SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 ตุลาคม 2019

วิเคราะห์ความสามารถในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของไทยเทียบกับคู่แข่ง

สงครามการค้าที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีฐานการผลิตในจีนมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในตลาดสหรัฐฯ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Outlook_Q4_2019_TH19.jpg

สงครามการค้าที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2018 ส่งผลให้ผู้ผลิตที่มีฐานการผลิตในจีนมีความสามารถในการแข่งขันลดลงในตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากโดนเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวได้สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตในจีนที่ได้รับผลกระทบย้ายฐานการผลิตออกจากจีนเพื่อหลบหลีกผลกระทบของสงครามการค้า โดยมีภูมิภาคอาเซียนเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจ เนื่องจากมีระยะทางไม่ห่างจากจีนมากนัก ประกอบกับมีศักยภาพในการเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตสินค้า ทั้งนี้จากตัวเลขล่าสุดของการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2019 พบว่ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 18.5% และหากย้อนไปปี 2018 พบว่ามีการขยายตัวมากถึง 59.3% (รูปที่ 16) ซึ่งอาจบ่งชี้ว่ามีนักลงทุนสนใจที่จะย้ายฐานการผลิตมาที่ไทยจริง อย่างไรก็ดี การขอส่งเสริมการลงทุนกับ BOI ไม่มีข้อกำหนดระยะเวลาในการลงทุนจริงหลังจากได้รับอนุมัติ จึงมีความเป็นไปได้ที่การย้ายฐานการผลิตอาจจะยังไม่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขการลงทุนทางตรง (FDI inflow) ของ ธปท. ที่ล่าสุดในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปี 2019 ยังคงหดตัวที่ -5.8%

Outlook_Q4_2019_TH18.jpg

ดังนั้นไทยจึงยังต้องตื่นตัวในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติในช่วงที่เป็นโอกาสสำคัญของประเทศ ซึ่งภาครัฐก็เห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้ออกมาตรการ Thailand Plus เพื่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการส่งเสริมสร้างทุนมนุษย์ของบริษัทในไทย เมื่อต้นเดือนกันยายน 2019 ที่ผ่านมา สามารถสรุปได้ ดังนี้
• ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 50% เป็นเวลา 5 ปี เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติสูงสุดถึง 8 ปี สำหรับโครงการที่มีเงินลงทุนจริงอย่างน้อย 1,000 ล้านบาท ภายในปี      2021
• จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนในลักษณะ One Stop Service เพื่อแก้ไขปัญหาแก่นักลงทุน
• สนับสนุนการฝึกอบรมแรงงาน โดยให้ผู้ประกอบการนำเงินลงทุนหรือค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมที่เข้าข่าย Advanced Technology ไปหักลดหย่อนเพิ่มขึ้นระหว่างปี 2019-2020
• เร่งปรับปรุง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และกฎหมายที่เป็นอุปสรรคและข้อจำกัดต่อการ ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย
• ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเตรียมจัดหาและพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อรองรับการลงทุน ของนักลงทุนต่างชาติแต่ละประเทศเป็นเฉพาะ เช่น เกาหลี จีน ไต้หวัน
• เร่งการฟื้นการเจรจาความตกลงการค้า ไทย-อียู และการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (CPTPP) ภายในปี 2019
• ให้หักเงินลงทุนด้านระบบอัตโนมัติได้เพิ่มขึ้น ระหว่างปี 2019-2020 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ

จากการศึกษาพบว่าการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติประกอบด้วยหลายปัจจัยสำคัญ
โดยหากเปรียบเทียบปัจจัยเหล่านี้กับประเทศคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย สามารถสรุปได้ ดังนี้ (รูปที่ 17)

1) สิทธิประโยชน์ทางภาษี - สำหรับอัตราภาษีนิติบุคคลของไทยนั้นอยู่ที่ 20% เท่ากับเวียดนามซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มที่เปรียบเทียบ อย่างไรก็ดี ภาครัฐมีมาตรการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติโดยให้สิทธิพิเศษสำหรับธุรกิจที่สนับสนุน เช่น ช่วงระยะเวลาที่ยกเว้นการจ่ายภาษีนิติบุคล (Tax Holiday) การลดหย่อนภาษี (Tax Deduction) และอื่น ๆ เพื่อการพิจารณาการแข่งขันจากประเด็นข้างต้น อีไอซีได้อ้างอิงงานศึกษาที่คำนวณ
อัตราภาษีนิติบุคคลที่แท้จริง (EATR: Effective Average tax rate) ซึ่งพบว่าไทยและเวียดนามมีอัตราภาษีที่แท้จริงใกล้เคียงกันและนับเป็นระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศที่ทำการศึกษา

2) โครงสร้างพื้นฐาน – จากดัชนีวัดคุณภาพของโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจัดทำขึ้นโดยธนาคารโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของกลุ่ม โดยมีคะแนนใกล้เคียงกับมาเลเซียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 1

3) ผลิตภาพแรงงาน - วัดจากผลผลิตที่ได้จากแรงงาน 1 คน โดยใช้ข้อมูลของธนาคารโลก (GDP Per Person Employed, Constant 2011 PPP $) โดยพบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ของกลุ่มโดยเป็นรองเพียงมาเลเซีย

4) ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ - ซึ่งหมายถึงระดับความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจ โดยพิจารณาตั้งแต่ความสะดวกในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ การอำนวยความสะดวก ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและกฎระเบียบของภาครัฐที่สนับสนุนต่อการประกอบธุรกิจ จากการจัดอันดับโดยธนาคารโลก พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 2 ในกลุ่ม โดยอยู่ที่อันดับ 27 ในโลก ขณะที่มาเลเซียที่อยู่ในอันดับ 1 ของกลุ่ม อยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก

5) ส่วนแบ่งมูลค่าส่งออกในตลาดโลก - สะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมส่งออกในตลาดโลก โดยหากมีความสามารถในการแข่งขันมาก ก็จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้มากขึ้น โดยจากข้อมูลปี 2018 พบว่าไทยมีสัดส่วนสูงเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มร่วมกับมาเลเซียที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 1.3% เป็นรองเวียดนามซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ 1.5%

6) การบังคับใช้กฎหมาย (Rule of law) – การบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และยังสะท้อนถึงธรรมาภิบาล (governance) ของประเทศในภาพรวม ซึ่งดัชนีชี้วัดที่จัดทำโดยธนาคารโลกบ่งชี้ว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ในกลุ่ม โดยมีเพียง 0 คะแนนจากคะแนนเต็ม 2.5 เป็นรองมาเลเซียและเวียดนาม

7) ค่าจ้างแรงงาน – ค่าแรงนับเป็นหนึ่งในต้นทุนหลักของการผลิต จึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ โดยจากข้อมูลพบว่าไทยมีค่าแรงเฉลี่ยต่อเดือนสูงเป็นอันดับที่ 2 ของกลุ่มที่ 472.5 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนซึ่งสูงกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

8) สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า – ข้อตกลงทางการค้าต่าง ๆ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการส่งออกไปยังหลายประเทศทั่วโลก ดังนั้น จึงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

สำหรับความตกลงการค้าเสรีแบบพหุภาคี (Multilateral FTAs) พบว่ายังมีหลายความตกลงการค้าเสรีสำคัญที่ไทยไม่ได้เข้าร่วม ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ซึ่งเวียดนามและมาเลเซียเข้าร่วมไปแล้ว รวมถึงความตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงและยังอยู่ในระหว่างกันศึกษาเท่านั้น
ขณะที่เวียดนามได้เข้าร่วมแล้ว และอินโดนีเซียอยู่ในระหว่างการเจรจาในส่วนของความตกลงทางการค้าเสรีแบบทวิภาคี (Bilateral FTAs) แม้ว่าไทยมีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศสำคัญเหนือกว่าคู่แข่ง เช่น ความตกลงการค้าเสรีกับจีน (ไทยเท่านั้นที่มีความตกลง) และความตกลงลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์ (มีเพียงไทยกับมาเลเซียที่มี
ความตกลง) แต่หากพิจารณาแล้ว การมีความตกลงการเสรีดังกล่าวไม่ได้ถือว่ามีความได้เปรียบคู่แข่งมากนัก เนื่องจากไทยและคู่แข่งก็มีความตกลงการค้าเสรีกับประเทศดังกล่าวภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน และอาเซียน-นิวซีแลนด์ ซึ่งลดทอนข้อได้เปรียบของไทยเมื่อเทียบกับคู่แข่ง

จากการพิจารณาเปรียบเทียบปัจจัยต่าง ๆ ข้างต้น สามารถสรุปได้ว่าไทยมีศักยภาพสูงที่จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน แต่มีคู่แข่งสำคัญคือเวียดนามและมาเลเซีย โดยไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นประเทศที่มีความพร้อมใกล้เคียงกันในหลาย ๆ ด้าน แต่ในส่วนของมาเลเซียนั้น ค่าจ้างแรงงานสูงกว่าอีกสองประเทศพอสมควร จึงอาจทำให้ความดึงดูดนักลงทุนต่างชาติลดลง ขณะที่ในส่วนของไทยและเวียดนาม จะเห็นได้ว่าค่าแรงของเวียดนามถูกกว่า อีกทั้งยังได้เข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีสำคัญที่ไทยยังไม่ได้เข้าร่วม เช่น CPTPP และสหภาพยุโรป จึงนับเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปลงทุน ดังนั้น ไทยจึงควรต้องเน้นพัฒนาเพิ่มผลิตภาพแรงงานเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเห็นว่าแม้ค่าจ้างแรงงานไทยจะสูงกว่า แต่ก็คุ้มกว่าที่จะจ้างเพราะมีผลิตภาพสูงกว่า นอกจากนี้ ไทยยังควรต้องพิจารณาเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้าเสรีสำคัญเพื่อรักษาระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย และสุดท้ายในส่วนที่เป็นข้อได้เปรียบของไทย เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี โครงสร้างพื้นฐาน และความสามารถภาคส่งออกในตลาดโลก ก็ควรมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันคู่แข่งที่อาจก้าวขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ดีกว่าได้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ