SHARE
OUTLOOK:ASEAN 4 ECONOMY
21 มกราคม 2020

เศรษฐกิจอาเซียน 4

ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกที่ลดลงและนโยบายที่ผ่อนคลายต่อเนื่องภายในประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะต่อไป

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจอาเซียน 4 : ความไม่แน่นอนทางการค้าโลกที่ลดลงและนโยบายที่ผ่อนคลายต่อเนื่องภายในประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตในระยะต่อไป

เศรษฐกิจอาเซียน 4 ในไตรมาส 3 ปี 2019 ภาพรวมยังคงมีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยแม้จะเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในฟิลิปปินส์และสิงคโปร์
โดยความเสี่ยงหลักยังคงมาจากผลกระทบของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 (phase 1) และการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ-จีนบางส่วนมีแนวโน้มส่งผลให้การส่งออกและความเชื่อมั่นทางธุรกิจกลับมาฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ทั้งนี้การบริโภคภายในประเทศของอินโดนีเซียและมาเลเซียยังคงแข็งแกร่ง รวมถึงภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดีในฟิลิปปินส์และสิงคโปร์เป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกและการลงทุนภายในชะลอตัว ธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังคงใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคและเศรษฐกิจโดยรวม อีไอซีคาดว่านโยบายการเงินในภาพรวมจะคงอยู่ในระดับผ่อนคลายในระยะต่อไปเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในแต่ละประเทศยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ขณะเดียวกัน นโยบายการคลังจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในด้านการปฏิรูปเชิงโครงสร้างซึ่งจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพและศักยภาพทางเศรษฐกิจในระยะกลาง-ยาว

ทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก การส่งออก การบริโภค และปัจจัยเฉพาะรายประเทศ

อินโดนีเซีย เติบโตชะลอลงเล็กน้อยที่ 5.02%YOY ในไตรมาส 3 ของปี 2019 จาก 5.05%YOY ในไตรมาส 2 โดยปัจจัยหลักยังคงมาจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมวดน้ำมันและการผลิตซึ่งหดตัว 20.4%YOY และ 4.1%YOY ในไตรมาส 3 ตามลำดับ ทั้งยังมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรป (EU) อาจลดการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของอินโดนีเซีย ทั้งนี้อัตราการว่างงานที่ต่ำและการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้งในปี 2019 ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศยังเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังออกนโยบายการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับต่ำที่ราว 30% ของ GDP ในปี 2019 อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่ลดลงและจากการการบริโภคภายในประเทศที่แข็งแกร่งและการปฏิรูปเชิงโครงสร้างจากภาครัฐ โดยคาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตอยู่ที่ 5.04% ในปี 2019 และ 5.07% ในปี 2020

มาเลเซีย เติบโตชะลอลงที่ 4.4%YOY ในไตรมาส 3 ของปี 2019 จาก 4.9%YOY ในใตรมาส 2 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอลงเกือบทุกด้าน โดยเฉพาะการลงทุนและการส่งออกซึ่งยังคงชะลอต่อเนื่องโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าน้ำมันซึ่งหดตัว 6.5%YOY และ 3.5%YOY ในไตรมาส 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ภาพรวมภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวจากยอดค้าปลีกที่ขยายตัว 7.05% ในไตรมาส 3 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing PMI) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 50.0 ในเดือนธันวาคม แต่มาตรการรัดเข็มขัดทางการคลังของภาครัฐอาจทำให้นโยบายการคลังไม่เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากเท่าที่ควรจะเป็น อีไอซีมองว่าการเติบโตในอนาคตจะมาจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภคภายในประเทศ ในขณะที่ความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกลดน้อยลงจากตลาดโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะเติบโตอยู่ที่ 4.5% ในปี 2019 และ 4.4% ในปี 2020

ฟิลิปปินส์ เติบโตเพิ่มขึ้นที่ 6.2%YOY ในไตรมาส 3 ของปี 2019 จาก 5.5%YOY ในไตรมาส 2 จากการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นหลังผ่านงบประมาณปี 2019 ที่ล่าช้ามาได้สำเร็จ ซึ่งภาครัฐได้เร่งใช้จ่ายเพื่อให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ในงบประมาณตามโครงการ Build Build Build ขณะเดียวกัน การส่งออกของฟิลิปปินส์ยังขยายตัวเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคแม้จะโตเพียงเล็กน้อยที่ 1%YOY ในไตรมาส 3 และภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดีที่ 22%YOY อย่างไรก็ตาม การบริโภคและการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศชะลอตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้อีไอซีมองว่าการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางและอัตราการว่างงานที่ต่ำจะช่วยให้การบริโภคและการขยายตัวของสินเชื่อกลับมาฟื้นตัวในระยะข้างหน้า ขณะเดียวกัน อีไอซีมองว่าการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจที่สำคัญเนื่องจากภาครัฐได้เพิ่มงบประมาณการใช้จ่ายในปี 2020 และต้องเร่งใช้จ่ายเพื่อให้ได้ตามเป้า รวมถึงสถานการณ์ในตลาดโลกที่ดีขึ้นจะช่วยสนับสนุนด้านการส่งออกและการลงทุน โดยคาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะเติบโตอยู่ที่ 5.7% ในปี 2019 และ 6.2% ในปี 2020

สิงคโปร์ เติบโตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 0.5%YOY ในไตรมาส 3 ของปี 2019 จาก 0.2%YOY ในไตรมาส 2 การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์โดยตรงเนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์พึ่งพาการส่งออกและนำเข้า และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจภายในประเทศยังคงชะลอตัวจากการบริโภคที่หดตัว แต่ภาคการผลิตมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวหลังดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51.0 ในเดือนธันวาคม ขณะที่การประท้วงในฮ่องกงได้ส่งผลบวกต่อสิงคโปร์จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสิงคโปร์แทน โดยขยายตัว 3.5%YOY ในไตรมาส 3 ในระยะต่อไป อีไอซีมองว่าสงครามการค้าที่มีแนวโน้มดีขึ้นรวมถึงการผ่อนคลายนโยบายการเงินจะช่วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจสิงค์โปร์จะเติบโตอยู่ที่ 0.5% ในปี 2019 และ 1% ในปี 2020

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ