SHARE
OUTLOOK:U.S. ECONOMY
08 มิถุนายน 2020

เศรษฐกิจสหรัฐฯ การฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องใช้เวลา จากปัญหาตลาดแรงงานอ่อนแอ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ การฟื้นตัวเศรษฐกิจต้องใช้เวลาจากปัญหาตลาดแรงงานอ่อนแอ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 
iStock-1156722488.jpg

 

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปี 2020 หดตัว 4.8%QOQ SAAR1 หรือขยายตัว 0.3%YOY เนื่องจาก COVID-19 ได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้บริโภค ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนหดตัว 7.6%QOQ SAAR และไวรัสส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างน้อยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ เนื่องจากเกือบทุกรัฐออกมาตรการให้พลเมืองอยู่ที่บ้าน (Stay-at-home order) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม ทำให้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รุนแรงกว่าไตรมาสแรก ซึ่งสะท้อนจากเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในเดือนเมษายน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสะสม 9 สัปดาห์นับตั้งแต่ 21 มีนาคมมีจำนวนทั้งหมด 38.6 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าช่วงวิกฤติการเงินปี 2008

คาดเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีเป็นต้นไป เนื่องจากสหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งบางรัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการบางส่วนแล้ว อย่างไรก็ดี แต่ละภาคส่วนอาจมีความเร็วในการฟื้นตัวไม่เท่ากัน โดยภาคอุตสาหกรรมมีโอกาสฟื้นตัวได้เร็วกว่าภาคบริการ เนื่องจากภาคบริการนอกจากมีผลกระทบรุนแรงกว่าแล้วยังมีปัจจัยกดดันจากผู้บริโภคที่ยังไม่คลายความกังวลเกี่ยวกับโรคระบาดมากนัก ในช่วงแรก นอกจากนี้ ตลาดแรงงานที่อ่อนแอเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยกดดันของการฟื้นตัวเศรษฐกิจในระยะต่อไป ด้วยอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนเมษายนสูงถึง 14.7% เทียบจากสิ้นปี 2019 อยู่ที่ 3.7% ทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจ หากเทียบกับปีก่อนหน้าจะคล้ายกับรูปตัว U (U-shape recovery) ทั้งนี้ EIC คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2020 จะหดตัวที่ 6.5%

รัฐบาลออกนโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 15% ของ GDP เพื่อช่วยประคับประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจจากผลกระทบไวรัส เช่น ภาคครัวเรือนจะได้รับเงินช่วยเหลือและสิทธิประโยชน์จากประกันการว่างงาน เพื่อบรรเทาภาระใช้จ่ายและชดเชยรายได้ ส่วนภาคธุรกิจจะได้รับเงินช่วยเหลือในรูปของเงินกู้และอื่น ๆ นอกจากนี้ รัฐบาลจะช่วยค้ำประกันสินเชื่อภาคธุรกิจบางส่วน (Loan guarantees) ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 19% ของ GDP อย่างไรก็ดี มาตรการการคลังไม่สามารถป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ในสหรัฐฯ ได้ เพียงแต่ช่วยบรรเทาผลกระทบบางส่วนและมีส่วนช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป

EIC คาด Fed คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0-0.25% ในปี 2020 เนื่องจากตั้งแต่ต้นปี Fed ได้ออกมาตรการทางการเงินชุดใหญ่เพื่อเสริมสภาพคล่องและสร้างความเชื่อมั่นกับตลาดการเงิน โดยโอกาสที่ Fed จะใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบนั้น EIC ประเมินว่ามีโอกาสค่อนข้างต่ำเพราะอัตราดอกเบี้ยติดลบอาจสะท้อนมุมมองเชิงลบของ Fed ซึ่งอาจทำให้ตลาดการเงินเกิดความกังวลเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี หากผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินรุนแรงยืดเยื้อกว่าที่ประเมิน Fed สามารถเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (QE) อย่างต่อเนื่อง และใช้นโยบายการเงินอื่น ๆ ประกอบเพื่อรักษาสภาพคล่องในระบบและเจาะจงช่วยภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น โครงการซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (CPFF) และโครงการปล่อยกู้แก่สถาบันการเงินเพื่อไปซื้อสินทรัพย์จากกองทุนตลาดเงิน (MMLF) เป็นต้น


นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 27 พฤษภาคม 2020 แข็งค่า 3.4%YTD เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ทำให้มีความต้องการถือสกุลเงินปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ EIC มองว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2020 จะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 31.2-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

• การส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ใน 4 เดือนแรกของปี 2020 ขยายตัว 4.6%YOY โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เสื้อผ้า (-14.2%YOY) เครื่องซักผ้า (-74.4%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-27.2%YOY) ขณะเดียวกันสินค้าบางประเภทมีการส่งออกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นในการทำงานจากที่บ้าน ได้แก่ ฮาร์ดดิสก์ (+56.6%YOY)
และเครื่องปรับอากาศ (+69.7%YOY) เป็นต้น สำหรับแนวโน้มการส่งออกไปสหรัฐฯ คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี จากการฟื้นตัวอุปสงค์ภายในของสหรัฐฯ

• การลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯ มายังไทยในปี 2019 ขยายตัว 7.7% โดยเม็ดเงินลงทุนที่สำคัญอยู่ในธุรกิจการผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจการผลิตเคมีภัณฑ์ และธุรกิจขายส่งและการขายปลีก สำหรับปี 2020 คาดว่าเงินลงทุนจากสหรัฐฯ จะลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก



Outlook_Q2_2020_1.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ