SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
20 มกราคม 2020

สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2019 (ไตรมาส 1/2020)

การส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบสงครามการค้า สร้างความเปราะบางต่ออุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ขณะที่ภาครัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 1/2020 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Outlook_Q1_2020_1.jpg

การส่งออกที่หดตัวจากผลกระทบสงครามการค้า สร้างความเปราะบางต่ออุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ ขณะที่ภาครัฐช่วยพยุงเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ


การส่งออกในปี 2019 หดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้า การส่งออกยานยนต์ที่หดตัว และราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำ อีไอซีคาดส่งออกไทยปี 2019 หดตัว -3.3%

ข้อมูล 11 เดือนแรกของปี 2019 แสดงให้เห็นว่าการส่งออกหดตัวในเกือบทุกสินค้าและตลาดสำคัญ โดยการส่งออกไปตลาดสำคัญหดตัวเกือบทุกตลาดยกเว้นการส่งออกไปสหรัฐฯ ที่ขยายตัว 4.1%YOY จากหลายสินค้าที่ขยายตัวดี เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง, รถยนต์และอุปกรณ์, เครื่องจักรและส่วนประกอบ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำ-ทรานซิสเตอร์-และไดโอด, เครื่องส่งวิทยุ-โทรเลข-โทรศัพท์และโทรทัศน์ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ส่วนในมิติของการส่งออกรายสินค้า พบว่าสินค้าส่งออกสำคัญของไทย
10 อันดับแรกมีการหดตัวเกือบทั้งหมดยกเว้นเพียงการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและอุตสาหกรรมการเกษตรที่ยังขยายตัวได้เล็กน้อยที่ 1.6% และ 2.0% ตามลำดับ (รูปที่ 1)

รูปที่ 1 : มูลค่าการส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2019 หดตัวจากหลายสินค้า และหดตัวในหลายตลาดสำคัญ
Outlook_Q1_2020_2.jpg
หมายเหตุ : การวิเคราะห์มูลค่าส่งออกหักมูลค่าการส่งกลับอาวุธสำหรับการซ้อมรบไปยังสหรัฐฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2019
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC


รูปที่ 2 : การหดตัวของมูลค่าการส่งออกได้รับแรงกดดันจาก 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ, ตลาดรถยนต์ของโลกที่ซบเซา และราคาน้ำมันโลกที่ยังคงหดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
Outlook_Q1_2020_3.jpg
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC

ทั้งนี้การหดตัวของมูลค่าการส่งออกในช่วงที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจาก 3 ปัจจัย (รูปที่ 2) ได้แก่

1. สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ โดยสงครามการค้าที่เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าส่งออกของจีนไปยังตลาดสหรัฐฯ ที่โดนเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ คอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ และเคมีภัณฑ์และพลาสติก นอกจากนี้ สงครามการค้าที่รุนแรงมากขึ้นยังส่งผลกระทบทางอ้อมจากการที่หลายประเทศที่มีการพึ่งพาจีนมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง จึงทำให้
การส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านั้นมีการปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งอีไอซีพบว่า การส่งออกของไทยไปยังตลาดที่พึ่งพาจีนสูงกว่า มักจะมีการชะลอหรือหดตัวมากกว่าการส่งออกไปยังตลาดที่พึ่งพาจีนต่ำกว่าอย่างชัดเจน (รูปที่ 3)

รูปที่ 3 : สงครามการค้าส่งผลกระทบต่อส่งออกไทยผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ สินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าจีนและการส่งออกของไทยไปยังคู่ค้าที่พึ่งพาจีนสูง
Outlook_Q1_2020_4.jpg

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC

2. ตลาดรถยนต์ของโลกที่ซบเซา โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์และอุปกรณ์ได้รับผลกระทบจากตลาดรถยนต์โลกที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2018 เป็นต้นมา และสถานการณ์การส่งออกรถยนต์ในปัจจุบันยังไม่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับแนวโน้ม โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2019 มูลค่าการส่งออกรถยนต์หดตัว -5.1%YOY (รถยนต์นั่งหดตัว -7.2%YOY ขณะที่รถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัว -2.2%YOY) และมูลค่าการส่งออกอุปกรณ์และส่วนประกอบ
หดตัว -4.8%YOY (รูปที่ 4) ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบคิดเป็น 14.9% ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2018

รูปที่ 4 : การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบยังไม่ฟื้นตัวนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2018 เป็นต้นมา สะท้อนจากระดับมูลค่าส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าเส้นแนวโน้ม (trend)
Outlook_Q1_2020_5.jpg
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์

3. ราคาน้ำมันโลกที่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า และการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงปลายปี โดยราคาน้ำมันดิบ Brent เฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 2019 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.4 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คิดเป็นการหดตัวที่ -12.6%YOY ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปซึ่งคิดเป็น 3.7% ของมูลค่าการส่งออกในปี 2018 หดตัวที่ -22.4%YOY ใน 11 เดือนแรก นอกจากนี้ การปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงท้ายปีก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ปริมาณการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันหดตัวสูง (รูปที่ 5)

รูปที่ 5 : ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2019 ที่หดตัว ประกอบกับการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ภายในประเทศช่วงปลายปี กดดันให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวข้องหดตัว

Outlook_Q1_2020_6.jpg

หมายเหตุ : สัดส่วนน้ำมันสำเร็จรูป ต่อมูลการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยในปี 2018 อยู่ที่ 3.7%
สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันประกอบไปด้วย น้ำมันสำเร็จรูป, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ โดยคิดเป็นสัดส่วนไทยในปี 2018 อยู่ที่ 11.4%
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC


อย่างไรก็ดี ภายใต้การส่งออกรวมที่หดตัว ยังมีสินค้าบางประเภทสามารถขยายตัวได้ เช่น ยางล้อซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าทดแทนสินค้าจีนที่โดนขึ้นภาษีนำเข้าโดยสหรัฐฯ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าที่ขยายตัวได้ดีในตลาดจีน ได้แก่ เครื่องสำอาง, รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ, เครื่องรับวิทยุ-โทรทัศน์และส่วนประกอบ, ผลไม้สดโดยเฉพาะทุเรียนและลำไย รวมถึงการส่งออกไก่ที่ขยายตัวในระดับสูง เนื่องจากกรมปศุสัตว์จีนได้อนุญาตให้นำเข้าไก่จากโรงงานของไทยได้เมื่อต้นปี 2019 เพื่อสนองความต้องการบริโภคของชาวจีนทางตอนใต้ของประเทศ

ทั้งนี้อีไอซีคงประมาณการมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2019 หดตัวที่ -3.3% (ไม่รวมการส่งออกอาวุธเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2019) จากผลกระทบ
ของสงครามการค้า ภาวะตลาดรถยนต์โลกที่ซบเซา และราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับในช่วงปลายปี มีการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมัน ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน (น้ำมันสำเร็จรูป, เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็น 11.4% ของมูลค่าการส่งออกในปี 2018) หดตัวสูง นับเป็นอีกปัจจัยกดดันทำให้การส่งออกไทยหดตัวเพิ่มเติมในปี 2019

ในส่วนของมูลค่าการนำเข้าของไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2019 หดตัวที่ -6.1 (ไม่รวมมูลค่าการนำเข้าอาวุธเดือนมกราคม 2019) ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว โดยหมวดสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการผลิตเพื่อส่งออก ได้แก่ สินค้าทุน (ไม่รวมเครื่องบิน เรือ และรถไฟ) วัตถุดิบ และส่วนประกอบรถยนต์ หดตัวที่ -3.5%YOY, -8.2%YOY และ -3.7%YOY ตามลำดับ สำหรับการนำเข้าสินค้าบริโภคขยายตัวชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่หมวดสินค้าเชื้อเพลิงได้รับผลจากราคาน้ำมันดิบที่หดตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ารวมถึงการปิดซ่อมโรงกลั่นปลายปี ทำให้เป็นแรงกดดันต่อการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงทั้งในส่วนของราคาและปริมาณ (รูปที่ 6) ทั้งนี้พบว่าตั้งแต่มีสงครามการค้า ผู้ผลิตจีนมีการระบายสินค้าหลายประเภทไปยังประเทศอื่นนอกจากสหรัฐฯ ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่โดนสินค้าจีนเข้ามาตีตลาด ดังนั้นอีไอซีจึงทำการศึกษาเพื่อระบุว่าสินค้าจีนประเภทใดที่เข้ามาในตลาดไทยจากผลของสงครามการค้า โดยอ่านเพิ่มเติมได้ที่ BOX : การเข้ามาของสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า

รูปที่ 6 : การนำเข้าสินค้าหดตัวเกือบทุกหมวด ยกเว้นการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและการนำเข้ายานพาหนะ
Outlook_Q1_2020_7.jpg

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ