SHARE
OUTLOOK:JAPAN ECONOMY
21 มกราคม 2020

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

เติบโตชะลอลงแม้ได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภายใน และการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 


iStock-511092543-(1).jpg

เศรษฐกิจญี่ปุ่น : เติบโตชะลอลงแม้ได้แรงหนุนจากอุปสงค์ภายใน และการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัว


เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต 1.7%YOY ในไตรมาส 3 ปี 2019 หรือ 1.8%QOQ SAAR จากอุปสงค์ภายในที่ยังแข็งแกร่งโดยการบริโภคภาคครัวเรือน, การลงทุนภาคเอกชน,
และการใช้จ่ายภาครัฐยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาคเอกชนลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีโดยเฉพาะในภาคบริการเพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน การเร่งใช้จ่ายของครัวเรือนก่อนการขึ้นภาษีผู้บริโภคในเดือนตุลาคมปี 2019 และอัตราการว่างงานเฉลี่ยยังต่ำที่ 2.4% ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมการผลิตโดยเฉพาะหมวดยานยนต์และภาคการส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้การส่งออกติดลบต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2019 อย่างไรก็ดี การส่งออกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์และสินค้าทุนจากการเริ่มฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี 5G ทั้งนี้อีไอซีมองเศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2019 ยังคงขยายตัวราว 0.9%

เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มชะลอลงในปี 2020 จากภาคการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าและการบริโภคที่ชะลอหลังเร่งใช้จ่าย คาดว่าเติบโตราว 0.5% อีไอซีมองว่าผลกระทบจากการขึ้นภาษีในเดือนตุลาคมปี 2019 จะส่งผลให้การบริโภคชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 แต่ผลกระทบไม่มากเท่ากับการขึ้นภาษีในปี 2014 เนื่องจากรัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการเพื่อรองรับผลกระทบไว้ล่วงหน้า เช่น การคงภาษีสินค้าหมวดอาหาร, เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และหนังสือพิมพ์เท่าเดิมที่ 8% และให้เงินอุดหนุนบางส่วนแก่ผู้บริโภค ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังมีส่วนสนับสนุนการเติบโตต่อเนื่องจากแนวโน้มการลงทุนเพื่อทดแทนปัญหาขาดแคลนแรงงาน และภาคการท่องเที่ยวที่จะได้แรงหนุนจากงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 อย่างไรก็ดี การส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าจากอุปสงค์โลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว และความไม่แน่นอนจากการเจรจาทางการค้าทั้งข้อตกลงสหรัฐฯ-จีนในระยะต่อไป แม้ผลการเจรจาช่วงปลายปี 2019 จะส่งผลเชิงบวกต่อภาคธุรกิจในแง่การลดความเสี่ยงของผลกระทบจากห่วงโซ่อุปทานจากจีนและความเสี่ยงที่ญี่ปุ่นจะถูกเก็บภาษีหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน

รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 26 ล้านล้านเยน ซึ่งรวมงบเพิ่มเติม FY2019 และงบเบื้องต้นสำหรับ FY2020 เพื่อสนับสนุนการเติบโตและรองรับความผันผวนในเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากการขึ้นภาษีผู้บริโภค อีไอซีมองว่าแผนการกระตุ้นนี้จะเริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ชัดเจนตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ปี 2020 แต่ผลอาจไม่มากเนื่องจากการใช้จ่ายบางส่วนจะอยู่ในโครงการเดิมของภาครัฐที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากปี 2019

ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือ ผลกระทบหลังการขึ้นภาษีผู้บริโภค การแข็งค่าของเงินเยนและความคืบหน้าข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น การขึ้นภาษีมีแนวโน้มทำให้การบริโภคชะลอลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 หลังครัวเรือนเร่งใช้จ่าย และแรงกดดันจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นจะส่งผลลบซ้ำเติมต่อภาคการส่งออกญี่ปุ่นที่ยังฟื้นตัวอย่างเปราะบางในระยะข้างหน้าได้ นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นในปลายปี 2019แม้ว่าได้บรรลุในประเด็นการเปิดตลาดสินค้า แต่รายละเอียดของข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับภาษียานยนต์และค่าเงินเยนยังไม่มีความชัดเจนและขึ้นอยู่กับผลการเจรจากับสหรัฐฯ ในระยะต่อไป


นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินเยนอ่อนค่าราว 1.07%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 15 มกราคม 2020 อีไอซีมองเงินเยนยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องจาก BOJ มีข้อจำกัดในการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการลดดอกเบี้ยนโยบายเมื่อเทียบกับ Fed และ ECB รวมถึงนักลงทุนยังมองเงินเยนเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven) ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอน

• การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2019 หดตัวที่ 1.3%YOY นำโดยการหดตัวในสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องโทรสาร,
โทรศัพท์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก อีไอซีมองว่าการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในระยะต่อไปอาจฟื้นตัวตามการส่งออกของญี่ปุ่นในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนตามการฟื้นตัวของวัฏจักรสินค้า IT บางส่วน

• จากข้อมูลขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) บ่งชี้เม็ดเงินลงทุนสุทธิจากญี่ปุ่นเข้ามาในไทยในช่วง 3 ไตรมาสแรกปี 2019 อยู่ที่ราว 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2018 อย่างไรก็ดี จากข้อมูลของธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ธุรกิจญี่ปุ่นยังมองไทยเป็น
เป้าหมายที่น่าสนใจในการเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศ ASEAN จากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่การแข็งค่าของเงินบาทอาจเป็นอุปสรรคในระยะต่อไปสำหรับการตัดสินใจลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะบริษัทที่ใช้ไทยเพื่อเป็นฐานการส่งออกในภูมิภาค

Outlook_Q1_2020_JP.jpg




ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ