เส้นทางที่ไม่เรียบง่าย…แต่ผลได้สูงในอินโดนีเซีย
เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในทุกสายตาของนักลงทุน เศรษฐกิจที่เติบโตได้ 5% แม้ในปีวิกฤติเศรษฐกิจ (ปี 2009) การขยายตัวถึง 6.5% ในปี 2011 และ 6.3% ในครึ่งแรกปี 2012 ประกอบกับคาดการณ์การเติบโตราวปีละ 6-7% ใน 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจของอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี และนอกเหนือจากอัตราการเติบโตที่สูงแล้ว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานด้านความสามารถในการแข่งขันนั้นอินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 25 ในปี 2012 จากปี 2007 ที่อยู่ที่อันดับ 89 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่านำหน้าบราซิล อินเดีย และหลายประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ไปแล้ว ศักยภาพการเติบโตของอินโดนีเซียยังยืนยันได้ด้วยประมาณการของสำนักวิจัยต่างๆ ที่คาดว่าภายในปี 2030 อินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จากอันดับ 16 ในปัจจุบัน โดยจะเป็นรองแค่เพียงจีน สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล และรัสเซีย และแซงหน้าทั้งเยอรมันและอังกฤษ
ผู้เขียน: SCB EIC | Economic Intelligence Center
เศรษฐกิจขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในทุกสายตาของนักลงทุน
เศรษฐกิจที่เติบโตได้ 5% แม้ในปีวิกฤติเศรษฐกิจ (ปี 2009) การขยายตัวถึง 6.5% ในปี 2011 และ 6.3% ในครึ่งแรกปี 2012 ประกอบกับคาดการณ์การเติบโตราวปีละ 6-7% ใน 5 ปีข้างหน้า สะท้อนให้เห็นความน่าสนใจของอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี และนอกเหนือจากอัตราการเติบโตที่สูงแล้ว เสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศยังปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากรายงานด้านความสามารถในการแข่งขันนั้นอินโดนีเซียมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 25 ในปี 2012 จากปี 2007 ที่อยู่ที่อันดับ 89 ซึ่งปัจจุบันเรียกว่านำหน้าบราซิล อินเดีย และหลายประเทศในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ไปแล้ว ศักยภาพการเติบโตของอินโดนีเซียยังยืนยันได้ด้วยประมาณการของสำนักวิจัยต่างๆ ที่คาดว่าภายในปี 2030 อินโดนีเซียจะมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก จากอันดับ 16 ในปัจจุบัน โดยจะเป็นรองแค่เพียงจีน สหรัฐฯ อินเดีย ญี่ปุ่น บราซิล และรัสเซีย และแซงหน้าทั้งเยอรมันและอังกฤษ
ที่น่าสนใจคือเศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตด้วยอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ไม่ใช่การผลิตเพื่อส่งออกหรือการส่งออกผลิตผลจากทรัพยากรธรรมชาติที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์อย่างที่มักเข้าใจกัน
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในอาเซียนคือราว 240 ล้านคน และที่น่าสนใจกว่านั้นคือ 50% ของจำนวนนี้มีอายุต่ำกว่า 30 ปี ซึ่งหมายถึงทั้งกำลังแรงงานและชนชั้นผู้บริโภค โดยสัดส่วนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 1999 เป็นประมาณ 43% ในปี 2009 ซึ่งข้อดีอีกอย่างคือการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น แต่ค่อนข้างกระจายตัวไปยังทุกเมืองสำคัญทั่วประเทศไม่ใช่เฉพาะจาการ์ตา โดยปัจจัยสนับสนุนสำคัญก็คือการเพิ่มขึ้นของประชากรและผลิตภาพแรงงานในเมืองสำคัญต่างๆ และแนวโน้มดังกล่าวจะยังคงเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจำนวนชนชั้นกลางในอินโดนีเซีย จะเพิ่มกว่าเท่าตัวจากประมาณ 45 ล้านคนในปัจจุบันเป็นราว 93 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งนั่นหมายถึงศักยภาพการขยายตัวของการบริโภคที่มหาศาล
ในช่วงที่ผ่านมาการบริโภคในประเทศจึงเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจของอินโดนีเซียมากกว่าการส่งออก และมูลค่าผลผลิตของประเทศยังเกิดจากภาคบริการมากกว่าภาคการผลิตอีกด้วย ทั้งนี้ สัดส่วนการส่งออกต่อ GDP ของอินโดนีเซียอยู่ที่ราว 26% คิดเป็นเพียงแค่ครึ่งเดียวของมาเลเซีย ณ ปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงที่รายได้เฉลี่ยของคนมาเลเซียเท่ากับคนอินโดนีเซียในปัจจุบัน ในขณะที่สัดส่วนมูลค่าผลผลิตในสาขาทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ (resource sector) ก็ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2000 ทั้งๆ ที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยภาคเหมืองแร่และน้ำมันและแก๊สมีสัดส่วนเพียง 11% ของ GDP ในปัจจุบัน ในขณะที่ภาคบริการ (ในที่นี้รวมภาคก่อสร้าง ไฟฟ้า ประปาและแก๊ส) กลับมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มาแทน โดยปัจจุบันมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลผลิต
ด้วยต้นทุนแรงงานที่ยังต่ำและชนชั้นกลางที่กำลังเพิ่มขึ้น ส่งผลให้อินโดนีเซียยังมีอีกหลายมุมที่จะเติบโตได้มากในอนาคตและ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ
แผนพัฒนาระยะกลาง (the 2010-2014 National Mid-Term Development Plan) ของอินโดนีเซียแสดงให้เห็นว่าอินโดนีเซียกำลังมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ มากขึ้น ซึ่งจำนวนหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญก็คือเรื่องของภาคการผลิตและภาคการเกษตร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ การปลูกและผลิตน้ำมันปาล์มและยางพารา โดยหลักๆ แล้ว อินโดนีเซียต้องการที่จะหันไปมุ่งเน้นภาคการผลิตมากขึ้นเพื่อที่จะสร้างความยั่งยืนของอุปสงค์ในประเทศด้วยการเพิ่มมูลค่าผลผลิตไปพร้อมๆ กับการเพิ่มรายได้ประชาชนผ่านการจ้างงานซึ่งภาคการผลิตมีแนวโน้มที่จะมีการจ้างงานมากกว่า เพราะแม้ว่าจะมีข้อได้เปรียบในภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่การมุ่งเน้นผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจได้ไม่มากเท่ากับการหันไปมุ่งเน้นภาคการผลิตที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญคือกำลังแรงงานที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สวนทางกับประเทศอื่นๆ กำลังก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุ
และถ้ามองทางฝั่งอุปสงค์แล้ว การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางเป็นกว่า 90 ล้านคนในปี 10 ปีข้างหน้า และอาจจะเพิ่มเป็นกว่า 130 คนในอีก 20 ปีข้างหน้าหากเศรษฐกิจยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องแบบนี้ไปเรื่อยๆ นั้น สะท้อนศักยภาพการเติบโตในสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม รวมไปถึงภาคบริการของอินโดนีเซียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะภาคบริการทางการเงินและการค้าปลีกทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับความน่าดึงดูดจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติของอินโดนีเซียอย่างเถียงไม่ได้
การลงทุนจากต่างประเทศ (foreign direct investment: FDI) ในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นสูงและยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยยังมุ่งมาที่ภาคเหมืองแร่ (mining) เป็นสัดส่วนสูงอยู่ ทั้งนี้ในปี 2011 ที่ผ่านมามูลค่า FDI ที่เข้ามายังอินโดนีเซียสูงเกือบ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 18% และในช่วงครึ่งปีแรก 2012 ที่ผ่านมา FDI ก็ขยายตัวถึง 28% ซึ่งยังคงนำโดยการลงทุนในเหมืองแร่เป็นหลัก
แนวโน้มการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของ FDI ในอินโดนีเซียเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยผลักดันและปัจจัยดึงดูด โดยปัจจัยผลักดันได้แก่ วัฎจักรของเศรษฐกิจโลกที่กำลังเข้าสู่ขั้นของการฟื้นตัว ในขณะที่เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลกยังดูไม่ค่อยดีนัก รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันของจีนที่มีแนวโน้มเริ่มได้รับผลกระทบจากค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ FDI หันหัวมาทางอินโดนีเซียมากขึ้น ในขณะที่ปัจจัยดึงดูด ก็ได้แก่การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่ายังมีศักยภาพการเติบโตและเสถียรภาพดีขึ้น และยังได้รับอานิสงส์จากค่าจ้างแรงงานที่ยังค่อนข้างต่ำอยู่ ซึ่งปัจจุบันต่ำกว่าไทยประมาณ 2 เท่า
ในจำนวน FDI ที่เข้ามาในปี 2011 เป็นการลงทุนในภาคเหมืองแร่ประมาณ 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% และคาดว่ากระแสนี้จะยังคงอยู่ไปอีกสักพักใหญ่ เพราะเชื่อกันว่ายังมีทรัพยากรธรรมชาติอีกมากที่ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์และตอบสนองความต้องการใช้ที่สูงขึ้น ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นผู้ส่งออกถ่านหินที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า (thermal coal) มากที่สุดในโลก โดยมีทรัพยากรถ่านหิน (coal reserve) มากเป็นติด 20 อันดับแรกของโลก และมีทรัพยากรแร่ธาตุประเภททองคำ ทองแดง ดีบุก และนิกเกิลมากติดใน 10 อันดับแรกของโลก นอกจากนี้ รัฐบาลยังคาดว่า FDI ที่จะเข้ามาในภาคเหมืองแร่จะเพิ่มขึ้นได้ถึง 7,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 2014 อย่างไรก็ตาม FDI กำลังกระจายไปในภาคการผลิตของอินโดนีเซียมากขึ้น รวมไปถึงภาคการขนส่งและติดต่อสื่อสาร (transport and communication) จนถึงภาคการค้าส่งค้าปลีก (wholesale and retail trade) ตามศักยภาพการขยายตัวของชนชั้นกลางที่จะมีกำลังการบริโภคสูงขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้น สำหรับนักลงทุนในอนาคตข้างหน้านั้น มีความเสี่ยงหลายประการที่ต้องระมัดระวัง
1. กฎหมายและกฎระเบียบที่ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องดูเหมือนจะเป็นไปในแนวทางที่ลดความน่าดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศลง
รัฐบาลอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะปรับเปลี่ยนกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อประโยชน์และปกป้องเศรษฐกิจและธุรกิจในประเทศมากขึ้น โดยตัวอย่างอุตสาหกรรมที่เห็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายอย่างชัดเจนในช่วงที่ผ่านมาคืออุตสาหกรรมเหมืองแร่ และธนาคารพาณิชย์
กฎหมายปรับปรุงใหม่สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองแร่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติที่ 49% ลดลงจาก 80% ที่เคยอนุญาต โดยนักลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตใหม่จะต้องจัดสรรสัดส่วนการถือหุ้นอย่างน้อย 20% ให้กับนักลงทุนอินโดนีเซียภายในปีที่ 5 ของการดำเนินการผลิต ก่อนจะลดสัดส่วนลงเรื่อยๆ ให้เหลือเพียง 49% ในปีที่ 10 ของการผลิต นอกจากนี้ผู้ประกอบกิจการยังต้องให้ความสำคัญอันดับแรกๆ ในการใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับเหมืองแร่รวมไปถึงจัดหาอุปกรณ์ต่างๆ (equipment suppliers) จากธุรกิจของคนอินโดนีเซีย และยังต้องจัดสรรรผลผลิตที่ได้จากการผลิตจำหน่ายในตลาดในประเทศด้วย และในกรณีที่ต้องมีการได้รับอนุญาตให้มีการจ้างดำเนินการต่อ (subcontracting) ในบางส่วนของการผลิตจะต้องพิจารณาบริษัทที่คนอินโดนีเซียเป็นเจ้าของก่อน อีกทั้งทิศทางในระยะยาวยังค่อนข้างชัดเจนที่รัฐบาลจะห้ามการส่งออกวัตุดิบภายในปี 2014 เพื่อจะส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศ ทั้งนี้ เนื้อหาของกฎหมายดังกล่าวชี้ให้เห็นชัดเจนของทิศทางที่รัฐบาลอินโดนีเซียจะส่งเสริมให้ธุรกิจของคนอินโดนีเซียเองเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกิจเหมืองแร่ทั้งถ่านหินและแร่ธาตุอื่นๆ มากขึ้น
เช่นเดียวกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่กำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมายจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นโดยนักลงทุนต่างชาติให้เหลือต่ำกว่า 50% จากเดิมที่อนุญาตถึง 99% โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียเชื่อว่าโครงสร้างสถาบันการเงินจะมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นหากมีโครงสร้างการถือหุ้นที่กระจายตัวออกไป และต้องการให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในอีกหลายๆ ประเทศในอาเซียนและภูมิภาคอื่นๆ ที่สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติในธนาคารพาณิชย์ถูกกำหนดในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งนั่นหมายความว่าผู้ที่ลงทุนอยู่แล้วก็อาจจะต้องถูกลดสัดส่วนการถือหุ้นลงในอนาคตก็เป็นได้
2. ความเสี่ยงเรื่องการเมือง เช่น ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่น และเรื่องความขัดแย้งกับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ
ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการลงทุนในอินโดนีเซีย และคงไม่มีดัชนีชี้วัดอะไรดีกว่าการยอมรับสภาพปัญหาของผู้นำประเทศ Susilo Bambang Yudhoyono เองที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า "I have to admit there are still many perpetrators of corruption even in the government, parliament, regional representatives and among law enforcers" ซึ่งผลกระทบของปัญหาคอร์รัปชั่นก็คือเป็นการเพิ่มต้นทุนธุรกิจ (business cost) สำหรับผู้ประกอบการ อีกทั้งเสมือนเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่นในกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาไปในขณะเดียวกัน และในอีกทางหนึ่งก็จะส่งผลทางอ้อมต่อแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ปัญหาการคอร์รัปชั่นอาจจะส่งผลให้ดำเนินการไม่ได้ตามเป้าหมายในที่สุด ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีความพยายามอย่างเป็นรูปธรรมของรัฐบาลในการปราบปรามคอร์รัปชั่นแต่ผลลัพธ์โดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก
นอกจากนี้ แม้ว่าประเทศจะมีความเป็นประชาธิปไตยและมีเสถียรภาพทางการเมืองมากขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังมีโอกาสที่ประชาชนกลุ่มย่อยต่างๆ โดยเฉพาะด้านความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติจะสร้างความขัดแย้งและความวุ่นวายได้อยู่ แม้จะมีความน่ากังวลน้อยลง ทั้งนี้ เสถียรภาพทางการเมืองสะท้อนให้เห็นได้จากการเลือกตั้งที่โปร่งใสมาทั้ง 3 สมัย รวมไปถึงการได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้นำประเทศของ Susilo Bambang Yudhoyono ทั้ง 2 สมัยซ้อน ซึ่งส่งผลให้ปัญหาความขัดแย้งลดลงอย่างมากพร้อมๆ กับอำนาจของกลุ่มกองโจรและกองกำลังกึ่งทหาร รวมไปถึงความขัดแย้งกับชนเชื้อชาติจีนที่ลดน้อยลงไปมากซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ตาม ด้วยความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และภาษา กระบวนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นตามระบอบประชาธิปไตย จึงได้นำไปสู่การฟื้นฟูของบางกลุ่มตามเอกลักษณ์ภาษาและวัฒนธรรมขึ้นมา และส่งผลให้มีปัญหาความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวโดยเฉพาะจากความขัดแย้งทางศาสนาระหว่างกลุ่ม Christians และ Islamic groups (เช่น กลุ่ม Ahmadi) รวมไปถึงความขัดแย้งทางเชื้อชาติ
3. การไม่ยอมรับนโยบายของรัฐบาลกลางจากรัฐบาลท้องถิ่นก็สามารถเป็นอุปสรรคได้
การที่รัฐบาลกลางเริ่มมีการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นตั้งแต่ปี 1999 เป็นต้นมา ทำให้หลายครั้งรัฐบาลท้องถิ่นไม่ยอมรับข้อตกลงที่นักลงทุนต่างชาติทำกับรัฐบาลกลางและกลายเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นควรจะเป็นกลไกที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่จะสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการลงทุนเพื่อให้มีการขยายการลงทุนและสร้างความเจริญในแต่ละท้องที่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคือความไม่สอดคล้องของกฎระเบียบสำหรับธุรกิจที่ใช้ในระดับประเทศ (national) กับระดับที่เกิดขึ้นจากการปกครองตนเองของท้องถิ่น (sub national) ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุน โดยตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายที่สุดก็คือการจัดตั้งธุรกิจและ/หรือสร้างโรงงานในแต่ละพื้นที่ที่จะต้องล่าช้าออกไปอีกจากเดิมที่มีกระบวนการที่ใช้เวลานานอยู่แล้ว โดยปัจจุบันการจัดตั้งธุรกิจในอินโดนีเซียก็ใช้เวลาเกือบ 50 วันอยู่แล้ว ซึ่งค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ และส่งผลต่อเนื่องให้ต้นทุนการจัดตั้งธุรกิจเพิ่มสูงขึ้นไปด้วย
4. ความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนนท่าเรือ ประปา ไฟฟ้า และด้านการเงิน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพัฒนา
อุปสรรคที่เกิดจากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ สะท้อนให้เห็นได้จากดัชนีความสามารถในการแข่งขันปี 2012-2013 (Global Competitiveness Index) ซึ่งอินโดนีเซียได้รับการจัดอันดับให้อยู่ลำดับที่ 50 จาก 144 ประเทศ ที่แย่กว่าก็คือในขณะที่ประเทศมีอัตราการขยายตัวสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ความสามารถในการแข่งขันกลับลดลงจากที่เคยอยู่อันดับที่ 46 ในการจัดอันดับครั้งที่แล้ว ปัญหาหลักๆ ที่พูดถึงกันมากก็คือ ถนนที่เสียหายจากการใช้งานอย่างหนัก ปัญหาการจราจรที่กลายเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายทางอ้อมในการขนส่งสินค้า ความไม่เพียงพอด้านพลังงานที่ส่งผลต่อการลงทุน อีกทั้งความล้าสมัยของท่าเรือท่าอากาศยานต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการจัดการการไหลเข้าออกของสินค้า และส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าอินโดนีเซียมีไม่ค่อยได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจังมากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งที่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานมีมูลค่าเกือบ 8% ของ GDP หลังวิกฤตต้มยำกุ้งมาสัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงราว 4% ของ GDP เท่านั้น อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวที่จะส่งผลต่อการขยายเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว จึงได้มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างจริงจัง โดยประมาณการว่าจะมีการใช้จ่ายราว 150,000 ล้านเหรียญฯ ในการพัฒนาถนน ท่าเรือ และท่าอากาศยานภายในปี 2014
แต่เชื่อว่าอินโดนีเซียยังคงต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก นโยบายส่งเสริมจึงน่าจะยังคงอยู่ต่อไป
เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องปีละ 6-7% ตามเป้าหมายที่วางไว้ อินโดนีเซียยังต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศอีกมาก แม้ว่า FDI จะเติบโตสูงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนต่อ GDP แล้วยังถือว่าต่ำกว่าประเทศที่เรียกว่าประสบความสำเร็จในด้านการดึงดูด FDI พอสมควร โดย FDI ต่อ GDP ของอินโดนีเซียอยู่ที่ราว 2% ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเมื่อตอนวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 ในขณะที่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เวียดนามมีสัดส่วน FDI ถึง 9% ของ GDP และแม้จีนเองที่กำลังเผชิญปัญหาค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการเริ่มขาดแคลนแรงงานยังมีสัดส่วน FDI ประมาณ 3% ของ GDP ยิ่งไปกว่านั้น อาจจะไม่ใช่แค่ FDI ที่อินโดนีเซียต้องการ เพราะหากดูการลงทุนโดยรวมของประเทศ (gross fixed capital formation) แล้ว สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ของอินโดนีเซียอยู่ที่แค่ 24% ซึ่งต่ำกว่าทั้งจีน (46%) เวียดนาม (41%) และอินเดีย (35%) ดังนั้น การลงทุนในประเทศเองก็จะเป็นสิ่งที่อินโดนีเซียสนับสนุนมากขึ้นไปพร้อมๆ กัน
อุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอุตสาหกรรมที่มาแรงและมีศักยภาพที่จะเป็นคู่แข่งของไทย
อุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตเร็วมากในอินโดนีเซียกำลังเป็นที่จับตามองว่าอาจจะมาแทนที่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของอาเซียนแทนไทย แต่คงไม่ใช่ในเร็ววัน ตัวเลขยอดขายรถในประเทศอินโดนีเซียที่ขยายตัวสูงถึง 17% คิดเป็นจำนวนเกือบ 900,000 คัน ในปี 2011 ที่ผ่านมา และคาดว่าจะโตไปถึงปีละ 1.6 ล้านคันภายในปี 2018 ด้วยปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ได้แก่ การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อัตราดอกเบี้ยต่ำ และระบบสินเชื่อที่ให้กู้ได้ถึง 80% ของราคารถยนต์ ส่งผลให้แทบจะทุกบริษัทผลิตรถยนต์มุ่งขยายการผลิตในอินโดนีเซียอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขยายกำลังการผลิตของเจ้าเดิมที่ลงทุนอยู่แล้วด้วย โดยปัจจุบันสัญชาติญี่ปุ่นยังครองตลาดเป็นส่วนใหญ่ (มากกว่า 60%) นำโดยโตโยต้า มิตซูบิชิ และซูซูกิ อย่างไรก็ตาม จุดมุ่งหมายของการลงทุนเหล่านี้ก็คือตลาดภายในขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียเป็นหลัก แต่การจะไปถึงขั้นเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกแทนที่ไทยเรานั้นคงไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน เนื่องจากความยังไม่พร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง และภาคบริการอื่นๆ ที่จะมารองรับ
อีกทั้งลักษณะรถที่คนอินโดนีเซียนิยมคือรถประเภทอเนกประสงค์ (MPVs) และรถอเนกประสงค์แบบสปอร์ต (SUV) จึงเป็นตลาดที่แตกต่างจากไทยชัดเจน ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออกมายังไม่เรียกว่าเป็นคู่แข่งอย่างชัดเจนของไทย
ถึงกระนั้นผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยคงชะล่าใจไม่ได้ การปรับตัวไปสู่ขั้นสูงกว่าของห่วงโซ่การผลิต และการเข้าสู่เทคโนโลยียานยนต์ใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมตัวให้เร็วขึ้น ปัจจุบันสิ่งที่เหมือนกันคือของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยและอินโดนีเซียคือ การรับจ้างผลิต และได้รับเทคโนโลยีเฉพาะขั้นการผลิต ยังไม่ถึงขั้นการออกแบบ ข้อได้เปรียบเรื่องขนาดตลาดและชนชั้นแรงงานอาจจะเป็นอาวุธสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียก้าวกระโดดมาเป็นผู้ส่งออกในอนาคตได้อย่างไม่ยากเย็นนักทำนองเดียวกับเส้นทางที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยวิวัฒนาการมาจนมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับที่พร้อมและมีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ดังนั้น การปรับตัวไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังจะมาในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิง (fuel cell) จึงเป็นเรื่องที่ธุรกิจไทยต้องเริ่มคิดได้แล้ว เพื่อที่จะคงฐานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ของภูมิภาคต่อไป
Key takeaways:
|
ท่านสามารถศึกษาข้อมูลทั่วไปได้โดยดาวน์โหลดเอกสารฉบับเต็ม