SHARE

Lockdown generation: COVID-19 ซ้ำเติมแรงงานคนรุ่นใหม่มากกว่าผู้ใหญ่รุ่นก่อน

มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นวงกว้าง แต่คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ

LINE_sharebutton<sup>1</sup>-(1)-(1).JPG


iStock-1215893878.jpg


มาตรการปิดเมืองของหลายประเทศส่งผลกระทบต่อแรงงานเป็นวงกว้าง แต่คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มงวดตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 ซึ่งรวมถึงมาตรการปิดเมือง (lockdown) ทำให้กิจกรรมหลายประเภทที่มีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโรคต้องปิดตัวลงชั่วคราว โดยมาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจนทำให้เศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2020

สำหรับผลกระทบต่อตลาดแรงงาน พบว่าแรงงานบางส่วนต้องถูกเลิกจ้างหรือถูกลดค่าแรงในช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 ซึ่งวิกฤติครั้งนี้ส่งต่อตลาดแรงงานเป็นวงกว้างและรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินในปี2008 โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ (อายุ 15-24 ปี) หรือ Generation Z ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ไม่นานถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดที่จะถูกเลิกจ้างและหางานใหม่ได้ยากในช่วงวิกฤติ ซึ่งผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในช่วงเวลาวิกฤติเท่านั้นแต่ยังส่งผลข้างเคียงต่อเนื่องไปถึงระยะยาวผ่านรายได้ที่ลดลงกว่าคนรุ่นก่อน โดยจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งที่ผ่าน ๆ มาแสดงให้เห็นว่าผู้ที่จบการศึกษาในช่วงเวลาวิกฤติอาจต้องประสบกับรายได้ที่ลดลงยาวนานสูงถึง 10 ปี1 ทำให้เกิดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรุ่นใหม่กับผู้ใหญ่รุ่นก่อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับความท้าทายของตลาดแรงงานในระยะยาว เช่น การเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งจะเข้ามาทดแทนตำแหน่งงานที่มีอยู่เดิม ยิ่งซ้ำเติมแรงงานคนรุ่นใหม่ในอนาคตอีก

ทำไมคนรุ่นใหม่ถึงได้รับผลกระทบในตลาดแรงงานมากกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ ?
วิกฤติ COVID-19 สร้างอุปสรรคให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานยากกว่าเดิม ในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 (ปี 2019) อัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ทั่วโลกสูงกว่ากลุ่มอายุอื่น ๆ อยู่แล้ว โดยอัตราการว่างงานของคนกลุ่มอายุ 15-24 ปีอยู่ที่ 13.6% เทียบกับอัตราการว่างงานของคนอายุ 25 ปีขึ้นไปอยู่ที่เพียง 4% จนกระทั่งเกิดวิกฤติ COVID-19 ได้เข้ามาซ้ำเติมผลกระทบของตลาดแรงงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั่วโลก สะท้อนจากผลสำรวจแรงงานคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน (อายุ 18-29 ปี) ทั่วโลกของข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่สำรวจในเดือนพฤษภาคมพบว่า 17.1% ของผู้ตอบแบบสำรวจถูกให้หยุดทำงานเนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของ COVID-19 (รูปที่ 1 ซ้ายมือ) โดยวิกฤติ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานคนรุ่นใหม่ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1) สร้างอุปสรรคในการเรียนรู้และการฝึกงาน มาตรการปิดเมืองทั่วโลกทำให้ต้องปิดสถาบันการศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั่วคราว รวมถึงยกเลิกการเรียนรู้จากการทำงาน เช่น การฝึกงาน เป็นต้น แม้บางส่วนสามารถปรับตัวโดยเปลี่ยนไปใช้ระบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้ แต่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ครอบคลุม ขณะเดียวกันครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนามีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในการจัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ และแม้ว่าจะมีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและอุปกรณ์การเรียนพร้อม แต่ผู้เรียนและผู้สอนบางส่วนยังขาดทักษะด้านดิจิทัล ปัจจัยเหล่านี้สร้างอุปสรรคต่อการเรียนรู้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้พบว่าในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ (low income) มีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถปรับตัวมาใช้รูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์ได้สำเร็จ และเกินครึ่งไม่ได้มีแผนสำรองสำหรับการเรียนรู้ในช่วงปิดสถาบันการศึกษาทำให้ช่วงเวลาวิกฤติ COVID-19 ครั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้แบบออนไลน์หรือระบบทางไกลอาจขาดทักษะและความรู้สำหรับตำแหน่งงานที่ดีในอนาคตได้

2) ภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซานำไปสู่ความเสี่ยงถูกปลดออกจากงาน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ บริษัทและผู้ประกอบหลายรายโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) จำเป็นต้องลดเงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน หรืออาจถึงขั้นลดจำนวนพนักงานลง เพื่อรักษาสภาพคล่องและประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด โดยตำแหน่งงานระดับล่างซึ่งเป็นงานสำหรับคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดแรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงที่สุด ประกอบกับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงจากวิกฤติ COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิต อสังหาริมทรัพย์ และที่พักแรมและบริการด้านอาหาร มีจำนวนแรงงานที่เป็นคนรุ่นใหม่กระจุกตัวสูงถึง 41.7% ของแรงงานคนรุ่นใหม่ทั้งหมด (รูปที่ 1 ขวามือ) ซึ่งสูงกว่ากลุ่มแรงงานกลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไปที่มีเพียง 35% ของทั้งหมด ทำให้คนรุ่นใหม่มีความเสี่ยงถูกปลดออกจากงานมากกว่าผู้ใหญ่รุ่นก่อนหน้า สะท้อนจากอัตราการว่างงานในปี 2020 ของหลายประเทศทั่วโลกในกลุ่มคนรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ เช่น สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเมษายน 2020 ในกลุ่มผู้ใหญ่เพิ่มขึ้น 9 ppt ขณะที่กลุ่มคนอายุ 15-24 ปีเพิ่มสูงถึง 17.2 ppt

3) ตำแหน่งงานที่ลดลงเพิ่มอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดแรงงานหรือย้ายงานของคนรุ่นใหม่ หลังวิกฤติ COVID-19 คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาในปี 2020 และกำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นเนื่องจากปริมาณงานโดยรวมลดลงจากช่วงวิกฤติ โดยคนรุ่นใหม่เสียเปรียบแรงงานกลุ่มอายุอื่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานหรือมีประสบการณ์การทำงานต่ำ งานที่มีโอกาสทำได้จึงเป็นตำแหน่งระดับล่าง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะต้องแข่งขันกับผู้หางานทำที่มีประสบการณ์สูงกว่าที่ไม่สามารถหางานในระดับเดิมได้และยอมลดตำแหน่งมาทำในระดับที่ต่ำกว่า กดดันให้แรงงานกลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากมากขึ้น จนเกิดผลกระทบระยะยาว (scarring effect) กับแรงงานคนรุ่นใหม่ที่อาจได้งานที่มีรายได้น้อยและไม่สอดคล้องกับพื้นฐานการศึกษาของพวกเขา

COVID-19 ไม่เพียงแต่จะทำให้คุณภาพและปริมาณตำแหน่งงานลดลง แต่ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ที่มีอยู่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นทั่วโลก เนื่องจากปกติแรงงานคนรุ่นใหม่อายุ 15-24 ปีมีรายได้ต่ำกว่าแรงงานผู้ใหญ่ที่อายุ 25 ปีขึ้นไป และคนรุ่นใหม่ยังมีการออมที่ต่ำกว่าจึงมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงรายได้สูง โดย ILO วิเคราะห์รายได้แรงงานของ 64 ประเทศ พบว่าแรงงานผู้ใหญ่มีรายได้เฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มแรงงานคนรุ่นใหม่ถึง 71% และวิกฤติ COVID-19 อาจทำให้ช่องว่างความแตกต่างของรายได้ระหว่าง generation ห่างออกไปอีก
 
รูปที่ 1 : แรงงานคนรุ่นใหม่อยู่ในภาคธุรกิจที่รับผลกระทบสูงจากวิกฤติ COVID-19 คิดเป็น 41.7% ของจำนวนแรงงานคนรุ่นใหม่ทั้งหมด

Picture1.png

 
ที่มา : International Labour Organization

ความท้าทายในระยะยาวต่อการจ้างงานคนรุ่นใหม่ ?
คนรุ่นใหม่ยังเผชิญกับโอกาสและความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีขั้นสูงในระยะเวลาอันใกล้นอกจากผลกระทบระยะสั้นจากวิกฤติเศรษฐกิจแล้ว ในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น Automation AI Robotics จะเข้ามามีบทบาทต่อตลาดแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสและความท้าทายในตลาดแรงงานของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเทคโนโลยีขั้นสูงจะมาสร้างงานและอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่อาจไม่เคยมีมาก่อน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนในการผลิตและบริการ ขณะเดียวกันเทคโนโลยีขั้นสูงก็มาพร้อมกับความท้าทายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการปรับตัวเข้ายุคใหม่ แม้ว่าคนรุ่นใหม่จะสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้ไวกว่าผู้ใหญ่ แต่คนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ตำแหน่งงานจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงมากที่สุดจากเหตุผล2 ประการ ดังนี้

1) ตำแหน่งระดับล่างมีโอกาสถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีก่อน เนื่องจากตำแหน่งงานระดับล่างส่วนใหญ่จะเป็นงานลักษณะที่ต้องทำซ้ำ ๆ (routine) มากกว่าตำแหน่งงานในระดับที่สูงขึ้นที่เนื้อหาของงานจะเปลี่ยนเป็นลักษณะของการแก้ไขปัญหา (problem-solving) หรือความคิดสร้างสรรค์ โดยเทคโนโลยีสามารถทดแทนงานที่ต้องทำซ้ำ ๆ ได้ง่ายกว่างานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ขณะที่คนรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าตลาดแรงงานจำเป็นต้องเริ่มต้นงานจากงานตำแหน่งระดับล่างก่อน ทำให้งานของคนรุ่นใหม่มีโอกาสลดลงเนื่องจากเทคโนโลยีมากกว่างานในระดับที่สูงขึ้นของกลุ่มอายุที่สูงกว่า โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ทักษะต่ำ ทั้งในภาคการผลิต (เช่น พนักงานโรงงาน) และภาคบริการ (เช่น พนักงานเก็บเงิน พนักงานเสิร์ฟ)

2) ตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น ตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีทักษะด้านเทคโนโลยีในระดับสูง และยังพบว่าหากมีการศึกษาที่สูงขึ้น จะเพิ่มโอกาสได้งานที่เทคโนโลยีทดแทนได้ยากสูงขึ้น

คนรุ่นใหม่ซึ่งกำลังจะกลายกำลังสำคัญในอนาคตอาจกำลังเป็นผู้โชคร้ายในวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องปกป้องกลุ่มคนเหล่านี้ ในการบรรเทาผลกระทบจากการจ้างงานและเตรียมความพร้อมสำหรับความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต โดยระยะสั้น ผู้กำหนดนโยบายจะต้องสนับสนุนภาคธุรกิจให้รักษาการจ้างงาน ขณะเดียวกันก็ขยายสิทธิประโยชน์ในกรณีว่างงานให้ครอบคลุมถึงคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในระบบและนอกระบบ สำหรับระยะยาวผู้กำหนดนโยบายจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยแก่การปรับปรุงทักษะ (re-skill) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อสร้างทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการตลาดแรงงานต่อไป


1Oreopoulos, Philip, Till von Wachter, and Andrew Heisz. 2012, The Short- and Long-Term Career Effects of Graduating in a Recession, https://www.aeaweb.org/articles?id=10.1257/app.4.1.1
2 Shelby Carvalho and Susannah Hares Follow (2020), More from Our Database on School Closures: New Education Policies May Be Increasing Educational Inequality, https://www.cgdev.org/blog/more-our-database-school-closures-new-education-policies-may-be-increasing-educational

                                  

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 10 ก.ค. 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ