SHARE
OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
08 มิถุนายน 2020

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

การบริโภคภายในซบเซาและการเลื่อนจัดงานโอลิมปิก ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวรุนแรง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


iStock-511092543-(1).jpg

เศรษฐกิจญี่ปุ่น : การบริโภคภายในซบเซาและการเลื่อนจัดงานโอลิมปิก ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวรุนแรง


เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัว 2.0%YOY จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ซบเซาจากจีนและภายในภูมิภาคจากผลกระทบของ COVID-19 รวมถึงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบและภาคการส่งออกหดตัวอย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตั้งแต่ไตรมาสแรกของปีนี้ นอกจากนี้ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน (state of emergency) ในเดือนเมษายน ซึ่งล่าช้ากว่าประเทศเศรษฐกิจหลักอื่น ๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของไตรมาสที่ 2 หยุดชะงักลง โดยเฉพาะภาคบริการซึ่งคิดเป็น 3 ใน 4 ของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปิดเมือง

คาดเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 เป็นต้นไป หลังจากยกเลิกภาวะฉุกเฉินในปลายเดือนพฤษภาคม โดยภาคการผลิตมีโอกาสฟื้นตัวเร็วกว่าภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นได้สูญเสียปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในปีนี้ จากการเลื่อนจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 2020 ออกไปเป็นปี 2021 ซึ่งส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวในปีนี้อาจซบเซาต่อเนื่องแต่จะถูกชดเชยในปีหน้า โดย BOJ ได้ประมาณการว่ามหกรรมโอลิมปิกจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 เติบโตเพิ่มขึ้นได้ราว 0.2-0.3 ppt2 ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2020 จะหดตัว 8.0%

รัฐบาลออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉุกเฉินเพิ่มเติมรวมเป็น 4% ของ GDP เพื่อช่วยเหลือครัวเรือนและภาคธุรกิจจากผลของการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยในภาคครัวเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 1 แสนเยนซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี สำหรับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการช่วยเหลือผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเลื่อนการจ่ายภาษี อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ เพียงแต่สามารถบรรเทาได้บางส่วนและเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี มาตรการการคลังขนาดใหญ่ส่งผลให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกจากในปี 2019 ที่ 237% ของ GDP ซึ่งอาจส่งผลต่อความเสี่ยงในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวได้

BOJ ขยายมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในการประชุมนโยบายการเงินเดือนเมษายน BOJ ยกเลิกวงเงินซื้อพันธบัตรรัฐบาล (JGB) จากเดิมที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี เป็นสามารถเข้าซื้อไม่จำกัดจำนวน โดยมีเป้าหมายในการรักษาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีให้อยู่ที่ระดับ 0% อย่างไรก็ดี EIC มองว่า BOJ ยังมีข้อจำกัดในการเข้าซื้อ JGB เนื่องจากการซื้อ JGB ที่เพิ่มขึ้นจากเดิมจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยลดลงอย่างมาก ทำให้ยากแก่การรักษาเป้าหมาย Yield curve รวมถึงกดดันกำไรของภาคสถาบันการเงินอีกด้วย ในระยะข้างหน้า หากตลาดการเงินยังคงมีเสถียรภาพ EIC คาดว่า BOJ จะยังรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมที่ -0.1% ต่อไป



นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินเยน ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2020 แข็งค่า 0.7%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ สำหรับปี 2020 สถานการณ์โรคระบาดมีความไม่แน่นอนสูงและเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้มีความต้องการถือสกุลเงินปลอดภัยอย่างเงินเยนมากขึ้น ทำให้เงินเยนมีแนวโน้มไปทางแข็งค่า

• การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นใน 4 เดือนแรกของปี 2020 หดตัว 2.3%YOY โดยสัดส่วนมูลค่าสินค้าที่หดตัวคิดเป็น 48.5% ของมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นทั้งหมด เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า (-11.3%YOY) และเหล็กและผลิตภัณฑ์ (-15.1%YOY) ขณะที่สินค้าส่งออกที่เหลือยังขยายตัวได้ เช่น ไก่สดและแปรรูป (+12.2%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (+12.7%YOY) เป็นต้น

• การลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นมายังไทยในปี 2019 หดตัว 26.9% โดยธุรกิจที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ ธุรกิจการผลิตเครื่องจักร ธุรกิจการผลิตยานยนต์ และธุรกิจขายส่งและการขายปลีกตามลำดับ สำหรับปี 2020 คาดว่าเงินลงทุนจากญี่ปุ่น จะลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก


Outlook_Q2_2020_3.jpg




ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ