SHARE

SEF: กองทุนหุ้นยั่งยืนทางเลือกใหม่ต่อจาก LTF

กองทุนหุ้นยั่งยืน (Sustainable Equity Fund: SEF) เป็นกองทุนที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Federation of Thai Capital Market Organizations: FETCO)



iStock-1127257252.jpg

“กรมสรรพากรกำลังพิจารณาศึกษารูปแบบการออมใหม่ ที่เป็นการนำแนวคิดกองทุนหุ้นยั่งยืนมาประยุกต์เพื่อการออมระยะยาว ตอบโจทย์รองรับสังคมสูงอายุมากกว่ากองทุนแอลทีเอฟ และที่สำคัญ ไม่เอื้อธุรกิจใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์เหมือนรูปแบบปัจจุบัน”

ที่มา : นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร. 4 กันยายน 2019 (สำนักข่าวไทยพีบีเอส)


กองทุนหุ้นยั่งยืน (SEF) คืออะไร?

กองทุนหุ้นยั่งยืน (Sustainable Equity Fund: SEF) เป็นกองทุนที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (Federation of Thai Capital Market Organizations: FETCO) เสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณาเป็นทางเลือกทดแทนมาตรการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund: LTF) ที่จะสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2019 โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1) สนับสนุนการออมเงินระยะยาวของประชาชน และ 2) สนับสนุนการลงทุนในตลาดทุนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งนี้การออมเงินผ่านการลงทุนในตลาดทุนจะให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ดี และการออมเงินระยะยาวของประชาชนจะช่วยแบ่งเบาภาระของรัฐบาลเมื่อประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในอนาคตอันใกล้ โดยเงื่อนไขการลงทุนของ SEF จะต้องลงทุนในกลุ่มหุ้นยั่งยืน ร่วมกับการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในสัดส่วน 65% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (Net Asset Value : NAV) ซึ่งรายละเอียดของหุ้นยั่งยืนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานมีดังนี้           

หุ้นยั่งยืน เป็นหลักทรัพย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (Stock Exchange of Thailand: SET) ที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ซึ่งการลงทุนในหุ้นยั่งยืนจะเป็นการลงทุนที่นำปัจจัยด้าน ESG มาวิเคราะห์ควบคู่ไปกับข้อมูลทางการเงินของบริษัท เพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งนี้รายชื่อของหุ้นยั่งยืนจะประกาศโดย SET ทุก 6 เดือน และเป็นหลักทรัพย์ที่อยู่ใน Thailand Sustainability Investment index (SET THSI index) โดยรายชื่อหุ้นยั่งยืนล่าสุดได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2019 มีจำนวนทั้งหมด 53 หลักทรัพย์ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) รวม 10.35 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 58.31% ของหลักทรัพย์ทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ และมีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลโดยเฉลี่ย ณ มิถุนายน 2019 ที่ 3.01% เทียบกับ 2.69% ของทั้งตลาด โดย 53 หลักทรัพย์ดังกล่าวจะถูกใช้ในการคำนวณ SET THSI index ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ธันวาคม 2019

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund: IFF)  เป็นกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มทางเลือกด้านแหล่งเงินทุนให้ทั้งรัฐบาลและธุรกิจในการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบขนส่งทางรางหรือท่อ สนามบิน ท่าเรือน้ำลึก ถนน พลังงานทางเลือก ประปา ชลประทาน ไฟฟ้า การบริหารจัดการของเสีย ระบบป้องกันภัยทางธรรมชาติ โทรคมนาคม และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี ซึ่งล้วนมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระของรัฐบาลด้านงบประมาณและการก่อหนี้สาธารณะ โดยในปัจจุบันไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอยู่ทั้งสิ้น 7 กองทุน และมีมูลค่าทรัพย์สินรวมประมาณ 3.5 แสนล้านบาท ณ เดือน พฤษภาคม 2019

พัฒนาการของ SEF จาก LTF เดิม?

เดิมที LTF ถูกตั้งมาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีการลงทุนในตลาดหุ้นและกองทุนมากขึ้น ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ทำให้ชนชั้นกลางเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินประเภทนี้มากขึ้น และเป็นตัวเลือกในการออมเงินระยะยาวของประชาชน อย่างไรก็ตาม สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF นั้นมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เพราะผู้เสียภาษีที่มีรายได้น้อยได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีน้อยกว่าผู้ที่มีรายได้สูง เมื่อตลาดทุนสามารถเติบโตได้เองแล้ว LTF จึงมีความจำเป็นน้อยลงในแง่การพัฒนาตลาดทุนของไทย แต่การที่จะยุบ LTF ก็สร้างความกังวลให้แก่ตลาดทุนไทยเช่นกัน ดังนั้น SEF จึงถูกเสนอขึ้นโดย FETCO เพื่อให้กระทรวงการคลังพิจารณา โดยนโยบายการลงทุนของ SEF นั้นต้องลงทุนในหุ้นยั่งยืนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ SEF จะเป็นตัวช่วยในการระดมทุนให้ทั้งภาครัฐและธุรกิจ และสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ SEF ยังมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้น้อยกว่าของ LTF อีกด้วย

ทั้งนี้ SEF มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างจาก LTF โดยสิ่งที่เหมือนกันในหลักการคือ ผู้ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนใน SEF ทั้งการนำไปหักลดหย่อนเงินได้ และการยกเว้นภาษีจากกำไรเมื่อขายคืน จำเป็นจะต้องถือครอง SEF ให้ครบ 7 ปีปฏิทินเหมือน LTF ด้านความความแตกต่างนั้น มี 2 ประเด็นหลักด้วยกัน ได้แก่

1) นโยบายการลงทุน เดิมนโยบายการลงทุนของ LTF ต้องลงทุนในหุ้นไทยไม่น้อยกว่า 65% แต่ SEF เปลี่ยนเป็นให้ลงทุนในหุ้นยั่งยืนและกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV

2) สิทธิประโยชน์ทางภาษี เดิมสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF นั้น ให้ใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของเงินได้ หรือไม่เกิน 5 แสนบาทต่อ 1 ปีภาษี แต่สำหรับ SEF นั้น สามารถใช้สิทธิ์ได้ 30% ของรายได้ หรือไม่เกิน 2.5 แสนบาทต่อ 1 ปีภาษี จะเห็นว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า 1.67 ล้านบาทต่อปี จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้มากกว่าเดิม ขณะที่ผู้มีรายได้มากกว่า 1.67 ล้านบาทต่อปี จะใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้น้อยลง ซึ่งเป็นความตั้งใจที่อยากให้คนรายได้ปานกลางมีการเก็บออมระยะยาวมากขึ้น ดังที่แสดงในตารางด้านล่าง

001_picture_money_banking.png

ใครได้ประโยชน์จาก SEF? 

ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและนโยบายการลงทุนที่ต้องลงทุนในหลักทรัพย์ที่อยู่ในกลุ่มหุ้นยั่งยืน และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของ SEF ที่ FETCO เสนอต่อกระทรวงการคลัง อาจเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชน ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ดังนี้

ประชาชน ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยสามารถนำเงินลงทุนใน SEF ไปหักเป็นค่าลดหย่อนเงินได้ ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งด้วยเกณฑ์การลดหย่อนใหม่ของ SEF จะสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเก็บออมมากขึ้น

ภาครัฐ จะได้ประโยชน์จากการระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณการลงทุนและการก่อหนี้สาธารณะของภาครัฐหากต้องลงทุนโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในระยะต่อไป

ภาคธุรกิจ หลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ได้อยู่ใน SET THSI index จะได้รับประโยชน์จากการที่ประชาชนลงทุนผ่าน SEF มากขึ้น ตามแรงกระตุ้นจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี นอกจากนี้ภาคธุรกิจที่มีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานยังได้รับประโยชน์ผ่านการระดมทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีกด้วย

ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นของ SEF

ทาง FETCO ได้เสนอแนวทางของ SEF ไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แต่ยังเป็นเพียงขั้นตอนการรับหลักการของกระทรวงการคลังเท่านั้น และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ลงทุนใน SEF นั้น ยังอยู่ในระยะการศึกษาความเป็นไปได้ แม้ว่า SEF จะเป็นมาตรการที่จะช่วยทั้งประชาชนในแง่สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภาครัฐและธุรกิจในแง่ของการระดมทุน แต่กระทรวงการคลังยังมีความกังวลต่อ SEF ในประเด็นของการเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจรายใหญ่บางราย และมาตรการทางภาษีที่มุ่งเน้นไปที่ผู้มีเงินได้ที่มีฐานะปานกลางขึ้นไป ทั้งนี้กระทรวงการคลังยังต้องการศึกษาเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2019 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส อธิบดีกรมสรรพากร ได้กล่าวว่า ทางกรมสรรพากรกำลังมีการศึกษาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสนับสนุนการออมเงินระยะยาวรูปแบบใหม่อ้างอิงจากหลักการของ SEF ที่ทาง FETCO เสนอ ซึ่งจะเป็นการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ลดความเหลื่อมล้ำ และไม่เอื้อต่อเอกชนรายใดรายหนึ่ง ดังนั้นอนาคตของการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ที่ลงทุนในกองทุน SEF จะเกิดขึ้นหรือไม่ และกติกาในการลดหย่อนจะเป็นอย่างไร อาจต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการจากกระทรวงการคลังต่อไป

                                                   

เผยแพร่ในนิตยสารการเงินธนาคาร คอลัมน์ เกร็ดการเงิน วันที่ 15 ตุลาคม 2562

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ