SHARE
OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
01 ตุลาคม 2020

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

การบริโภคภายในประเทศยังต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัว

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


iStock-511092543-(1).jpg

เศรษฐกิจญี่ปุ่น : การบริโภคภายในประเทศยังต้องใช้เวลาเพื่อฟื้นตัว


การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่ปีก่อน โดยในไตรมาส 2 ปี 2020 หดตัว -9.9%YOY หรือ -27.8%QOQ SAAR ซึ่งหดตัวมากกว่าวิกฤติการเงินโลกในไตรมาสที่ 1 ปี 2009 (-17.8%QOQ SAAR) และหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันนับตั้งแต่การหดตัวในไตรมาส 4 ปี 2019 จากผลกระทบของการขึ้นภาษีการบริโภค ขณะที่การหดตัวในไตรมาส 2 ปี 2020 เป็นผลจากการประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้จากการบริโภคภาคเอกชนหดตัวอย่างมาก โดยเฉพาะภาคบริการที่หดตัวสูงถึง -42%QOQ SAAR อย่างไรก็ดี หลังการยกเลิกภาวะฉุกเฉิน กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศก็เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น

การบริโภคภายในประเทศอาจใช้เวลาในการฟื้นตัวยาวนานกว่าภาคส่วนอื่น ๆ โดยหากพิจารณาการบริโภคแบ่งตามหมวดหมู่ พบว่าการบริโภคสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทนเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงก่อน COVID-19 แล้ว ขณะที่ภาคบริการ ซึ่งคิดเป็น 60% ของการบริโภคภาคเอกชนยังคงอ่อนแอและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 โดยอาจเป็นผลจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากความกังวลเรื่องสุขอนามัย ทำให้ EIC มองว่าการบริโภคในภาพรวมของปี 2020 จะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหลังยกเลิกภาวะฉุกเฉิน ด้านภาคการผลิตทยอยฟื้นตัวขึ้นสะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน แต่ตัวเลขเดือนกรกฎาคม 2020 ยังคงอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ขยายตัวที่ 50 โดยหากอุปสงค์ภายในประเทศไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืนก็อาจเป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของภาคการผลิตในระยะต่อไป ทั้งนี้ EIC มองว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 จะหดตัวที่ -5.6% และจะกลับมาขยายตัวที่ราว 3.0% ในปี 2021

นโยบายการคลังจะมีบทบาทมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี ขณะที่นโยบายการเงินเริ่มชะลอการผ่อนคลายลง รัฐบาลญี่ปุ่นได้ตั้งวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่มูลค่ารวมสูงถึง 42% ของ GDP เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับมาและสนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น มาตรการ Go to travel กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายภาครัฐขนาดใหญ่ในปีนี้จะกลายเป็นความท้าทายในระยะข้างหน้าเมื่อมาตรการหมดอายุลง ซึ่งอาจเพิ่มแรงกดดันให้รัฐบาลเพิ่มการใช้จ่ายอีกครั้ง ส่งผลให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นจากปัจจุบันที่ 237% ของ GDP อาจสูงขึ้นอย่างมาก สำหรับนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปี ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและคงมาตรการผ่อนคลายเดิมไว้ โดย BOJ จะติดตามผลของการผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงครึ่งแรกของปีอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบิดเบือนตลาดการเงิน โดยเฉพาะมาตรการเข้าซื้อหลักทรัพย์ขนาดใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา

ความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงที่เหลือของปี ได้แก่ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และความไม่แน่นอนทางการเมือง แม้ว่าจนถึงเดือนสิงหาคม รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศอีกครั้ง แต่หากสถานการณ์การแพร่ระบาดเลวร้ายขึ้นอาจทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอีกครั้ง และเพิ่มความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นต้องยกเลิกมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจในปี 2021 นอกจากนี้ การลาออกของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ทำให้พรรค LDP ต้องเลือกนายกฯ คนใหม่ซึ่งอาจส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี



นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินเยน ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2020 แข็งค่า 2.9%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สำหรับในช่วงที่เหลือของปี เงินเยนมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ที่ 106 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2020 แต่มีความเสี่ยงไปทางแข็งค่ามากขึ้น หากเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ในกลุ่มประเทศ G10 เนื่องจากเงินเยนถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงวิกฤติ

• การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นใน 7 เดือนแรกของปี 2020 หดตัว -10.5%YOY โดยสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่หดตัวคิดเป็น 76.8% ของมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นทั้งหมด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ(-38.4%YOY) และโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-14.2%YOY) ขณะที่สินค้าส่งออกที่เหลือยังขยายตัวได้ดี เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (5.0%YOY) และเคมีภัณฑ์ (28.5%YOY) เป็นต้น

• การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังไทยในครึ่งแรกของปี 2020 หดตัว -15.2%YOY เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ COVID-19 ในช่วงครึ่งแรกของปี อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปี บริษัทญี่ปุ่นได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นให้กระจายฐานการผลิตนอกเหนือจากจีน ซึ่งอาจทำให้ไทยได้รับอานิสงค์จากเม็ดเงินลงทุนจากญี่ปุ่นมากขึ้นได้

TH_Outlook_Q3_2020_Final_15.jpg






ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ