SHARE
OUTLOOK:BULL-BEAR
09 ตุลาคม 2019

BULL-BEAR: ราคาน้ำมัน (ไตรมาส 4/2019)

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4 ปี 2019 มีแนวโน้มทรงตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากที่ตลาดน้ำมันยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่เกือบ 5 แสนบาร์เรลล

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

ราคาน้ำมัน 
(USD/บาร์เรล)

2018F

2019F 2020F
(ค่าเฉลี่ย)  Q1 Q2 Q3 Q4 เฉลี่ย Q1 Q2 Q3 Q4F เฉลี่ย* ช่วงราคา** เฉลี่ย*

ราคาน้ำมันดิบ WTI

63 68 70 59 65 55 60 56 55 57 54-59 55
ราคาน้ำมันดิบ Brent 67 75 75 68 71 63 68 62 62 64 60-66 62


 ประมาณการราคาน้ำมันดิบโดย EIC
*ช่วงราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยต่อปี กรณีฐาน ซึ่งประมาณการโดย Leading global houses 5 ราย (ณ 26 กันยายน 2019)

 

EIC’s view: Bear

 

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 4 ปี 2019 มีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า จากการที่ตลาดน้ำมันยังมีอุปทานส่วนเกินอยู่เกือบ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเติบโตชะลอตัวลงตามเศรษฐกิจโลกที่มีปัจจัยกดดันมาจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อ รวมไปถึงปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปจาก no-deal Brexit ในขณะที่การขยายตัวของอุปทานน้ำมันจะมาจากผู้ผลิตในสหรัฐฯ เป็นหลัก โดยในไตรมาส 4 นี้ EIA ประเมินว่า สหรัฐฯ จะขุดเจาะน้ำมันดิบออกมาเกือบ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือเติบโต 7.5%YOY ส่วนอุปทานน้ำมันจากซาอุฯ ที่หายไปจากการโดนโจมตีนั้น คาดว่าซาอุฯ จะกลับมาผลิตน้ำมันได้ตามปกติในไตรมาส 4 นี้

สำหรับในช่วงที่ซาอุฯ กำลังเร่งซ่อมแซมโรงงานน้ำมันให้สามารถกลับมาผลิตน้ำมันได้เต็มกำลังการผลิต ซาอุฯ จะนำปริมาณน้ำมันดิบสำรองที่มีอยู่ราว 190 ล้านบาร์เรลมาส่งออกทดแทนไปก่อน อีกทั้งทางฝั่งสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้อนุมัติให้ใช้ปริมาณสำรองทางยุทธศาสตร์หากจำเป็น เพื่อรักษาอุปทานน้ำมันในตลาดให้มีเพียงพอ ทำให้ความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันตึงตัวผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาหากสถานการณ์ความรุนแรงในซาอุฯ ยืดเยื้อออกไปจนก่อให้เกิดสงครามในตะวันออกกลาง จะเป็น upside risk ให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 2020 อีไอซีประเมินอยู่ที่ 62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ลดลงราว 3% YOY เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องอุปทานน้ำมันล้นตลาดที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน (สูงกว่าปี 2019 ซึ่งมีอุปทานส่วนเกิน 2.3 แสนบาร์เรลต่อวัน) โดยปัจจัยหลักมาจากการเติบโตของอุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ สำหรับในส่วนของอุปสงค์น้ำมันจะขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าปี 2019 โดยนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายจะเข้ามาช่วยประคับประคองเศรษฐกิจโลกได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้นคาดว่าราคาน้ำมันจะสามารถยืนได้อยู่เหนือระดับ 60-62 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล นอกจากนี้ ต้องจับตาข้อตกลงของ OPEC ว่าจะขยายเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบต่อไปอีกหรือไม่และนานเพียงใดในปี 2020 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาน้ำมันเช่นกัน



 

BULLs BEARs
  • โรงงานน้ำมัน 2 แห่งของซาอุดีอาระเบีย ที่ Abqaiq และ Khurais ถูกโจมตีด้วยโดรนเมื่อ 14 กันยายน 2019 ส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตน้ำมัน 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือราว 50% ของปริมาณการผลิตน้ำมันในซาอุฯ ทำให้ราคาน้ำมัน Brent ทะยานขึ้นไป 13% สู่ระดับ 68 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อซาอุฯ ยืนยันว่ากำลังการผลิตทั้งหมดที่ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติภายในเดือนพฤศจิกายน ราคาน้ำมันปรับลดลงมาที่ 64 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม การที่ซาอุฯ ถูกโจมตีทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดมากขึ้น หากยืดเยื้อจนส่งผลต่อการตึงตัวของอุปทานน้ำมัน จะผลักดันให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้

  • กลุ่ม OPEC และพันธมิตรนำโดยรัสเซีย ยืนยันยังคงปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบต่อไปในระยะยาว เพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน จึงมีแนวโน้มว่า OPEC อาจขยายเวลาการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบขนาด 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีกจนถึงกลางปีหรือปลายปี 2020 จากที่มติดังกล่าวจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2020 นอกจากนี้ ซาอุฯ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Saudi Aramco จึงต้องการผลักดันราคาน้ำมันให้สูงขึ้นเพื่อเป็นผลดีต่อมูลค่าหุ้น โดยซาอุฯ มีเป้าหมายราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

  • หากซาอุดีอาระเบีย กลับมาผลิตน้ำมันได้ตามปกติ ตลาดน้ำมันจะมีอุปทานส่วนเกินซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมัน โดยในไตรมาส 4 ปี 2019 สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ว่าอุปทานน้ำมันดิบจะอยู่ที่ระดับ 102.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมีมากกว่าอุปสงค์น้ำมันอยู่เกือบ 5 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับในปี 2020 อุปทานส่วนเกินยังคงมีอยู่ราว 3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณอุปสงค์และอุปทานน้ำมันดิบ EIA คาดว่าจะอยู่ที่ราว 102.2 และ 102.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งอุปสงค์น้ำมันได้แรงกดดันจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ยืดเยื้อ

  • ท่อส่งน้ำมันดิบในสหรัฐฯ หลายโครงการที่ส่งน้ำมันจากแหล่ง Permian มายังอ่าวเม็กซิโก มีแผนเปิดดำเนินการปลายปี 2019 และในปี 2020 จะบรรเทาปัญหาคอขวดของเส้นทางการขนส่งน้ำมันในสหรัฐฯ และส่งผลให้อุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ สูงขึ้น เช่น ท่อ EPIC ขนาดกำลังส่ง 4 แสนบาร์เรลต่อวัน จะเริ่มเปิดดำเนินการปลายปี 2019 สำหรับท่อ Exxon/PAA และ Jupiter ขนาดกำลังส่งท่อละ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
    จะเริ่มเปิดดำเนินการในปี 2020 ทั้งนี้ EIA คาดว่าในปี 2020 สหรัฐฯ จะขุดเจาะน้ำมันดิบสูงถึง 13.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน (8.2%YOY)

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ