SHARE
SCB EIC BRIEF
20 กุมภาพันธ์ 2020

อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมั่นใจด้วยบล็อกเชน

อุตสาหกรรมก่อสร้างถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล


iStock-1185010038.jpg

อุตสาหกรรมก่อสร้างถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่กำลังเริ่มเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ในปี 2016 พบว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างถือเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเกือบจะน้อยที่สุดเป็นรองก็เพียงอุตสาหกรรมเกษตรเท่านั้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากราคาของเทคโนโลยีดิจิทัลที่อาจมีราคาสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อีกทั้งบุคลากรที่มีความสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลยังมีจำนวนน้อย  รวมถึงลักษณะของอุตสาหกรรมก่อสร้างที่มีลักษณะที่ค่อนข้างต้องปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะเฉพาะของพื้นที่หน้างาน ตลอดจนอุตสาหกรรมก่อสร้างยังต้องมีการติดต่อประสานงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างเป็นจำนวนมาก ทั้งการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ การประสานงานภายในของผู้ประกอบการ และการประสานงานระหว่างผู้ประกอบการ เช่น ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง บริษัทที่ปรึกษา ผู้รับเหมาช่วง ทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาใช้ต้องมีการปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็วและยืดหยุ่นตามหน้างาน อีกทั้งยังต้องสามารถที่จะสื่อสารระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทั้งหมดได้อย่างแม่นยำอีกด้วย
 

ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมก่อสร้าง โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างยังคงประสบกับปัญหาเดิม ๆ  เช่น การก่อสร้างล่าช้าทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น (cost overrun) ราคาวัสดุก่อสร้างที่มีความผันผวน ค่าแรงที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผนวกกับกระแสการปรับเปลี่ยนองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วม (digital transformation) ทำให้ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผู้เล่นในอุตสาหกรรมก่อสร้างเริ่มมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาแก้ปัญหาเหล่านี้มากขึ้น เช่น การสำรวจหน้างานก่อสร้างโดยการใช้โดรน (drone) การเขียนแบบและสร้างโมเดลโดย Building Information Modeling (BIM) การซื้อขายวัสดุก่อสร้างออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้อมูลในการก่อสร้างจากเทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ยังคงไม่ถูกส่งผ่านอย่าง real time ไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมดใน value chain เช่น บริษัทผู้ค้าและผู้ขนส่งวัสดุก่อสร้าง สถาบันการเงิน หรือแม้กระทั่งเจ้าของโครงการก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งการกระจายข้อมูลเหล่านี้ไปยังผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องจะทำให้การบริหารงานก่อสร้างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 

บล็อกเชน (Blockchain) เป็นอีกเทคโนโลยีดิจิทัลหนึ่งที่สามารถแก้ไขปัญหาการส่งผ่านข้อมูลของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในโครงการก่อสร้างทั้งหมด โดย Thailand Blockchain เว็บไซต์รวบรวมข่าวสารเทคโนโลยีบล็อกเชน นิยามความหมายของบล็อกเชนว่า บล็อกเชนเปรียบเสมือนเครือข่ายฐานข้อมูลที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทำให้ทุกฝ่ายได้รับข้อมูลที่ตรงกัน โดยบล็อกเชนจะเก็บรักษาข้อมูลเก่าที่มีอยู่แล้วและข้อมูลใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างอัตโนมัติ โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บใน Block หรือแหล่งเก็บบันทึกข้อมูลและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จึงยากต่อการทุจริต อีกทั้ง ผู้ที่จะเข้าถึงฐานข้อมูลได้ต้องมีการเข้ารหัส ทำให้เกิดความปลอดภัยและสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้ใช้งาน นอกจากนี้ บล็อกเชนยังช่วยลดปริมาณเอกสารกระดาษซึ่งเกิดจากการส่งข้อมูลแบบดั้งเดิมอีกด้วย
 

สำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง บล็อกเชนสามารถเข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างได้ใน 4 ส่วนสำคัญ ได้แก่ 1. สัญญาอัจฉริยะ (Smart contract)  2. การบริหารการก่อสร้าง 3.การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management)  และ 4.การชำระเงิน (Payment) โดย PlanGrid ซึ่งเป็นบริษัทซอฟท์แวร์งานก่อสร้างรายสำคัญ ได้ให้รายละเอียดการใช้งานบล็อกเชนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ดังนี้ 1. สัญญาอัจฉริยะ (Smart contract) ซึ่งบล็อกเชนสามารถใช้บันทึกและติดตามข้อมูลในการทำสัญญาต่าง ๆ เช่น สัญญาว่าจ้างก่อสร้าง สัญญาการซื้อวัสดุก่อสร้าง หลักประกันซอง และหลักประกันราคา เป็นต้น  2. การบริหารการก่อสร้างโดยเป็นการทำควบคู่ไปกับแบบจำลองสารสนเทศอาคาร (Building Information Modeling: BIM) ที่ใช้เก็บและบริหารข้อมูลตั้งแต่การวางแนวคิดของโครงการ การออกแบบ จนถึงการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างสามารถเข้าถึง แชร์ และให้ข้อเสนอแนะในการก่อสร้างได้อย่าง real time  3.การบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain management) เช่น การใช้บล็อกเชนเพื่อตรวจสอบการจัดส่งวัสดุก่อสร้างให้เหมาะสมกับปริมาณที่ต้องการใช้และปริมาณคงคลังที่เหลืออยู่  และ 4.การชำระเงิน (Payment) เช่น การใช้บล็อกเชนเพื่อตรวจสอบธุรกรรมการรับ/จ่ายเงินระหว่างผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ทำให้ธุรกรรมการเงินเหล่านี้โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้โดยผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้าง
 

เมื่อหันกลับมามองการใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมไทย ในปัจจุบัน อีไอซี พบว่า บล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างบ้างแล้ว เช่น บริษัท Digital Ventures ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (SCB) ได้จับมือกับ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (SCG) ในการพัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้เทคโนโลยี B2P (Blockchain Solution for Procure-to-Pay) ครอบคลุมเครือข่าย Supply Chain ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำในกลุ่มธุรกิจของ SCG และกลุ่มบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเหล็กรายสำคัญของไทย ที่ได้ร่วมมือกับบริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด ผู้ผลิตซอฟแวร์และอีคอมเมิร์ซในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ในการพัฒนาโซลูชัน (solution) สำหรับงานขาย โดยการนำบล็อกเชนมาประยุกต์ใช้งานด้านเอกสารซื้อขายออนไลน์เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และสามารถตรวจสอบได้
 

อย่างไรก็ดี ในอนาคต อีไอซี มองว่า ภาครัฐควรเป็นผู้สนับสนุนในการสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ในการใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจากภาครัฐถือเป็นศูนย์กลางแหล่งข้อมูลในการก่อสร้างทั้งงานก่อสร้างของภาครัฐและภาคเอกชน เริ่มตั้งแต่ข้อมูลการยื่นแบบก่อสร้าง ข้อมูลการรับจ่ายเงินค่าก่อสร้างในกรณีโครงการของภาครัฐ ตลอดจนข้อมูลการบำรุงรักษาและข้อมูลการปรับปรุงโครงการก่อสร้าง อีกทั้งภาครัฐยังสามารถสร้างแรงจูงใจจากการให้สิทธิพิเศษต่อผู้ประกอบการที่ใช้บล็อกเชนในการส่งผ่านข้อมูลการก่อสร้างอีกด้วย ซึ่งในระยะแรก อีไอซี เสนอว่าภาครัฐอาจเริ่มต้นจากการใช้ BIM กับโครงการก่อสร้างภาครัฐ โดยพยายามให้บริษัทสถาปนิก บริษัทที่ปรึกษาก่อสร้าง และบริษัทก่อสร้าง ยื่นแบบโดยใช้ BIM ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาครัฐจะได้ข้อมูลชุดเดียวกัน ซึ่งจะทำให้เกิดความสะดวกในการก่อสร้างโครงการและบริหารโครงการ ซึ่งการใช้ BIM จะช่วยสร้างฐานข้อมูลที่สามารถต่อยอดไปสู่การใช้บล็อกเชนต่อไปในอนาคต
 

ถึงแม้ว่า การใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมก่อสร้างยังอยู่ในระหว่างการพัฒนาในหลายประเทศ แต่เมื่อนำมาใช้จริงจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ว่าจ้าง ผู้รับเหมา ผู้ค้าวัสดุก่อสร้าง ในการประเมินราคาก่อสร้าง ควบคุมการก่อสร้าง ลดปัญหางบประมาณบานปลาย รวมถึงเพิ่มความเชื่อถือระหว่างผู้ประกอบการทั้งหมดใน value chain อีกด้วย

 

____________________

 

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ