ้น 1.6%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ลดอัตราดอกเบี้ยจนทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลจีนสูงกว่าโดยเปรียบเทียบทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสู่สินทรัพย์สกุลเงินหยวน ขณะเดียวกันเงินทุนไหลออกจากนักท่องเที่ยวจีนมีจำกัดจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศสำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2020 ต้องจับตาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯและจีน ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงได้

• การส่งออกของไทยไปจีนใน 7 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 4.5%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่ขยายตัวดีได้แก่ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง(56.2%YOY) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (79.4%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (41.3%YOY) ในระยะข้างหน้าการส่งออกไปจีนมีแนวโน้มปรับดีขึ้น เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศของจีนเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว

• การลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยในครึ่งแรกของปี 2020 ขยายตัว 4.9%YOY จากกระแสสงครามการค้าและการปรับโครงสร้างการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงหลังเกิด
สถานการณ์ COVID-19 สอดคล้องกับจำนวนนักลงทุนจีนที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนมิถุนายน 2020 มากถึง 95 โครงการ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท
(คิดเป็น 23% ของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมทั้งหมด)


TH_Outlook_Q3_2020_Final_16.jpg




ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ