SHARE
SCB EIC BRIEF
22 เมษายน 2020

Economic of Climate Change : ภาวะโลกร้อนกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร?

“Climate change increasingly poses one of the biggest long-term threats to investment” Christiana Figueres, secretary of the UNFCC



GettyImages-480500124.jpg


ในช่วงทศววรรษที่ผ่านมา ความเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกล้วนเป็นปัญหาด้านเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์และปัญหาทางสังคมเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนจากรายงานของ World Economic Forum ซึ่งได้สำรวจความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าและส่งผลกระทบต่อประชากรส่วนใหญ่ของโลก โดยรายงานของ WEF ในช่วงปี 2007-2010 ได้ระบุความเสี่ยงสำคัญที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและด้านภูมิรัฐศาสตร์เป็นหลัก เช่น การเกิดฟองสบู่ วิกฤตราคาน้ำมัน หรือสงครามในตะวันออกกลาง เป็นต้น แต่ล่าสุดในรายงานของ WEF ในปี 2020 นั้น ถือเป็นปีแรกที่ระบุความเสี่ยงระยะยาวที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรกเป็นความเสี่ยงทางด้านสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น เช่น สภาพอากาศแปรปรวน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจสูงที่สุด 5 อันดับแรกก็มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอยู่ทั้งสิ้น 3 อันดับ ซึ่งความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในช่วงที่ผ่านมา และก่อให้เกิดความเสียหายต่อหลายประเทศทั่วโลก

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อย่างไร
การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสามารถก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ก่อให้เกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ผลกระทบจากภัยแล้งนั้นทำให้กิจกรรมทางเกษตรกรรมลดลงส่งผลให้ผลผลิตและรายได้ลดลง และ 2) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินโดยตรง เช่น ความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่นในปี 2005 เกิดเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรินาในสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนหลายแสนหลัง โดยตั้งแต่ 2005 เป็นต้นมา จำนวนเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคตซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจสูงขึ้นตามด้วยเช่นกัน ดังที่แสดงในรูปที่1 โดยจากรายงาน WEF 2020 เปิดเผยว่าในปี 2018 เศรษฐกิจของโลกได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติรวมกว่า 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

มาตรการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจากทั่วโลก
การเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่สูงในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก ด้วยเหตุนี้มาตรการหลักที่รัฐบาลหลายประเทศรับมือกับปัญหาดังกล่าว คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาตรการที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ คือ มาตรการด้านราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme : ETS) โดยภาษีคาร์บอน คือ การที่ภาครัฐเรียกเก็บภาษีจากบริษัทโดยคำนวณจากปริมาณของคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือเกิดจากกระบวนการผลิตนั้น ๆ ขณะที่ระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือ การซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่บริษัทหนึ่งๆ สามารถปล่อยได้ เช่น หากใบอนุญาตจำกัดให้สามารถปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่เกิน 100 ตัน แต่บริษัทต้องการปล่อยก๊าซในปริมาณที่มากกว่า 100 ตัน บริษัทจำต้องทำการซื้อใบอนุญาตสำหรับปริมาณก๊าซส่วนเกินเสียก่อน ในทางกลับกัน หากบริษัทปล่อยก๊าซไม่ถึงปริมาณที่จำกัดไว้ สามารถนำส่วนที่เหลือขายให้แก่บริษัทที่มีความต้องการปล่อยก๊าซมากกว่าข้อกำหนดได้ จากมาตรการข้างต้น ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นกลายเป็นต้นทุนทางธุรกิจซึ่งส่งผลให้มีแรงจูงใจในการพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพทางการผลิตและการใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันราคาคาร์บอนเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 2 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันซึ่งถือว่าต่ำมาก โดย IMF กล่าวว่าหากต้องการจำกัดการเพิ่มอุณหภูมิของโลกให้ได้ตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีส (ไม่เกิน 2 °C ในปี 2030) นั้นราคาคาร์บอนควรจะอยู่ที่ประมาณ 75 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

อย่างไรก็ตาม แม้ในข้อตกลงปารีสนั้นมีจำนวนประเทศสมาชิกกว่า 197 ประเทศ แต่ในความเป็นจริงมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ปฏิบัติตามข้อตกลงอย่างจริงจัง เห็นได้จากการที่มีเพียง 55 ประเทศเท่านั้นที่มีการใช้มาตรการราคาคาร์บอนแบบภาคบังคับ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศในสหภาพยุโรป เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี และบางรัฐในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้ประเทศที่ปฏิบัติตามข้อตกลงรับภาระหนักกว่าประเทศอื่น ๆ เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดลดลงทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประเทศกลุ่มดังกล่าว นำไปสู่การถอนตัวของประเทศสมาชิกบางประเทศเช่น สหรัฐฯ ในปี 2017 เป็นต้น

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทย และมาตรการรับมือ
จากรายงานของ Global Climate Risk 2020 ไทยเป็นประเทศที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นอันดับ 8 ของโลก โดยที่ผ่านมา ความเสียหายที่เห็นได้ชัดเจนส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในรูปแบบภัยแล้งและน้ำท่วมเป็นหลัก จากรูปขวาจะพบว่าความเสียหายจากภัยแล้งและน้ำท่วมในอดีตมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่นในปี 2011 ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมกว่า 24,000 ล้านบาทซึ่งเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย โดยมีสาเหตุมาจากการได้รับผลกระทบจากพายุมากกว่า 5 ลูกในปีเดียวกันและผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาทำให้ฝนตกเร็วและมากกว่าปกติ ในขณะที่ในปี 2013 นั้นได้รับผลกระทบจากปรากฏการเอลนิโญซึ่งก่อให้เกิดภัยแล้งสร้างความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2020 นี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอาจเป็นปีที่แล้งที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 40 ปี เนื่องจากปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับปี 1979 ที่เป็นปีที่แล้งที่สุดและอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท

ในส่วนของมาตรการรับมือนั้น ในปัจจุบันทางภาครัฐไม่ได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบราคาคาร์บอนอย่างเป็นทางการ แต่ได้มีการใช้ระบบตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Trading Scheme: Thailand V-ETS) ซึ่งเกิดจากความสมัครใจและความร่วมมือกันของผู้ประกอบการในภาคเอกชนเอง โดยไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย จากข้อมูลปี 2018 มีบริษัทที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 33 บริษัท โดยมีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 114,697 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมมูลค่า ประมาณ 3 ล้านบาท หรือประมาณ 21.4 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ ไทยยังได้มีนโยบายต่าง ๆ เพื่อชะลอและรับมือกับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เช่น

1. แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2015-2050 โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นแนวทางให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถนำไปทำแผนปฏิบัติต่อไปเพื่อให้สอดคล้องตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC) ที่ได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 โดยประกอบด้วยเป้าหมายหลัก 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการปรับตัวต่อผลกระทบ 2) ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก และ 3) ด้านการสร้างขีดความสามารถและขับเคลื่อนการดำเนินงาน

2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2018) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 นโยบายหลักของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าโดยกระทรวงพลังงาน (PDP 2018) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเป็น 30% ของปริมาณความต้องการพลังงานไฟฟ้ารวมสุทธิภายในปี 2037 ซึ่งในปัจจุบันอยู่ที่ 23.8% อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในด้านการรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเนื่องจากศักยภาพสายส่งไฟฟ้ายังไม่สามารถรองรับกับยอดเป้าหมายที่จะเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ประเมินว่าปัญหานี้จะได้รับการแก้ไขทั้งหมดภายในปี 2024

3. แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2018-2037) ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 6 ข้อ ได้แก่ 1) การจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคแก่ชุมชน เช่น การพัฒนาการประปา 2) การสร้างความมั่นคงของน้ำในส่วนของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมโดยการพัฒนาระบบกักเก็บและระบบกระจายน้ำ 3) การจัดการน้ำท่วม เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำโดยการพัฒนาอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำ 4) การจัดการคุณภาพน้ำโดยการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสีย 5) การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าและลดการพังทลายของดินในพื้นที่เสี่ยง 6) การบริหารจัดการ เช่น การปรับปรุงกฎหมายและจัดทำแผนบริหารต่าง ๆ

จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกได้อย่างมาก ซึ่งหากไม่มีมาตรการรับมืออาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตของประเทศนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในประเทศกลุ่มเสี่ยง เช่น ประเทศที่สภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ประเทศที่ยังไม่มีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐานในการรับมือกับปัญหานี้ และประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงเนื่องจากคนจนมีความสามารถในการปรับตัวได้น้อยกว่าคนรวย ในกรณีของประเทศไทยนั้นถือว่าเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นในการรับมือกับปัญหานี้ควรดำเนินการแผนดังกล่าวอย่างเร่งด่วนเพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยสามารถดำเนินการได้หลายแบบตั้งแต่การปลูกฝัง การให้ความรู้ ไปจนถึงการใช้มาตรการทางกฎหมายในอนาคต

รูปที่ 1 : จำนวนครั้งของการเกิดภัยพิบัติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมูลค่าความเสียหายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน

pic0000001.png
 

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ NatCatService, MunichRe, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและกรมทรัพยากร
                                           

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 22 เม.ย. 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ