SHARE
SCB EIC BRIEF
15 ตุลาคม 2019

Circular Economy…เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ไม่ได้มีดีแค่ลดขยะ

Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดใหม่ที่ให้และรักษาคุณค่าของวัสดุที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจด้วยการยืดอายุการใช้งานสินค้า


GettyImages-648675196.jpg


Circular Economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นแนวคิดใหม่ที่ให้และรักษาคุณค่าของวัสดุที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจด้วยการยืดอายุการใช้งานสินค้า นำมาใช้ซ้ำ เข้ากระบวนการผลิตใหม่ และรีไซเคิล เพื่อการใช้งานอย่างคุ้มค่า ลดการใช้ทรัพยากรและการสร้างขยะ ซึ่งแตกต่างจากระบบเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมการนำทรัพยากรมาผลิตเป็นสินค้าเพื่อขาย เมื่อสินค้าดังกล่าวถูกใช้จนหมดคุณค่าแล้วก็จะถูกทิ้งเป็นขยะแม้ว่าซากจะยังนำมาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งในสภาวะที่ทรัพยากรโลกมีอยู่อย่างจำกัด การจัดหาทรัพยากรใหม่และการทิ้งขยะมีต้นทุนทั้งด้านการดำเนินงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมที่สร้างแรงกดดันต่อการดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม
 

สำหรับในไทย ภาครัฐได้สนับสนุนแนวคิด circular economy เช่น โครงการสาธิตการกำจัดซากรถยนต์ภายใต้ความร่วมมือกันของภาครัฐไทยและญี่ปุ่น เพื่อคัดแยกชิ้นส่วนและวัสดุโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง ขณะที่ภาคเอกชนไทยก็ได้บุกเบิกแนวคิดนี้แล้วเช่นกัน เช่น PTTGC กำลังศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิตเม็ดพลาสติกหมุนเวียนคุณภาพสูงที่สามารถนำกลับมาผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารได้ SCG ทำโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นให้นำกลับมาผลิตเม็ดพลาสติกใหม่ หรือแม้แต่บริษัทสตาร์ทอัพอย่าง moreloop  ก็ใช้แนวคิด circular economy สร้างโอกาสทางธุรกิจด้วยแพลตฟอร์มขายผ้าเหลือจากธุรกิจผลิตผ้าสำเร็จรูปให้แก่ผู้ผลิตรายย่อยอื่น ๆ เป็นต้น
 

นอกจากจุดประสงค์เพื่อลดขยะแล้ว แนวคิด Circular Economy ยังสามารถนำไปใช้เพื่อเป้าหมายด้านอื่นอย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย ตัวอย่างเช่น บริษัท Canon นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ร่วมกับความชำนาญและสายการผลิตของบริษัทให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการรวบรวมซากอุปกรณ์เพื่อเอาชิ้นส่วนที่ยังใช้ได้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่(remanufacturing & refurbishment) ออกสู่ตลาดด้วยคุณภาพที่เทียบเท่าของใหม่พร้อมการการันตีคุณภาพ ซึ่งการนำกลับมาผลิตใหม่ของ Canon ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดหาวัตถุดิบใหม่ไปได้ถึง 80% เทียบกับการผลิตผลิตภัณฑ์ปรกติ
 

ยิ่งไปกว่านั้น Circular Economy ยังสามารถเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการลดความเสี่ยงด้านการจัดหาวัตถุดิบได้อีกด้วย เช่น บริษัท Novelis ผู้ผลิตอะลูมิเนียมแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานมาก ออกแบบการใช้อะลูมิเนียมให้นำกลับมารีไซเคิลได้ทั้งในเชิงของตัวผลิตภัณฑ์ และโมเดลทางธุรกิจรับซื้อเศษกลับมาจากลูกค้า รวมถึงลงทุนสร้างโรงรีไซเคิล เพื่อขยายธุรกิจขึ้นไปส่วนต้นน้ำของ supply chain ด้วยการสร้างความสามารถในการผลิตอะลูมิเนียมได้เอง ลดต้นทุนและความเสี่ยงการจัดหาและความผัวผวนของราคาวัตถุดิบ รวมถึงได้ผลพลอยได้อย่างการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปด้วย
 

อีไอซีมองว่า องค์กรภาคธุรกิจที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในการทำธุรกิจ จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกัน ทั้งภายในองค์กร ระหว่างพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ และสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์และโมเดลทางธุรกิจให้เป็นไปตามจุดประสงค์ของ circular economy นอกจากนี้ภาคธุรกิจยังต้องเผชิญความท้าทายหลายด้าน ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามลักษณะของอุตสาหกรรม เช่น เทคนิคการผลิต ความคุ้มค่าในการลงทุน และการสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับต้นทุนและราคา รวมถึงลงทุนใน R&D เครื่องจักรอุปกรณ์ หรือธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ให้เกิดสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดและมีผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและการดำเนินธุรกิจในระยะยาว

                                                

เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 15 ตุลาคม 2019

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ