SHARE

Contactless Payment: การชำระเงินแบบไร้สัมผัสที่เติบโตในยุค COVID-19

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการให้บริการทางการเงินได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG


GettyImages-1157500210.jpg



ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการให้บริการทางการเงินได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลงและเกิดความสะดวกรวดเร็วต่อผู้บริโภคในการใช้บริการมากขึ้นจนนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในวงกว้าง ระบบการชำระเงินแบบไร้สัมผัส หรือ Contactless Payment ก็เป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งที่มีการเติบโตในหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่อง และกลายมาเป็นหนึ่งในทางเลือกของวิธีการชำระเงินที่มีมากมายรวมถึงวิธีดั้งเดิมอย่างการใช้เงินสด

โดยเฉพาะช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่การรักษาระยะห่างและลดการสัมผัสระหว่างบุคคลเป็นมาตรการสำคัญในการควบคุมการแพร่ระบาด ทำให้ Contactless Payment ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินที่มีการสัมผัสน้อยกว่าเงินสดที่มีการเปลี่ยนมือหลายทอด ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวจะยังมีความท้าทายในหลายด้านก็ตาม

Contactless Payment คืออะไร?
Contactless Payment คือ ระบบการชำระเงินที่ไร้การสัมผัส เป็นการทำธุรกรรมผ่านอุปกรณ์สื่อสารที่รองรับเทคโนโลยีการส่งผ่านคลื่นวิทยุ Radio Frequency Identification (RFID) ที่ส่งสัญญาณในระยะใกล้ไม่เกิน 2.5-5.0 เซนติเมตร หรือ Near Field Communication (NFC) โดยผู้ใช้ต้องนำอุปกรณ์สื่อสารเข้าใกล้เครื่องรับชำระเงินที่รองรับระบบดังกล่าวโดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับเครื่องรับชำระเงิน ทั้งนี้ตัวอย่างของ Contactless Payment มีหลายรูปแบบ เช่น บัตรสมาร์ตการ์ดแบบไร้สัมผัส (Contactless Card) โทรศัพท์สมาร์ตโฟน (Contactless Mobile) นาฬิกาอัจฉริยะ และสายรัดข้อมือ (Wearables) เป็นต้น

นอกจากนี้ ในบางนิยาม Contactless Payment อาจมีความหมายที่กว้างครอบคลุมไปถึงการชำระเงินไร้สัมผัสในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้อุปกรณ์สื่อสารโดยตรง เช่น การโอนหรือการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือที่ผู้ใช้สามารถนำไปสแกน หรือการโอนผ่านพร้อมเพย์ที่มีการกดเลข proxy ของบัญชี เป็นต้น

ประโยชน์และความท้าทายของ Contactless Payment
ประโยชน์สำคัญของ Contactless Payment คือ การลดการถือเงินสด ซึ่งนำไปสู่การลดต้นทุนทั้งฝั่งผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ทั้งในด้านต้นทุนการจัดเก็บและขนย้าย การลดโอกาสการสูญหายและเสื่อมสภาพของเงินสด รวมถึงการลดความเสี่ยงจากการโจรกรรม ทั้งนี้ในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 Contactless Payment ยังมีความสำคัญต่อการช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้อีกด้วย เนื่องจากเป็นการชำระเงินที่ลดการสัมผัสเงินสดของผู้บริโภค นอกจากนี้เทคโนโลยีดังกล่าวยังเป็นการเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินและการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการช่วยป้องกันการฟอกเงิน เพราะ Contactless Payment จะสามารถบอกแหล่งที่มาของเงินได้อย่างชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้

อย่างไรก็ตาม Contactless Payment ยังมีความท้าทาย 2 ประการที่สำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต ได้แก่ ประการแรก ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลที่ยังเป็นประเด็นที่ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยมีความกังวล เนื่องจากในปัจจุบันอุปกรณ์สื่อสารอย่างสมาร์ตโฟนเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลสำคัญหลายประเภทของผู้บริโภค การใช้อุปกรณ์ที่มีข้อมูลส่วนตัวจำนวนมากในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นนั้นอาจนำไปสู่ความเสี่ยงของการรั่วไหลของข้อมูลได้ ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจึงควรเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในประเด็นนี้เพื่อให้การชำระเงินรูปแบบนี้เติบโตต่อไปได้ และประการที่สอง ผู้บริโภคและผู้ประกอบการจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นในการทำ Contactless Payment เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่ยังไม่มีอุปกรณ์ที่รองรับ หรือร้านค้าที่ยังไม่มีเครื่องรองรับซึ่งส่วนมากเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ เป็นต้น

ตัวอย่างของประเทศที่มีการเปลี่ยนมาใช้ Contactless Payment
หลายประเทศทั่วโลกมีการนำ Contactless Payment มาใช้มากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และการระบาดของ COVID-19 ยิ่งทำให้วิธีการชำระเงินรูปแบบดังกล่าวเติบโตมากขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด โดยจากรายงานของ Mastercard ระบุว่า หลังจากมีการระบาด COVID-19 ทั่วโลกมีการทำธุรกรรมผ่าน Contactless Payment ซึ่งรวมถึงการชำระเงินแบบแตะเพื่อจ่ายและการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือเพิ่มขึ้นถึง 40.0% ในไตรมาสแรกปี 2020 สอดคล้องกับยอดจำนวนผู้ใช้ของ Paypal ที่เพิ่มขึ้นถึง 7.4 ล้านคนในเดือนเมษายน ปี 2020 โดย Paypal พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายผ่าน Paypal ในหลายสินค้าและบริการที่มักจะใช้เงินสดเป็นหลัก สำหรับกลุ่มประเทศตะวันตก รายงานของ Paysafe ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้านการชำระเงินในสหรัฐฯ ระบุว่า 50.0% ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ได้มีการชำระเงินแบบไร้สัมผัสอย่างน้อยสี่ครั้ง ในเดือนพฤษภาคม ปี 2020 และ 69.0% ยอมรับว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัสนั้นสะดวกกว่าเงินสด นอกจากนี้ Stephen Jones ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมการเงินและการธนาคารของสหราชอาณาจักร (UK Finance) ยังเปิดเผยว่า ผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรจำนวนมากถึง 80.0% ได้มีการใช้จ่ายผ่าน Contactless Payment ในปี 2019 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 69.0% ในปี 2018 และการระบาดของ COVID-19 ก็มีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้การใช้ Contactless Payment มีเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทางฝั่งเอเชีย ความนิยมในการใช้ Contactless Payment ก็มีเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยจากข้อมูลของธนาคารกลางเกาหลีใต้ พบว่า คนเกาหลีใต้มีการใช้ Contactless Payment เพิ่มขึ้น 12.7% ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ธนาคารประชาชนจีน (PBOC) ยังเปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ปี 2019  จำนวนการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในจีนเพิ่มขึ้น 6.3%YOY โดย 49.4% ของจำนวนธุรกรรมทั้งหมดเป็นการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือซึ่งขยายตัวสูงถึง 73.6%YOY ในช่วงเวลาเดียวกัน

Contactless payment ในไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
การใช้ Contactless Payment ในไทยมีการใช้โดยผู้บริโภคที่เติบโตสูงต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปี โดยจากรายงานธุรกรรมภาพรวมระบบการชำระเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ภาพรวมของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภค หรือ consumer e-payment เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 34.2% ต่อปีในช่วงปี 2014-2019 โดยการใช้จ่ายโดยโทรศัพท์มือถือ หรือ mobile payment เป็นส่วนที่เติบโตมากที่สุดที่เฉลี่ยถึงปีละ 79.0% ในช่วงเวลาเดียวกัน และยังคงเติบโตสูงในไตรมาส 1 ปี 2020 ที่ 69.7%YOY ส่งผลให้สัดส่วนของการชำระเงินลักษณะนี้จากเคยอยู่ที่เพียง 15.4% ในปี 2014 ซึ่งน้อยกว่า consumer e-payment ประเภทการใช้บัตร และ ATM ในปีดังกล่าว เพิ่มขึ้นมามีสัดส่วนอยู่ที่ 71.5% ในไตรมาส 1 ปี 2020 ถือเป็นวิธีการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน ขณะที่การชำระเงินผ่าน ATM ซึ่งแม้จะถูกจัดเป็น e-payment ประเภทหนึ่ง แต่ก็เป็นรูปแบบที่ยังมีการสัมผัสอยู่ ได้รับความนิยมลดลงมาต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของการชำระเงินผ่าน ATM ลดลงจาก 21.3% ในปี 2014 ลดลงมาเหลือเพียง 1.2% ในไตรมาส 1 ปี 2020

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากความนิยมในการใช้สมาร์ตโฟนที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภค การสนับสนุนจากภาครัฐในการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น พร้อมเพย์ และ QR code และการลดค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมโดยสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ระบุว่าพร้อมเพย์เป็นธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินที่ได้รับความนิยมสูงสุดในช่วงการระบาด COVID-19 โดยมีสถิติการใช้งานสูงสุด 16.3  ล้านรายการต่อวัน ปัจจุบันยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์ทั้งหมดอยู่ที่ 52.7 ล้านหมายเลขด้วยกัน

ตารางที่ 1 อัตราการเติบโตเฉลี่ยและสัดส่วนของ consumer e-payment แต่ละประเภทของไทยในช่วงปี 2014-19 และ ไตรมาส 1 ปี 2020


Screen-Shot-2563-08-13-at-15.00.23.png

หมายเหตุ : 1 การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้บริโภคแบบอื่น หมายถึง การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคารผ่านสาขา และ เงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money)

ที่มา :  การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

ในฝั่งของภาคธุรกิจไทยก็มีการปรับตัวเพื่อรองรับ Contactless Payment ในวงกว้างเช่นกัน จากรายงาน Bi-Monthly Payment Insight ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ระบุว่า การมีพร้อมเพย์ทำให้จุดรับ QR code เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากประมาณ 3 ล้านจุดในปี 2018 มาเป็น 6 ล้านจุดในปี 2019 โดยเป็นการขยายไปยังต่างจังหวัดและครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้นโดยเฉพาะร้านค้าขนาดเล็ก นอกเหนือไปจากเดิมที่จุดรับส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลัก และมีกระจุกตัวเพียงในบางธุรกิจ เช่น ร้านค้าสะดวกซื้อ และสายการบิน เป็นต้น ขณะที่บริการในภาครัฐก็มีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน เช่น การขนส่งสาธารณะที่เริ่มใช้ Contactless Payment โดยองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เริ่มขายบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์และนำเครื่องรับชำระค่าโดยสารอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บนรถโดยสารประจำทางกว่า 3,000 คันกระจายในหลายเส้นทางเดินรถ ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2019

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในต่างประเทศ การระบาดของ COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภคในประเทศไทยหันมาให้ความสนใจ Contactless Payment เพิ่มมากขึ้นจากความกังวลในการส่งผ่านเชื้อไวรัสหากใช้เงินสด โดยภาคธุรกิจเริ่มมีการปรับตัวและยกระดับการชำระเงินผ่าน Contactless Payment มากกว่าเดิม ส่งผลให้ผู้บริโภคก็สามารถชำระเงินแบบไร้สัมผัสได้สะดวกยิ่งขึ้น

แนวโน้มในระยะต่อไปของ Contactless Payment ในไทย
Contactless Payment ยังเป็นรูปแบบการชำระเงินที่มีโอกาสเติบโตมากได้ในอนาคต จากรายงาน The Fourth Payment Revolution: Moving from Transaction to Action ของ VISA ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 5,102 คนในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และเมียนมา ณ เดือน สิงหาคม 2019 พบว่า 72.0% ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยเชื่อว่าไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมไร้เงินสดภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 69% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด โดยประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ได้แก่ ความสะดวกสบาย การลดความเสี่ยงจากการโจรกรรม และการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลดีต่อผู้บริโภคทั้งสิ้น และจากรายงานเดียวกันนี้ VISA พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทยมีสัดส่วนการชำระเงินผ่าน Contactless Card และ Contactless Mobile ที่ 50% และ 45% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด

นอกจากนี้ คนไทยเองยังมีทัศนคติในการเปิดรับเทคโนโลยี Contactless Payment อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะการชำระเงินผ่าน Contactless Mobile โดยจากรายงาน Intelligent Payment Experiences Driven by a Technology Dominant Lifestyle ของ VISA ที่ทำการสำรวจผู้บริโภคจำนวน 4,000 คนในประเทศไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ณ เดือน สิงหาคม 2018 พบว่า 88% ของผู้บริโภคชาวไทยมีการรับทราบเกี่ยวกับการใช้ Contactless Mobile ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 80% ของผู้ที่ถูกสำรวจทั้งหมด และสูงเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ (95%) เพียงประเทศเดียว

ทั้งนี้การระบาดของ COVID-19 ถือเป็นตัวเร่งให้การใช้เทคโนโลยีของผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้นในหลายด้าน รวมไปถึง Contactless Payment ดังนั้น ภาครัฐและภาคธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมจึงควรต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการชำระเงินแบบ Contactless มากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค ไปพร้อม ๆ กับการดูแลและพัฒนาความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของผู้บริโภคควบคู่ไปด้วย เพื่อความน่าเชื่อถือและความมั่นใจของผู้บริโภคที่จะชำระเงินแบบ Contactless Payment มากขึ้นในอนาคต

                                 

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 13 ส.ค. 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ