SHARE
SCB EIC BRIEF
19 มีนาคม 2020

Japanification: เมื่อเศรษฐกิจติดอยู่ในกับดัก

“There's active debate on economic policies in Europe and the United States due to concern over prolonged low growth and inflation - so-called Japanif


iStock-1126717307.jpg

Japanification: เมื่อเศรษฐกิจติดอยู่ในกับดัก

“There's active debate on economic policies in Europe and the United States due to concern over prolonged low growth and inflation - so-called Japanification”

Bank of Japan board members, 28 มกราคม 2020

Japanification หมายถึง ลักษณะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังประสบวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1990 จนถึงปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า the lost decades ของญี่ปุ่น โดยลักษณะจำเพาะของ Japanification ประกอบไปด้วย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่มีระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง รวมถึงเป็นสังคมสูงอายุ โดยจากตารางที่ 1 จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 0.6% ต่อปี (ค่าเฉลี่ย 11 ปีย้อนหลัง ช่วงปี 2008-2019) ด้านอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 0.4% ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 2019 อยู่ในระดับต่ำมากที่ -0.1% อย่างไรก็ดี ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2019 สูงถึง 237.6% และญี่ปุ่นยังมีประชากรสูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เป็นสัดส่วนมากถึง 34% ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ภาวะ Japanification เปรียบเสมือนกับดักทางเศรษฐกิจที่ทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการเติบโตต่ำต่อเนื่องหลายปี โดยแม้จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายครั้ง แต่เศรษฐกิจก็ยังไม่ปรับดีขึ้นอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้ ภาวะ Japanification จึงเป็นสถานการณ์ที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกไม่อยากประสบนัก

ตารางที่ 1 ปัจจัยสำคัญที่บ่งบอกภาวะเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น

1111.png


ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ World Bank และ CEIC

Japanification เกิดขึ้นได้อย่างไร?

Japanification มีต้นกำเนิดในช่วงประมาณปี 1990-1991 เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดภาวะวิกฤตฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทางธนาคารกลางญี่ปุ่นมีการตอบสนองนโยบายการเงินที่ค่อนข้างช้า จึงทำให้ภาวะหนี้เสีย (NPL) ปรับตัวสูงขึ้นมาก แม้ว่าหลังจากนั้น ธนาคารกลางญี่ปุ่นเริ่มตอบสนองโดยการลดอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง จนกระทั่งเหลือ 0% ในปี 1999 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ Zero interest rate policy (ZIRP) แต่ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ส่วนหนึ่งเกิดจากโครงสร้างประชากรญี่ปุ่นที่เข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น ทำให้พฤติกรรมของประชาชนมีลักษณะเน้นการออมมากกว่าใช้จ่ายโดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี นอกจากนี้ การที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทที่ใกล้ล้มละลายหรือไม่มีประสิทธิภาพ (Zombie firms) สามารถดำรงอยู่ได้จากต้นทุนกู้ยืมที่ต่ำ ซึ่งส่งผลต่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศให้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นในระยะยาว ทั้งนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่โตต่ำต่อเนื่อง ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (expected inflation) ที่ต่ำลง และนำไปสู่ภาวะเงินฝืดในภายหลังอีกด้วย

เมื่ออัตราดอกเบี้ยไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงใช้นโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยผ่านการกู้ในประเทศเป็นหลัก แต่จากพฤติกรรมของประชากรญี่ปุ่นที่เน้นการออม จึงทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจไม่เป็นผลนัก นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีภาระค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการของประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงเป็นอีกแรงกดดันทำให้หนี้สาธารณะของญี่ปุ่นปรับเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งข้อจำกัดด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงโครงสร้างประชากร จึงทำให้ประเทศญี่ปุ่นยังคงติดอยู่ในกับดักของ “การเติบโตต่ำ ดอกเบี้ยต่ำ และเงินเฟ้อต่ำ”

ประเทศใดมีความเสี่ยงจะเป็น Japanification ในปัจจุบัน?

การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกในปี 2008 จนทำให้อัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศลดต่ำลงใกล้ 0% หรือบางประเทศมีอัตราดอกเบี้ยติดลบไปแล้ว แต่กลับกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่รวดเร็วและมีประสิทธิผลนัก ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจหลายแห่งทั่วโลกอาจเข้าสู่ภาวะ Japanification ได้ โดยกลุ่มเศรษฐกิจที่มีการพูดถึงด้านความเสี่ยงที่อาจประสบ Japanification  ได้แก่ สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

โดยภาพรวมแล้วเศรษฐกิจสหภาพยุโรปคล้ายคลึงกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น สหภาพยุโรปมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกในปี 2008 เป็นต้นมา เช่นเดียวกันกับอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐฯ แม้อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับต่ำและหนี้สาธารณะในระดับที่สูงเกิน 100% แต่เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่นแล้วอาจยังไม่ใกล้เคียงเท่ากับสหภาพยุโรปเพราะมีอัตราการเติบโตและอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยที่สูงกว่ารวมถึงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงหลัง นอกจากนี้ สัดส่วนผู้สูงอายุซึ่งอาจชะลอการบริโภคในประเทศยังคงต่ำกว่าสหภาพยุโรป แต่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนกังวลเกี่ยวกับปัญหา Japanification ในสหรัฐฯ จากการที่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับในอดีตซึ่งอาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีข้อจำกัดในการใช้นโยบายการเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้ จากคุณลักษณะที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะติดกับดักทางเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่ญี่ปุ่นประสบ

ๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅๅ.png
ภภภภภภภภภภภภภภภภภภภ.png
ุุุุุุุุุุุุุุุ.png



ประเทศไทยเข้าใกล้ภาวะ Japanification หรือยัง?

ในกรณีของไทย พบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะ Japanification ในอนาคต โดยแม้ว่าในปัจจุบัน ความเสี่ยงที่จะเกิด Japanification ในไทยยังไม่ชัดเจนนัก สะท้อนจากอัตราเติบโตของเศรษฐกิจ และอัตราดอกเบี้ย ที่ยังไม่ได้ต่ำมาก และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือเทียบกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ แต่ด้วยโครงสร้างประชากรของไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์[1] ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ประกอบกับแนวโน้มอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่ลดต่ำลงเรื่อย ๆ ในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นความเสี่ยงในอนาคตที่ไทยอาจเข้าสู่กับดัก Japanification ได้

สำหรับแนวทางหลีกเลี่ยงการเกิด Japanification ในไทย นอกจากการดูแลเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านทั้งมาตรการการเงินและการคลังแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย ผ่านการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Productivity) ด้วยการ training และ/หรือ reskill นอกจากนี้ ยังต้องเพิ่มการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคต



[1] สัดส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 20% หรือสัดส่วนผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีมากกว่า 14% ของประชากรทั้งหมด

                                            

เผยแพร่ในการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 19 มี.ค. 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ