SHARE
OUTLOOK:ASEAN 4 ECONOMY
17 มิถุนายน 2020

เศรษฐกิจอาเซียน 4

มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างมีนัยจากการแพร่ระบาดของ COVID-19เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และมาตรการปิดเมือง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจอาเซียน 4 : มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างมีนัยจากการแพร่ระบาดของ COVID-19เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย และมาตรการปิดเมือง

เศรษฐกิจอาเซียน 4 ในไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัวอย่างมีนัยจากผลกระทบของ COVID-19 และเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย
มาตรการปิดเมืองในแต่ละประเทศได้ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักและนำไปสู่การจ้างงานและรายได้ที่ลดลง ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการบริโภคและการลงทุนในประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจอาเซียน 4 ขณะเดียวกัน การระบาดของ COVID-19 ในต่างประเทศและเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยนั้นมีผลให้การส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศชะลอลง โดยเฉพาะในมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่งพึ่งพาการส่งออกและอุปสงค์นอกประเทศสูง ทั้งนี้ EIC มองว่าเศรษฐกิจอาเซียน 4 จะหดตัวต่ำที่สุดในไตรมาส 2 เนื่องจากมาตรการปิดเมืองทั้งในและนอกประเทศคาดว่าจะเข้มงวดที่สุด ก่อนจะเริ่มผ่อนคลายเป็นระยะ ๆ ในปลายไตรมาส 2 ถึงช่วงครึ่งปีหลัง ขณะที่แต่ละประเทศยังคงมีความเสี่ยงรายประเทศต่าง ๆ ที่ควรเฝ้าระวังอยู่ ธนาคารกลางและรัฐบาลแต่ละประเทศได้ดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายเพื่อรักษาสภาพคล่องและช่วยเหลือแรงงานและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดย EIC คาดว่านโยบายจะคงเป็นแบบผ่อนคลายต่อเนื่องเพราะเศรษฐกิจอาเซียน 4 มีแนวโน้มฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปจากครึ่งปีหลังเป็นต้นไป (U-shaped recovery) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดทั้งในและนอกประเทศ จึงยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ค่อนข้างสูง

ทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไปจะขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และแนวโน้มเศรษฐกิจโลก

อินโดนีเซีย เติบโตชะลอลงที่ 3.0%YOY ในไตรมาส 1 หลังขยายตัว 5.0%YOY ในปี 2019 จากการชะลอตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน ซึ่งคิดเป็น 57.9% และ 32.3% ของ GDP ตามลำดับ ทั้งนี้การเติบโตในไตรมาสสองมีแนวโน้มชะลอตัวหนักยิ่งขึ้น เนื่องจากอินโดนีเซียได้เริ่มใช้มาตรการปิดเมืองบางส่วนในเดือนเมษายน ซึ่งส่งผลให้ภาคการบริโภคและการผลิตชะลอตัวผ่านรายได้และการจ้างงานที่ลดลง สะท้อนจากยอดค้าปลีกเดือนเมษายนที่หดตัวถึง 11.8%YOY และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดตั้งแต่เคยเก็บข้อมูลมาที่ 27.5 ในเดือนเมษายน โดยรัฐบาลคาดว่าจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ 4.5% และคาดว่าจะปรับลงได้อีก อย่างไรก็ดี การอ่อนค่าของเงินรูเปียเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวังหลังอ่อนค่าอย่างรุนแรงในไตรมาส 1 แม้จะเริ่มกลับมาแข็งค่าในไตรมาส 2
ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 4% ของ GDP และคาดว่าจะออกมาตรการต่อเนื่องหลังได้ผ่อนปรนข้อจำกัดการขาดดุลการคลังซึ่งเดิมอยู่ที่ไม่เกิน 3% ต่อ GDP ทั้งนี้ EIC คาดว่าอินโดนีเซียจะหดตัว 2.1% ในปี 2020 และคาดว่าจะกลับมาเติบโตได้ที่ 8.5% ในปี 2021

มาเลเซีย เติบโตชะลอลงที่ 0.7%YOY ในไตรมาส 1 หลังขยายตัว 4.3%YOY ในปี 2019 จากการชะลอตัวในภาคการผลิตและบริการ สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัวเพียง 2.1%YOY เทียบกับ 6.9%YOY ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว โดย EIC คาดว่าอัตราการเติบโตในไตรมาส 2 จะชะลอต่อเนื่องก่อนจะกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในครึ่งหลังของปี หลังมาเลเซียได้ใช้มาตรการปิดเมืองบางส่วนตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม แม้เริ่มมีการผ่อนคลายบ้างในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ทั้งนี้การปิดเมืองบางส่วนได้ส่งผลให้การจ้างงานและการผลิตชะลอตัว สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่เร่งตัวขึ้นเป็น 3.9% ในเดือนมีนาคม จาก 3.3% ในเดือนกุมภาพันธ์ และดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production Index) ที่หดตัว 4.9%YOY ในเดือนมีนาคม ขณะที่เศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยจะส่งผลให้การส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัว โดยการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึง 63.3% ของ GDP ธนาคารกลางมาเลเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 1% เหลือ 2% ในปีนี้ และคาดว่าจะปรับลงได้อีกหลังอัตราเงินเฟ้อลดลง -2.9%YOY ในเดือนเมษายน ขณะที่รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 16% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันโลกที่ร่วงลงอย่างรุนแรงอาจเป็นความเสี่ยงต่อรายได้การคลังและมูลค่าส่งออก ขณะที่หนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูงที่ 52.5% ต่อ GDP ในปี 2019 ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะหดตัว 5% ในปี 2020 และกลับมาฟื้นตัวได้ที่ 9% ในปี 2021

ฟิลิปปินส์ หดตัว 0.2%YOY ในไตรมาส 1 หลังขยายตัว 6.0%YOY ในปี 2019 จากการชะลอตัวในภาคส่วนสำคัญโดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน สะท้อนจากยอดค้าปลีกที่หดตัว 3.2%YOY และการส่งออกที่หดตัว 5.1%YOY ในไตรมาส 1 โดยทั้งสองคิดเป็นสัดส่วน 73.2% และ 28.3% ของ GDP ตามลำดับ ฟิลิปปินส์ได้บังคับใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดในเกาะลูซอนและเมืองอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงเมืองมะนิลาตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างรุนแรง สะท้อนจากดัชนีมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว 11.3%YOY ในเดือนมีนาคม โดย EIC คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาส 2 จะหดตัวหนักที่สุดก่อนจะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ในครึ่งปีหลังตามมาตรการที่คาดว่าจะผ่อนคลายเรื่อย ๆ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1.25% ในปีนี้อยู่ที่ 2.75% ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบ 8% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์อาจเผชิญความเสี่ยงจากการส่งเงินกลับประเทศ (Remittances) ที่น้อยลงตามเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งอาจเป็นแรงกดดันต่อดุลบัญชีเดินสะพัดเนื่องจากฟิลิปปินส์ขาดดุลการค้าค่อนข้างสูงอยู่แล้วที่ 12% ของ GDP ในปี 2019 และอาจเป็นความเสี่ยงต่อค่าเงินเปโซ ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะหดตัว 4% ในปี 2020 และกลับมาฟื้นตัวได้ที่ 10% ในปี 2021

สิงคโปร์ หดตัว 0.7%YOY ในไตรมาส 1 หลังขยายตัว 0.7% ในปี 2019 จากการหดตัวของภาคการส่งออกและยอดค้าปลีกที่หดตัว 1.3%YOY และ 6.9%YOY ในไตรมาส 1 ตามลำดับ สิงคโปร์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยและการท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก (-84.7%YOY ในเดือนมีนาคม) เนื่องจากสิงคโปร์พึ่งพาอุปสงค์ต่างประเทศสูง โดยการส่งออกและการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศคิดเป็น 173.5% และ 28.4% ของ GDP ตามลำดับ ขณะเดียวกัน มาตรการ Circuit Breaker หรือการปิดเมืองบางส่วนซึ่งได้เริ่มใช้ในช่วงต้นเดือนเมษายนได้ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาพรวมเศรษฐกิจ (Whole Economy PMI) ที่ร่วงลงอยู่ที่ 28.1 ในเดือนเมษายน โดย EIC คาดว่าการฟื้นตัวจะเป็นไปอย่างช้า ๆ ในครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป ตามมาตรการปิดเมืองที่ผ่อนคลายและเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ได้ใช้นโยบายผ่อนคลายต่อเนื่อง ขณะที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกว่า 12% ของ GDP ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะหดตัว 5.5% ในปี 2020 และกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2021 ที่ 7%


Outlook_Q2_2020_7.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ