SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
08 มิถุนายน 2020

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2020 เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย โดยการฟื้นตัว ในครึ่งหลังจะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป (ไตรมาส 2/2020)

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2020

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 



COVID-19 และมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกทำให้หดตัวรุนแรง อย่างไรก็ดี หลังการระบาดของ COVID-19 เริ่มชะลอลงทำให้หลายประเทศเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2020 ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติด้านสุขภาพจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายประเทศต้องออกมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา โดยใช้นโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing) เช่น ขอความร่วมมือให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน งดกิจกรรมสันทนาการ และปิดการเดินทางทั้งภายในและระหว่างประเทศ โดยมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น นำไปสู่การหดตัวรุนแรงของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่ไตรมาส 1 และผลกระทบจะรุนแรงที่สุดในช่วงครึ่งแรกของไตรมาสที่ 2 เนื่องจากเป็นช่วงที่หลายประเทศทั่วโลกใช้มาตรการควบคุมโรคเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ EIC ยังพบอีกว่า มาตรการที่เข้มงวดส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั้งภาคบริการและภาคการผลิตชะลอลง โดยภาคบริการได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า อย่างไรก็ดี หลังมาตรการดังกล่าวช่วยให้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ชะลอลงอย่างได้ผลและทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงในหลายประเทศ ภาครัฐของหลายประเทศได้เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลงในช่วงเดือนพฤษภาคม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวขึ้นจากจุดต่ำสุด

ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เนื่องจากวิกฤติ COVID-19 ทำให้ภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงมากและถึงขั้นหดตัวในหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงภาวะขาดความเชื่อมั่นในตลาดการเงิน ภาครัฐจึงออกมาตรการทางการเงินและการคลังในขนาดใหญ่เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยนโยบายการคลังทั่วโลกสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) นโยบายสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ 2) นโยบายสนับสนุนภาคครัวเรือน และ 3) นโยบายเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐทั่วไป นอกจากนี้ ธนาคารกลางส่วนใหญ่ต่างปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงสู่ระดับที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ และออกมาตรการการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional measures) ที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน 2) มาตรการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคส่วนที่ได้รับความเดือดร้อน 3) มาตรการสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ และ 4) การผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์

EIC ปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ลงเหลือ -4%YOY และประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะมีลักษณะเป็นไปอย่างช้า ๆ (U-shaped recovery) แม้ว่ามาตรการทางการเงินและการคลังของภาครัฐอาจบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้บางส่วน แต่เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันจากอุปสงค์ภายในประเทศที่อาจฟื้นตัวได้ช้า เนื่องจากตลาดแรงงานยังอ่อนแอทั่วโลก สะท้อนจากอัตราการว่างงานที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนแก่รายได้ของภาคครัวเรือน ทำให้ครัวเรือนปรับพฤติกรรมเป็นเน้นออมเงินมากขึ้น (precautionary saving) ขณะเดียวกันภาคธุรกิจมีความเปราะบางสูงขึ้นจากผลกระทบด้านกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนจะถูกกดดันจากยอดขายที่ซบเซา งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น และความไม่แน่นอนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่สูงขึ้นในหลายประเทศในระยะต่อไป

ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้เป็นไปอย่างช้า ๆ โดย EIC ประเมินว่า การฟื้นตัวจะมีลักษณะเป็นรูปตัว U (U-shaped recovery) กล่าวคือ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2021 อาจไม่สูงพอที่จะชดเชยการหดตัวลงในปี 2020 ได้จึงทำให้โดยรวมแล้วมูลค่าของเศรษฐกิจปี 2021 จะอยู่ต่ำกว่าระดับมูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2021 ในกรณีที่ไม่มีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งการฟื้นตัวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ว่าภาครัฐแต่ละประเทศสามารถควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้และไม่มีการระบาดระลอก 2 เป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี หากมีการระบาดระลอก 2 ที่รุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่ารอบแรก ก็อาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อน COVID-19 ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซายาวนาน และมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไปมีมากขึ้น

EIC มองว่าความเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่เหลือของปี 2020 มี 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีนกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคมหลังสหรัฐฯ ออกมาตรการกดดันจีนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้จีนทำตามข้อเรียกร้อง 2) มาตรการภาครัฐขนาดใหญ่ที่ทำให้หนี้ภาครัฐทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความกังวลในประเด็นความสามารถในการชำระหนี้ และทำให้ความเสี่ยงในการถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงอาจเป็นข้อจำกัดในการทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในระยะต่อไป 3) ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และโอกาสถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทต่าง ๆ 4) ความเสี่ยงจากการระบาดระลอก 2 ของ COVID-19 ที่รุนแรงเทียบเท่าหรือมากกว่ารอบแรก


GB_Info_Outlook2Q2020.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ