SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
18 มิถุนายน 2020

คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2020 ณ ไตรมาส 2/2020

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -7.3% จากเดิมที่คาดหดตัวที่ -5.6% จากผลกระทบ COVID-19 ที่มากกว่าคาด

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Outlook_Q2_2020_9.jpg

EIC ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 เป็นหดตัวที่ -7.3% จากเดิมที่คาดหดตัวที่ -5.6% จากผลกระทบ COVID-19 ที่มากกว่าคาด โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนที่ถูกกระทบอย่างหนักจากมาตรการปิดเมืองในช่วงต้นไตรมาสสอง จะได้มาตรการภาครัฐและการทยอยเปิดเมืองบรรเทาผลกระทบบางส่วน

EIC ประเมินเศรษฐกิจโลกปี 2020 อยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและปรับประมาณการการหดตัวลงเป็น -4.0%YOY โดยการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (U-shaped recovery) โดยจากข้อมูลที่ออกมาในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 พบว่าเศรษฐกิจหลายประเทศมีการหดตัวมากกว่าคาด สะท้อนผลกระทบจากการปิดเมืองที่เข้มงวด จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัวมากถึง -4.0%YOY ในปีนี้ ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ประกอบกับภาครัฐดำเนินนโยบายทางการเงินและการคลังขนาดใหญ่ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ และอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น ซึ่งนำไปสู่รายได้ที่ลดลงและความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ

ด้านเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปิดเมืองและสภาพเศรษฐกิจโดยรวม โดย EIC ได้ปรับลดคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้าไทยในปี 2020 เหลือเพียง 9.8 ล้านคน (-75.3%YOY) จากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 13.1 ล้านคน ตามนโยบายปิดการเดินทางเข้าออกประเทศของไทยที่ยาวนานขึ้น (ล่าสุดขยายระยะเวลาถึงสิ้นเดือนมิถุนายน) และเศรษฐกิจโลกที่หดตัวมากกว่าคาด ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ในส่วนของการส่งออกสินค้า จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และมาตรการปิดเมืองที่ก่อให้เกิดปัญหา supply chain disruption โดยมีแนวโน้มหดตัวสูงที่ -10.4% ซึ่งการส่งออกสินค้าสำคัญของไทยมีแนวโน้มหดตัวใกล้เคียงกับคาดการณ์เดิม แต่มูลค่าส่งออกในภาพรวมอาจหดตัวน้อยลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ -12.9% เนื่องจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวในระดับสูง อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำไม่ได้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ เพราะไม่จัดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและไม่มีผลต่อ GDP ในส่วนของผลกระทบจากมาตรการปิดเมือง (lockdown) พบว่าจะทำให้การใช้จ่ายของประชาชนลดลง และส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานและผู้ประกอบธุรกิจบางประเภทที่อาจต้องปิดกิจการชั่วคราว

ภาวะเศรษฐกิจไทยที่หดตัวรุนแรงและรวดเร็ว จะทำให้ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจมีความเปราะบางทางการเงินมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบหนักต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน โดย EIC วิเคราะห์ว่าภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทย โดยเฉพาะ SMEs มีความเปราะบางทางการเงินอยู่แล้วจากระดับหนี้ที่สูง ดังนั้น เมื่อประสบกับวิกฤติ COVID-19 จึงทำให้ภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการจ้างงานและรายได้ที่ลดลงอย่างมาก เช่นเดียวกันกับภาคธุรกิจที่จะมีรายได้ลดลงมากจนอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งสภาวะดังกล่าวทำให้การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนัก อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้จัดทำพระราชกำหนดช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยมีวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดย EIC คาดจะมีเม็ดเงินจากมาตรการภาครัฐประมาณ 6 แสนล้านบาท (3.8% ของ GDP) ที่จะเข้าสู่เศรษฐกิจในปี 2020 โดยมาตรการหลักคือการช่วยเหลือผ่านการสนับสนุนเงินแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนั้นยังมีการออกมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ SMEs รวมถึงวงเงินสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนไม่ให้หดตัวมากเท่ากับที่เคยคาดไว้ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน แม้จะได้รับนโยบายสินเชื่อสนับสนุน แต่คาดว่าจะเป็นการกู้เงินเพื่อเน้นการรักษาสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ไม่ได้เอาไปลงทุนใหม่ ดังนั้น การลงทุนภาคเอกชนปี 2020 จึงมีแนวโน้มหดตัวในระดับสูงที่ -10.7%

EIC คาดเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2020 แต่จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบอ่อนแรงอยู่แล้วแม้ในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19 โดยในปี 2019 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพียง 2.4% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และมีการลงทุนที่ต่ำต่อเนื่องมาหลายปี ประการต่อมาคือแนวโน้มการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวก็จะเป็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามเศรษฐกิจโลกที่หดตัวและความกังวลด้านการเดินทางที่ยังมีต่อเนื่องตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีน รวมถึงมาตรการ social distancing ที่คาดว่าจะมีการบังคับใช้เมื่อมีการเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศ ก็จะทำให้จำนวนผู้โดยสารเครื่องบินต่อรอบหรือจำนวนนักท่องเที่ยวต่อห้องพักโรงแรมมีน้อยลง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคที่ทำให้การท่องเที่ยวของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า ในส่วนต่อมาคือแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะฟื้นตัวแบบ U-shaped ตามที่ได้กล่าวไปก่อนหน้า ก็จะส่งผลโดยตรงต่อภาคส่งออกไทยให้มีลักษณะฟื้นตัวช้าไปด้วย นอกจากนี้ ความเปราะบางที่เพิ่มขึ้นของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ และมีหนี้ในระดับสูง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะมีลักษณะการฟื้นตัวแบบ U-shape มากกว่าลักษณะอื่น

สำหรับนโยบายการเงิน คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.5% ในช่วงที่เหลือของปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาหลังจากภาวะการเงินไทยมีการตึงตัวขึ้นมากและเกิดความผันผวนอย่างสูงในตลาดการเงินจากผลกระทบของ COVID-19 และการปิดเมือง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการลดดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และออกมาตรการขนาดใหญ่ โดยมาตรการดังกล่าวได้ช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดการเงินได้ในระดับหนึ่ง เมื่อพิจารณาร่วมกับผลของมาตรการด้านการคลังขนาดใหญ่และมาตรการทยอยเปิดเมือง EIC จึงคาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0.5% ไว้ในช่วงที่เหลือของปี โดยการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะเป็นการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องและลดภาระหนี้ต่อประชาชน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ความเสี่ยงด้านต่ำมีมากขึ้น EIC ประเมินว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังพร้อมผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ในส่วนของค่าเงินบาท EIC คาดอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2020 จะอยู่ในช่วง 31.5-32.5 ซึ่งเป็นทิศทางอ่อนค่า เนื่องจากไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงมาก จากดุลบริการที่หายไปตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่หดตัวในระดับสูง

สำหรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า คือโอกาสในการกลับมาระบาดอย่างรุนแรงของ COVID-19 ซึ่งอาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกต้องหยุดชะงักอีกครั้ง นอกจากนี้ ความเสี่ยงด้านการค้าของโลกที่เกิดจากแนวนโยบายของสหรัฐฯ ก็ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และยุโรป ขณะที่ตลาดน้ำมันก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องสงครามราคาที่อาจกลับมาปะทุอีกครั้ง ซึ่งอาจสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกได้ และสุดท้ายคือความเสี่ยงในประเทศด้านความเปราะบางทางการเงินของทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจของไทยที่อาจทำให้เกิดการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพภาคการเงิน รวมถึงความสามารถในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยโดยรวมในระยะต่อไป
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ