SHARE
OUTLOOK:BULL-BEAR
20 มกราคม 2020

สหรัฐฯ อิหร่าน ความขัดแย้งปะทุ ราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร?

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านกลับมาปะทุ ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวน หลังสหรัฐฯ สังหาร นายพล คาเซ็ม ซุรีมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่าน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 
iStock-1141612612.jpg

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านกลับมาปะทุ ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวน หลังสหรัฐฯ สังหารนายพล คาเซ็ม ซุรีมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษของอิหร่าน ซึ่งเป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดอันดับที่ 2 รองจากผู้นำสูงสุดของอิหร่าน เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2020 ที่สนามบินนานาชาติกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ตามคำสั่งประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแผนการโจมตีพลเมืองและกองทัพสหรัฐฯ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบ Brent พุ่งขึ้นทันทีเกือบ 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สู่ระดับ 69 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (4%DOD)

อิหร่านออกมาประณามการสังหารครั้งนี้และประกาศจะตอบโต้กลับสหรัฐฯ อย่างรุนแรง โดยในวันที่ 8 มกราคม 2020 อิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอากาศของสหรัฐฯ ในอิรัก แต่ไม่มีพลเมืองและทหารสหรัฐฯ ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และไม่ทำให้โรงงานน้ำมันเสียหายแต่อย่างใด เนื่องจากได้แจ้งให้ฝ่ายอิรักทราบล่วงหน้าก่อนโจมตี โดยอิหร่านอ้างว่าเป็นมาตรการเพื่อป้องกันตัวเอง ไม่ได้ต้องการก่อสงครามแต่อย่างใด ภายหลังทางฝ่ายทรัมป์จึงออกแถลงการณ์ไม่ยกระดับการปฏิบัติการทางทหารต่ออิหร่าน ส่งผลให้ความตึงเครียดผ่อนคลายลง ราคาน้ำมันจึงค่อยๆ ปรับลดลงมาอยู่ที่ราว 65-66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ใกล้เคียงกับราคาก่อนวันเกิดเหตุการณ์ลอบสังหารนายพลคาเซ็ม

เหตุการณ์ลอบสังหารนายพลคาเซ็ม ทำให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นเกือบ 3 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็น price shock ที่ไม่รุนแรงมากนัก เนื่องมาจาก 3 ปัจจัยหลัก 1) อุปทานน้ำมันไม่ถูกกระทบ ต่างจากเหตุการณ์โรงงานน้ำมันในซาอุดีอาระเบียที่ถูกโดรนโจมตีจากอิหร่าน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2019 ทำให้อุปทานน้ำมันดิบหายไป 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นทันทีเกือบ 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในวันรุ่งขึ้น 2) ราคาน้ำมันได้ปรับขึ้นแล้วบางส่วน (price in) เนื่องจากปัจจัยด้าน Geo-political risk premium ความไม่สงบในอิรัก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน รวมทั้งการคว่ำบาตรเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ตลาดน้ำมันได้ price in เข้าไปในราคาน้ำมันแล้ว 3) OPEC ยังมี spare capacity ในการผลิตน้ำมัน OPEC และพันธมิตร (OPEC+) มีมติลดปริมาณการผลิตน้ำมันเพิ่มเติมจาก 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหากอุปทานน้ำมันเกิด supply shock จากการสู้รบ OPEC+ ยังมีความสามารถในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันได้อีกกว่า 4 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับกำลังการผลิตที่มีอยู่ อีกทั้งสหรัฐฯ อาจปล่อย strategic petroleum reserve ออกมาเพื่อบรรเทาการตึงตัวของอุปทานน้ำมัน

อีไอซีประเมินราคาน้ำมันในไตรมาส 1 ปี 2020 ภายใต้ 3 เหตุการณ์ (scenarios) จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในตะวันออกกลางทำให้เกิด risk premium ในราคาน้ำมัน ซึ่งอีไอซีคาดการณ์ 3 เหตุการณ์ที่มีความเป็นไปได้และคาดว่าจะจบได้ในช่วงไตรมาส 1 นี้ เนื่องจากสหรัฐฯ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายน 2020 ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ ไม่น่าจะต้องการให้ความขัดแย้งยืดเยื้อไปถึงไตรมาส 2 ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการรณรงค์หาเสียงจากทั้งฝั่งของ พรรค Republican และพรรค Democrat โดย 3 เหตุการณ์ดังกล่าว ได้แก่ 1) base case: ไม่เกิดการสู้รบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน 2) high case: เกิดการสู้รบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน 3) severe case: เกิดการสู้รบจนปิดช่องแคบฮอร์มุซ พร้อมทั้งประเมินราคาน้ำมันในแต่ละเหตุการณ์ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของสมดุลอุปสงค์และอุปทานน้ำมัน

Outlook_Q1_2020_44.jpg

1) Base case: ไม่เกิดการสู้รบระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน อีไอซีมองว่าเป็นกรณีฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 นี้ เนื่องจากทรัมป์ตัดสินใจไม่ใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อตอบโต้อิหร่านที่ยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพสหรัฐฯ แต่จะใช้วิธีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแทน รวมทั้งปีนี้จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าทรัมป์ไม่น่าจะใช้ความรุนแรงเพื่อให้คะแนนนิยมตัวเองหายไป เนื่องจากพลเมืองสหรัฐฯ ส่วนใหญ่กลัวการก่อการร้าย (ข้อมูลจาก ABC News/Ipsos Poll) สำหรับอิหร่านเองก็ออกมาแถลงการณ์ว่าที่ยิงขีปนาวุธตอบโต้สหรัฐฯ หลังเหตุการณ์สังหารนายพลคาเซ็ม เป็นมาตรการป้องกันตัวเอง ไม่ได้ต้องการก่อสงครามแต่อย่างใด ดังนั้นในกรณีนี้ ผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันน่าจะมีค่อนข้างจำกัด อีไอซีประเมินว่าราคาน้ำมันในไตรมาส 1 ปี 2020 จะอยู่ที่ระดับ 66 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันทั้งปี 2020 อยู่ที่ระดับ 65 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

2) High case: เกิดการสู้รบระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ทั้งนี้ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศยังคงดำเนินต่อไป โดยวันที่ 10 มกราคม 2020 สหรัฐฯได้ออกมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ต่ออิหร่านนอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน โดยอ้างว่าเพื่อหยุดยั้งการสนับสนุนการก่อการร้ายที่เป็นภัยคุกคามทั่วโลก ซึ่งการคว่ำบาตรนี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิต และเหมืองแร่ของอิหร่าน อีกทั้งอิหร่านออกมาสารภาพว่าได้ยิงเครื่องบินโดยสารของยูเครนตกใกล้กรุงเตหะรานโดยไม่ได้ตั้งใจเพราะคิดว่าเป็นเครื่องบินของฝ่ายศัตรู ทำให้มีผู้โดยสารเสียชีวิตรวม 176 ศพ ส่งผลให้มีผู้ประท้วงผู้นำอิหร่านเป็นจำนวนมาก หากความขัดแย้งยืดเยื้อนำไปสู่การสู้รบระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน คาดว่าแหล่งน้ำมันในอิรักทางตอนใต้จะโดนมุ่งเป้าโจมตีเพราะมีบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ และพันธมิตรดำเนินการอยู่ เช่น Exxon, BP และ Shell ซึ่งจะทำให้อุปทานน้ำมันหายไปราว 4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนอุปสงค์น้ำมันคาดว่าไม่ถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นถึง 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ในไตรมาส 1 ปี 2020 และราคาน้ำมันทั้งปี 2020 อยู่ที่ระดับ 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

3) Severe case: สถานการณ์การสู้รบรุนแรงจนถึงขั้นปิดช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งเป็นทางผ่านสำคัญของเรือขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางเพื่อส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกที่ปริมาณ 15-20 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจุบันมีกองทัพสหรัฐฯ และอังกฤษประจำการอยู่ที่ช่องแคบฮอร์มุซ หากสถานการณ์ในตะวันออกกลางก่อตัวเป็นสงครามจนต้องปิดช่องแคบฮอร์มุซ คาดว่าปริมาณน้ำมัน 8-10 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะถูกเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปยังท่อ East-West pipeline ของซาอุดีอาระเบีย และ Habshan-Fujairah pipeline ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งออกไปยัง Red sea และ Gulf of Oman แทนตามลำดับ ดังนั้นอุปทานน้ำมันราว 10 ล้านบาร์เรลต่อวันจะไม่สามารถส่งออกได้ บวกกับอุปทานน้ำมัน 4 ล้านบาร์เรลต่อวันที่หายไปจากการโจมตีแหล่งน้ำมัน รวม supply shock ทั้งสิ้น 14 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 1 พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นนี้จะกระทบต่ออุปสงค์น้ำมันให้มีความต้องการลดลงคาดว่าจะเหลือราว 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน (-1%QOQ) โดยรวมแล้วอีไอซีประเมินว่าราคาน้ำมันจะแตะระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลโดยเฉลี่ย ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันทั้งปี 2020 อยู่ที่ระดับ 78 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ยังคงต้องจับตาสถานการณ์ในตะวันออกกลางต่อไป รวมถึงแถลงการณ์ของทรัมป์กรณีความขัดแย้งกับอิหร่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการทางทหารหรือการคว่ำบาตรอย่างไร ซึ่งจะส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 1 นี้

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ