SHARE
OUTLOOK:IN FOCUS
21 มกราคม 2020

In focus : สำรวจเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย : รายได้-การใช้จ่ายลดครั้งแรกในรอบ 10 ปี หนี้สูง การเงินเปราะบาง

เศรษฐกิจภาคครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจากรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

Capture.JPG

สำรวจเศรษฐกิจภาคครัวเรือนไทย : รายได้-การใช้จ่ายลดครั้งแรกในรอบ 10 ปีหนี้สูง การเงินเปราะบาง


จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทย (Household Socio-Economic Survey หรือ SES) ซึ่งจัดทำด้วยการสำรวจครัวเรือนจำนวนกว่า 4 หมื่นครัวเรือนในทุก ๆ 2 ปีโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ อีไอซีนำเอาข้อมูลล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 มาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบข้อสรุปเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจภาคครัวเรือนว่า

“เศรษฐกิจภาคครัวเรือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะซบเซา สะท้อนจากรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนไทยที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี ประกอบกับสถานะทางการเงินที่มีความเปราะบางมากขึ้น ทั้งจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นและกันชนทางการเงินที่ลดลง ในสภาวะลักษณะนี้กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่มครัวเรือนรายได้น้อยโดยเฉพาะกลุ่มที่มีภาระหนี้”

โดยมีรายละเอียดของข้อมูลในแต่ละด้าน ดังต่อไปนี้

รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนไทยลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี สวนทาง GDP ที่ยังเติบโต

ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลงสวนทางกับ GDP ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง -2.1% จากในปี 2017 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปีจากในช่วงก่อนหน้านี้ที่รายได้ครัวเรือนมีการเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ทั้งนี้รายได้ครัวเรือนที่ลดลงนั้นสวนทางกับเศรษฐกิจเมื่อวัดจากมูลค่า GDP ณ ราคาปัจจุบัน (nominal GDP) ที่เติบโตขึ้น 7.6% ในช่วงเดียวกัน1 (รูปที่ 1)

Pic001.JPG


รายได้ครัวเรือนลดลงโดยมีสาเหตุมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง รายได้ครัวเรือนที่ลดลงทั้งจากการทำงาน (ค่าจ้าง) และจากการประกอบธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 เมื่อเทียบกับปี 2017 (รูปที่ 2) โดยมีรายละเอียดในแต่ละแหล่งที่มารายได้ ดังนี้

Pic002.JPG

Pic003.JPG

• รายได้ครัวเรือนจากการทำงานเป็นลูกจ้างลดลง จาก 22,237 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในปี 2017 เหลือ 21,879 บาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 หรือลดลง -1.6% อีไอซีวิเคราะห์ว่าการลดลงของรายได้ค่าจ้างของครัวเรือนมีสาเหตุมาจากจำนวนคนทำงานและจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนที่ลดลง รวมไปถึงอัตราค่าจ้างที่ชะลอลง ซึ่งเป็นผลมาจากทั้งปัจจัยเชิงวัฏจักรโดยเฉพาะการลดการใช้แรงงานตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ทำให้มีแรงงานที่ออกจากกำลังแรงงานเพราะสูงอายุเพิ่มขึ้นจาก 5.4 ล้านคนในปี 2014 มาเป็น 7.1 ล้านคนในช่วงครึ่งแรกปี 2019 หรือการนำเทคโนโลยีทดแทนแรงงาน (automation) มาใช้ในหลายอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้แรงงานที่ทำงานล่วงเวลา (overtime workers) ลดลงจาก 9.7 ลงมาเหลือ 6.7 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน

• รายได้ครัวเรือนจากกำไรกิจการลดลงทั้งในและนอกภาคเกษตร โดยกำไรกิจการการเกษตรเฉลี่ยอยู่ที่ 7,048 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ลดลง -4.8% จาก 2 ปีก่อนหน้าสอดคล้องกับเศรษฐกิจภาคเกษตรกรรมที่เผชิญกับทั้งภัยแล้งและปัญหาราคาสินค้าตกต่ำ ทั้งนี้กำไรกิจการการเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา โดยหากเทียบกันแล้วระดับรายได้ล่าสุดจะอยู่ต่ำกว่ารายได้เมื่อปี 2013 ถึง 23.8% ส่วนรายได้ครัวเรือนที่มาจากกำไรกิจการนอกภาคเกษตรก็ลดลงเช่นเดียวกัน โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 18,685 บาท ลดลงจาก 19,269 บาทในปี 2017 หรือลดลง -3.0% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแข่งขันในหลายรูปแบบที่รุนแรงขึ้นจากบริษัทขนาดใหญ่ เช่น การขยายสาขาของธุรกิจโมเดิร์นเทรดไปตามต่างจังหวัด การใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เป็นต้น

• รายได้ครัวเรือนประเภทอื่น ๆ ค่อนข้างทรงตัว โดยรายได้ที่มาจากดอกเบี้ยจากการลงทุน ดอกเบี้ยจากเงินออม เงินโอนจากภาครัฐ เงินโอนจากผู้อื่น ฯลฯ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 อยู่ที่ 7,806 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน ไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2017 คาดว่าสาเหตุที่รายได้ในส่วนนี้ทรงตัวมาจากเงินออมเฉลี่ยต่อเดือนที่ลดลงและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี รายได้ที่มาจากเงินโอนจากภาครัฐมีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดในส่วนถัด ๆ ไป


Button-01.jpg

Infographic.jpg

Infographic2.jpg

EIC_Line_vdo_hh.jpg

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ