SHARE
SCB EIC ARTICLE
23 มีนาคม 2011

Climate change … ใกล้ตัวและน่ากลัวกว่าที่เราคิด!

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ไทยติดอันดับประเทศเสี่ยงสูงสุด (extreme risk) จาก climate change จากข้อมูล “Climate Change Vulnerability Index” (CCVI) ซึ่งจัดทำโดย Maplecroft บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงชื่อดังของอังกฤษพบว่า ไทยเป็น 1 ในทั้งหมด 16 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของ climate change ในช่วงอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเป็นผลจาก ประการแรก เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมสูงซึ่งเป็นภาคที่ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ประการที่สอง ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “เฉียดจน” ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบของ climate change ค่อนข้างต่ำ และประการสุดท้าย ภาครัฐมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติต่ำ เห็นได้จากการขาดนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันและรับมือกับผลกระทบจาก climate change อย่างเป็นระบบ

ผู้เขียน: วิชชุดา ชุ่มมี

 477529807-s.jpg

หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ไทยติดอันดับประเทศเสี่ยงสูงสุด (extreme risk) จาก climate change จากข้อมูล "Climate Change Vulnerability Index" (CCVI) ซึ่งจัดทำโดย Maplecroft บริษัทที่ปรึกษาด้านความเสี่ยงชื่อดังของอังกฤษพบว่า ไทยเป็น 1 ในทั้งหมด 16 ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดจากผลกระทบของ climate change ในช่วงอีก 30 ปีข้างหน้า โดยเป็นผลจาก ประการแรก เศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพิงภาคเกษตรกรรมสูงซึ่งเป็นภาคที่ขึ้นอยู่กับความไม่แน่นอนของดินฟ้าอากาศเป็นหลัก ประการที่สอง ยังมีคนไทยอีกจำนวนมากที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "เฉียดจน" ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบของ climate change ค่อนข้างต่ำ และประการสุดท้าย ภาครัฐมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติต่ำ เห็นได้จากการขาดนโยบายเชิงรุกเพื่อป้องกันและรับมือกับผลกระทบจาก climate change อย่างเป็นระบบ

ไม่เพียงมีความเสี่ยงสูงสุด แต่ไทยยังเป็นตัวการสำคัญในการก่อปัญหาด้วย  จากข้อมูลพบว่าไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเป็นอันดับที่ 25 จาก 186 ประเทศทั่วโลก ขณะที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่อคนต่อปีของไทยยังมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี (CAGR) สูงถึง 5% เทียบกับอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นเพียง 0.4% ต่อปีเท่านั้น และที่ยิ่งน่าตกใจมากไปกว่านั้นก็คือกรุงเทพฯ มีการปล่อยก๊าซ CO2 ในปริมาณที่เกือบเท่ากับมหานครลอนดอน ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าถึงเกือบ 10 เท่าอีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นสถิติที่ค่อนข้างน่ากลัวเลยทีเดียว

คำถามต่อมาคือ แล้ว climate change มีผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจ ...โดยรวมแล้ว เราพบว่า climate change ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่าน 3 ช่องทางหลัก ได้แก่ (1) climate change มีผลให้ความต้องการพลังงานของโลกเติบโตต่อเนื่องราว 1.2% ต่อปีในช่วงอีก 20 กว่าปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้นถึงกว่า 3 เท่าตัวจากปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่าไทยย่อมต้องได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่แพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (2) ความแปรปรวนของสภาพอากาศและภัยธรรมชาติต่างๆ ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรในไทยลดลงและทำให้ราคาสินค้าเกษตรแพงขึ้น จากการศึกษาพบว่า สถานการณ์ภัยแล้งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้ผลผลิตพืชผลหลักของไทยลดลงราว 2% ต่อปี ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมาก็ได้สร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เกษตรกรรมทั่วประเทศถึงกว่า 10 ล้านไร่ และ (3) ผลกระทบที่มีต่อปริมาณและคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยว สำหรับผลกระทบในไทยที่เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนในขณะนี้คือ การกัดเซาะชายฝั่งขั้นรุนแรงทั้งในแถบทะเลอันดามันและอ่าวไทย รวมทั้งปัญหาปะการังฟอกขาวและความสมดุลของระบบนิเวศน์ทางทะเล ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงกว่า 5 ล้านคนต่อปี หรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดเลยทีเดียว และหากแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ถูกกระทบ รายได้จากภาคท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักของประเทศย่อมได้รับผลกระทบไปด้วย

ภาคธุรกิจเอง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบจาก climate change เป็นวงกว้างเช่นเดียวกัน แน่นอนว่า climate change ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่ใช้น้ำมันเป็นปัจจัยการผลิตสูง เช่น ธุรกิจขนส่งและคมนาคม รวมทั้งธุรกิจที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตสูง และธุรกิจที่มีปัจจัยการผลิตเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยว เช่น ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร นอกจากนี้ climate change ยังทำให้เกิดข้อตกลงและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมากขึ้น และนำไปสู่การกีดกันทางการค้าในรูปแบบใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นสำหรับสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่ามาตรฐาน หรือแม้แต่การออกกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่มีการรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นแรงกดดันทางการค้าและความท้าทายให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัว

แต่หากมองดีๆ จะพบว่า ยังมีช่องทางและโอกาสทางธุรกิจอีกมากมายที่ซ่อนอยู่ในความท้าทายครั้งนี้  ภาคธุรกิจไทยจึงไม่ควรมองกฎระเบียบและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้เป็นอุปสรรค แต่ควรมองเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาธุรกิจเพื่อปรับตัวให้เข้ากับกระแสเศรษฐกิจสีเขียว (green economy) และรองรับการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเทคโนโลยีและกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับกฎระเบียบต่างๆ และตอบสนองความต้องการของกลุ่ม green consumers ที่นับวันจะยิ่งมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ

จริงอยู่ที่ climate change เป็นเรื่องที่เราทุกคนต้องให้ความสำคัญ แต่ก็ไม่ควรทำแบบสุดโต่งจนกลายเป็นว่าทุกกิจกรรมหรือโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะกลายเป็นสิ่งต้องห้าม แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือ การชั่งข้อดีข้อเสียต่างๆ อย่างรอบด้าน และพยายามลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ ไปกับการเร่งสร้างฐานองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม (environmental literacy) อย่างเป็นระบบและส่งเสริมกระบวน
การเรียนรู้ของชุมชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อให้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

ดังนั้น น่าจะถึงเวลาแล้ว ที่เราต้องหันมาใส่ใจดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและโลกใบนี้กันอย่างจริงจังมากขึ้น ก่อนที่ทุกอย่างจะสายจนเกินแก้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ