SHARE

Contactless Journey แนวคิดสำคัญในการยกระดับการให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภา

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก

LINE_sharebutton[1]-(1)-(1).JPG


iStock-936846228.jpg


เมื่อวันที่ 19  มิถุนายนที่ผ่านมา ภาครัฐได้มีการลงนามสัญญาร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกมูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาทกับบริษัทอู่ตะเภา อินเตอร์เนชันแนล เอวิเอชัน จำกัด โดยคาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการระยะที่ 1 ในช่วงปี 2024

ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้มีการพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่การเป็นต้นแบบโครงการอาคารผู้โดยสารอัจฉริยะ (Smart Airport Terminal) ของไทย โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ เช่น ในช่วงปี 2018 ท่าอากาศยานอู่ตะเภาได้เริ่มเปิดใช้แอปพลิเคชัน Thailand Smart Airport ให้บริการข้อมูลการบินและสนามบินผ่านสมาร์ตโฟน รวมถึงการใช้ระบบวิเคราะห์และประมวลผลภาพวิดีโออัจฉริยะตรวจจับวัตถุต้องสงสัยในสนามบิน และเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา การท่าอากาศยานอู่ตะเภาและบริษัท เอไอเอส ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับการให้บริการ โดยเริ่มทดลองใช้หุ่นยนต์ AI ผ่านเทคโนโลยี 5G ในการบริการข้อมูลและช่วยนำผู้โดยสารไปยังจุดให้บริการต่าง ๆ นอกจากนี้ อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ที่อยู่ในสัญญาร่วมทุนมีแผนขยายขีดความสามารถการให้บริการอีกขั้น โดยออกแบบอาคารให้สามารถรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในระบบให้บริการท่าอากาศยาน เช่น ระบบการ check-in อัตโนมัติ ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ  รวมถึงมีแผนในการนำเทคโนโลยี RFID มาใช้ในการจัดการสัมภาระ และระบบคลาวด์ในการบริหารจัดการที่จอดรถในอนาคตอีกด้วย

EIC มองว่าแนวคิดการเดินทางแบบไร้สัมผัส (contactless journey) ถือเป็นอีกหนึ่งแนวคิดสำคัญที่ควรพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับการพัฒนาสู่ smart airport terminal เพื่อรองรับการกลับมาเปิดให้บริการของท่าอากาศยานอู่ตะเภาอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง อีกทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เดินทางได้อีกด้วย จากวิกฤต COVID-19 ส่งผลให้การให้บริการในท่าอากาศยานทั่วโลกเริ่มมีการปรับเปลี่ยนระบบการให้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางทั้งในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดความแออัด, การดูแลรักษาความสะอาด และการลดการสัมผัสระหว่างบุคคลและอุปกรณ์ในท่าอากาศยาน นอกจากมาตรการดังกล่าวแล้ว สมาคมท่าอากาศยานระหว่างประเทศ (Airports Council International: ACI) ประเมินว่าวิกฤต COVID-19 จะผลักดันให้ท่าอากาศยานทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิด contactless journey และเทคโนโลยีไร้สัมผัสจะเข้ามามีบทบาทต่อการให้บริการในท่าอากาศยานมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น ท่าอากาศยาน Changi ของสิงคโปร์ได้นำระบบเซนเซอร์อินฟราเรดมาใช้เพื่อให้ผู้เดินทางสามารถเช็คอินหรือโหลดสัมภาระได้แบบไม่มีการสัมผัสอุปกรณ์ในท่าอากาศยาน เช่นเดียวกับท่าอากาศยาน Oslo ของนอร์เวย์ที่เริ่มเปิดให้บริการ check-in และการโหลดสัมภาระผ่านระบบ self-service kiosk โดยการสแกน QR code จากสมาร์ตโฟน รวมถึงการเริ่มใช้เทคโนโลยี biometrics เพื่อยืนยันตัวตนแทนการสแกนลายนิ้วมือแบบเดิมตั้งแต่ขั้นตอนการ check-in, การตรวจสอบเอกสารเข้าเมือง จนถึงผู้โดยสารขึ้นเครื่องบิน

การยกระดับการให้บริการท่าอากาศยานอู่ตะเภาและท่าอากาศยานอื่น ๆ ในไทยจึงไม่ควรมองข้ามแนวคิด contactless journey ซึ่งนอกจากจะสะท้อนถึงการศักยภาพของประเทศแล้ว ยังถือเป็นการยกระดับการให้บริการในท่าอากาศยานให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้เดินทางที่เปลี่ยนแปลงไปหลังวิกฤต COVID-19 อีกทั้งเป็นการแสดงถึงความพร้อมของไทยในการต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะกลับมาท่องเที่ยวไทยในอนาคตอีกด้วย

                                               

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 10 สิงหาคม 2020



ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ