SHARE
SCB EIC ARTICLE
06 กุมภาพันธ์ 2014

Wilmar International ยักษ์ใหญ่ในวงการเกษตรแห่งเอเชีย

จากบริษัทค้าน้ำมันปาล์มขนาดเล็กของสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งในปี 1991 ปัจจุบัน Wilmar ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจข้าว น้ำตาล ยางพารา สวนปาล์ม โดย Wilmar ถือได้ว่าเป็นบริษัทด้านการเกษตรที่มีรายได้มากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Wilmar? และบทเรียนที่มีค่าเหล่านั้นจะนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้อย่างไร?

ผู้เขียน: ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC)

 Sugar_136362163.jpg

จากบริษัทค้าน้ำมันปาล์มขนาดเล็กของสิงคโปร์ ที่ก่อตั้งในปี 1991 ปัจจุบัน Wilmar ประกอบธุรกิจที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจข้าว น้ำตาล ยางพารา สวนปาล์ม โดย Wilmar ถือได้ว่าเป็นบริษัทด้านการเกษตรที่มีรายได้มากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของ Wilmar? และบทเรียนที่มีค่าเหล่านั้นจะนำมาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทยได้อย่างไร?

Wilmar เป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดำเนินธุรกิจเกษตร สะท้อนได้จากรายได้และกำไรสุทธิของบริษัทในปี 2012 เทียบกับปี 2003 ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 12 เท่าและ 35 เท่า ตามลำดับ โดยในปี 2012 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,255 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯและมีรายได้ 45,463 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  โดยระดับรายได้ดังกล่าว  ถือได้ว่าเป็นรายได้ที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับรายได้ของบริษัทธุรกิจเกษตรทั้งหมดในเอเชีย นอกจากนั้น การก้าวขึ้นมาเป็นผู้แปรรูปและค้าน้ำมันปาล์มอันดับ 1 ของโลก และเป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายดิบอันดับ 1 ของออสเตรเลีย ยังเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของ Wilmar ได้อย่างดี

กลยุทธ์การรวมตัวในแนวดิ่ง (vertical integration) เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ Wilmar ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ โดย Wilmar ดำเนินธุรกิจครอบคลุมตลอดห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจแปรรูปสินค้าเกษตร ตั้งแต่การผลิต  การแปรรูป ไปจนถึงการจัดจำหน่ายสินค้าให้ผู้บริโภคภายใต้แบรนด์ของบริษัท ซึ่งการดำเนินธุรกิจในรูปแบบดังกล่าวส่งผลให้บริษัทสามารถสร้างรายได้ตลอดห่วงโซ่มูลค่า พร้อมกันนั้น การที่บริษัทมีโรงงานขนาดใหญ่และมีการผลิตแบบครบวงจร (integrated manufacturing complexes) ยังทำให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาด  พร้อมทั้งยังส่งผลให้การผลิตมีประสิทธิภาพและช่วยประหยัดต้นทุนการขนส่ง เนื่องจากผลผลิตจากโรงงานหนึ่งจะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบสำหรับอีกโรงงานหนึ่ง เช่น น้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัด จะถูกส่งไปเป็นวัตถุดิบของโรงงานกลั่นบริสุทธ์ ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทยังสามารถใช้ของเสียจากการผลิตมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านไฟฟ้าให้แก่บริษัทแล้ว ยังช่วยให้บริษัทมีรายได้จากการจำหน่ายไฟ้ฟ้าอีกด้วย

ปัจจัยประการต่อมาคือ การขยายธุรกิจเข้าสู่สินค้าข้างเคียง Wilmar ทำการขยายธุรกิจเข้าสู่สินค้าข้างเคียงผ่านการซื้อกิจการและการลงทุนเองอย่างต่อเนื่อง  ส่งผลให้รายได้ของ Wilmar ไม่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว (ปี 2012 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจปาล์มน้ำมันราว 48%)  แต่มีการกระจายตัวไปยังธุรกิจอื่นๆ  เช่น ธุรกิจพืชน้ำมันและธัญพืช 25% ธุรกิจน้ำตาล 7%  ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงด้านรายได้ให้แก่บริษัทได้เป็นอย่างดี  

ปัจจัยประการสุดท้าย คือ การขยายตัวครอบคลุมทางภูมิศาสตร์ ปัจจุบัน Wilmar มีโรงงานและสำนักงานขายใน 32 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้ Wilmar สามารถบริหารความเสี่ยงทั้งในแง่วัตถุดิบและผู้บริโภค จากการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบและผู้บริโภคที่หลากหลาย พร้อมกันนั้น ยังช่วยให้ Wilmar มีเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าที่กว้างขวางขึ้นอีกด้วย 

ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับมามองผู้ประกอบการไทย จะพบว่า โดยส่วนใหญ่จะเน้นกลยุทธ์การรวมตัวในแนวดิ่งเป็นหลัก ดังนั้นในระยะต่อไป EIC มองว่า ผู้ประกอบการควรที่จะนำกลยุทธ์ในสองด้านที่เหลือ มาประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการในธุรกิจข้าว อาจจะขยายธุรกิจสู่มันสำปะหลัง หรืออาจจะขยายฐานวัตถุดิบข้าวไปในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เป็นต้น เพื่อที่จะสร้างความสามารถการแข่งขันในระดับภูมิภาค เพื่อรองรับการเปิด AEC ที่กำลังจะมาเยือนในอีก 2 ปีข้างหน้า

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ