SHARE
OUTLOOK:CLMV ECONOMY
21 มกราคม 2020

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี

เติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งจะช่วยรองรับผลกระทบจากความเสี่ยงภายนอก

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

iStock-532263498.jpg
เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี : เติบโตในอัตราที่ชะลอลง แต่อุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งจะช่วยรองรับผลกระทบ
จากความเสี่ยงภายนอก


เศรษฐกิจกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวราว 6-7% ในปี 2019 และ 2020 การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีผ่านการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคจากผลกระทบสงครามการค้าถือเป็นผลดีบางส่วนต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี โดยเฉพาะในเวียดนามอย่างน้อยในระยะสั้น รวมถึงปัจจัยบวกจากข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ-จีนระยะที่ 1 (เฟส 1) และการยกเลิกและลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ-จีนบางส่วนซึ่งสะท้อนสัญญาณว่าสถานการณ์การค้าโลกเริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย นอกจากนี้ การบริโภคภายในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวจะช่วยรองรับผลกระทบทางลบจากความเสี่ยงภายนอกที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลง ทั้งนี้เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวียังคงเผชิญความเสี่ยงรายประเทศทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก โดยกัมพูชาและเมียนมาอาจถูกสหภาพยุโรป (EU) ถอนสิทธิพิเศษทางการค้า Everything But Arms (EBA) ลาวยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาหนี้สาธารณะที่สูงและทุนสำรองระหว่างประเทศที่ต่ำ ในขณะที่เวียดนามอาจเผชิญนโยบายกีดกันการค้าจากสหรัฐฯ มากขึ้น หากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเวียดนามเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงิน (currency manipulator)

เศรษฐกิจกัมพูชาคาดว่าจะเติบโตชะลอลงที่ราว 7.0% ในปี 2019 และ 6.8% ในปี 2020 จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง โดยภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเติบโตชะลอลง ขณะเดียวกัน กัมพูชายังเผชิญความเสี่ยงที่จะสูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้า EBA จากสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักและคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการส่งออกทั้งหมดใน 9 เดือนแรกของปี 2019 และอาจทำให้กัมพูชาสูญเสียความได้เปรียบด้านการส่งออกในระยะต่อไป นอกจากนี้ การขยายตัว อย่างรวดเร็วของสินเชื่อรายย่อย (microfinance loans) โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อการบริโภคอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินในอนาคต อย่างไรก็ดี กัมพูชายังสามารถส่งออกทดแทนไปประเทศคู่ค้าอื่น เช่น สหรัฐฯและจีนได้ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐจากฐานะการคลังที่ยังแข็งแกร่งจะเป็นอีกปัจจัยที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจลาวน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จาก 6.4% ในปี 2019 เป็น 6.5% ในปี 2020 เศรษฐกิจลาวชะลอตัวลงเนื่องจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติในปี 2018 ผลกระทบของสงครามการค้า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งลาวพึ่งพาค่อนข้างมากทั้งด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน ขณะเดียวกัน ลาวยังอาจเผชิญความเสี่ยงในระยะสั้น จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่ค่อนข้างต่ำ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด รวมถึงภาระทางการคลังเนื่องจากรายได้จากการเก็บภาษียังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจลาวมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงภายนอกสูง อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทางรถไฟลาว-จีน และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ รวมถึงนโยบายปฏิรูปจากภาครัฐในการพัฒนาการจัดเก็บรายได้และความไม่แน่นอนในตลาดโลกที่ลดลงจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลาวได้ในระยะกลาง

คาดเศรษฐกิจเมียนมายังคงฟื้นตัวช้าจาก 6.2% ใน ปี 2019 เป็น 6.3% ในปี 2020 ท่ามกลางความเสี่ยงภายในประเทศก่อนถึงการเลือกตั้งในปี 2020 การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมาหดตัวอย่างมีนัยจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอและนักลงทุนชาวตะวันตกที่ยังคงชะลอการลงทุนตั้งแต่วิกฤตโรฮิงญาในรัฐยะไข่ในปี 2017 แต่นโยบายการปฏิรูป การเปิดเสรีทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และภาวะธุรกิจภายในประเทศที่ยังดีสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมที่ระดับ 52.7 ในเดือนพฤศจิกายน จะเป็นปัจจัยช่วยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจมาจากวิกฤติโรฮิงญาที่ยังคงอยู่ในระหว่างการแก้ไข ซึ่งทำให้เมียนมายังมีความเสี่ยงที่จะถูกถอนสิทธิพิเศษทางการค้า EBA จากสหภาพยุโรป

คาดเศรษฐกิจเวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้อานิสงค์จากสงครามการค้าจะขยายตัว 6.8%YOY ใน ปี 2019 และ 6.7%YOY ในปี 2020 ด้วยแรงส่งจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการบริโภคภาคเอกชนซึ่งได้แรงหนุนจากตลาดแรงงานภายในประเทศที่แข็งแกร่งและภาวะเงินเฟ้อที่ไม่สูงนักจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกัน การปรับโครงสร้างห่วงโซ่การผลิตจากการที่บริษัทผู้ผลิตจีนและบริษัทข้ามชาติหลายแห่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยหนุนเศรษฐกิจ แม้การส่งออกจะมีแนวโน้มชะลอตัว ในขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้างจะช่วยผลักดันการลงทุนทั้งจากภาคเอกชนภายในประเทศและการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ความเสี่ยงจากการถูกขึ้นบัญชีเป็นประเทศผู้บิดเบือนค่าเงินจากทางการสหรัฐฯ ยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า

ในภาพรวม ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีในปี 2020 คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีพึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก แม้จะมีสัญญาณที่ดีขึ้นหลังการเจรจาการค้าเฟส 1 อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงเฉพาะรายประเทศที่ยังคงอยู่และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องใน ลาว กัมพูชา และเมียนมา อาจสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่นในเรื่องความเสี่ยงต่อการอ่อนค่าอย่างฉับพลันหากเกิดภาวะเงินทุนไหลออก โดยเฉพาะในลาวซึ่งมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศค่อนข้างต่ำ

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ