SHARE
OUTLOOK:CHINA ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

การประท้วงในฮ่องกงและผลกระทบ ต่อเศรษฐกิจฮ่องกงและไทย

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงได้ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 3 เดือนและได้ยกระดับความรุนแรงขึ้น เป็นผลให้การค้า การลงทุนในฮ่องกงเริ่มชะงักงันซึ่งฉุดความเชื่อมั่น

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

Outlook_Q4_2019_HK1.jpg


การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงได้ยืดเยื้อมายาวนานกว่า 3 เดือนและได้ยกระดับความรุนแรงขึ้น เป็นผลให้การค้า การลงทุนในฮ่องกงเริ่มชะงักงันซึ่งฉุดความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจลง อีกทั้งส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจฮ่องกง นอกจากนี้ ผลกระทบดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลทางอ้อมมายังเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการค้า และภาคการท่องเที่ยวไทยได้อีกด้วย

จุดเริ่มต้นของการประท้วงในฮ่องกง

เริ่มจากการประท้วงร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน จนนำไปสู่การเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง โดยชาวฮ่องกงประท้วงครั้งแรกในวันที่ 9 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน เนื่องจากชาวฮ่องกงมองว่ากฎหมายดังกล่าวทำให้ฮ่องกงถูกครอบงำด้วยกฎหมายจากจีนแผ่นดินใหญ่และเป็นช่องให้จีนสามารถส่งนักโทษการเมืองของฮ่องกงไปยังจีนได้ ในภายหลังแม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงประกาศเลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายอย่างไม่มีกำหนดในวันที่ 15 มิถุนายน แต่การประท้วงไม่ได้จบลงไป ผู้ประท้วงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออก พร้อมทั้งเสนอข้อเรียกร้องอีก 5 ประการ ประกอบด้วย
1. ถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน
2. เลิกกล่าวหาการประท้วงว่าเป็นการก่อจลาจล
3. ปล่อยผู้ประท้วงที่ถูกจับตัว
4. ตั้งกรรมการอิสระมาสอบสวนการกระทำของตำรวจระหว่างการประท้วง
5. ให้แครี่ หลั่ม ลาออกจากตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดฮ่องกง และให้สิทธิประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด

ในปัจจุบัน (8 ตุลาคม) รัฐบาลฮ่องกงได้ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมเพียงข้อเดียว นั้นคือ การถอนร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อวันที่ 4 กันยายน แต่ข้อเรียกร้องอีก 4 ข้อที่เหลือ รัฐบาลฮ่องกงยังไม่ได้ทำตามข้อเสนอแต่อย่างใด เนื่องจากข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมโดยเฉพาะข้อที่ 5 ที่ผู้ชุมนุมประท้วงต้องการปฏิรูประบบการเลือกตั้งผู้บริหารสูงสุดฮ่องกงโดยให้สิทธิเลือกตั้งกับประชาชนมากขึ้น ด้วยจุดยืนระหว่างรัฐบาลฮ่องกงและจีนกับผู้ประท้วงชาวฮ่องกงที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ทำให้การชุมนุมประท้วงในรอบนี้มีแนวโน้มที่ทั้งสองฝ่ายไม่สามารถหาข้อยุติได้โดยง่ายและมีความเสี่ยงที่การชุมนุมจะทวีความรุนแรงขึ้นได้

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกง

การชุมนุมประท้วงส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจฮ่องกงซึ่งในไตรมาส 2 หดตัว 0.4%QOQ SA เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ขยายตัวที่ 1.3%QOQ SA ซึ่งผลของการประท้วงส่งผลต่อเศรษฐกิจฮ่องกงผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่

1) ช่องทางความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคธุรกิจ โดยตั้งแต่การประท้วงในเดือนมิถุนายน ดัชนีหลักทรัพย์ Hang Seng ปรับตัวลดลง 1465.3 จุดหรือ -5.3% (ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2019) เนื่องจากความไม่แน่นอนของการชุมนุมประท้วงครั้งนี้ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์และการลงทุนในฮ่องกง ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุน
ในฮ่องกงและมีแผนพิจารณาย้ายเงินทุนออกจากฮ่องกงจนกว่าการประท้วงจะยุติ

2) ภาคการท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าฮ่องกงเฉลี่ยราว 60 ล้านคนต่อปีโดย 77% เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวจีนมีค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวต่อคนสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ถึง 1.2 เท่าสำหรับนักท่องเที่ยวค้างคืน และ 2.9 เท่าสำหรับนักท่องเที่ยวไป-กลับ การประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อรวมถึงเหตุการณ์ชุมนุมปิดสนามบินฮ่องกงส่งผลกระทบโดยตรงต่อนักท่องเที่ยวในฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวที่กำลังตัดสินใจเดินทางไปฮ่องกงเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นและเลื่อนแผนการท่องเที่ยวในฮ่องกงออกไปหรือตัดสินใจท่องเที่ยวในประเทศข้างเคียงแทน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าฮ่องกงเดือนกรกฎาคมหดตัว 4.8%YOY ซึ่งชะลอลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ยังขยายตัว 16.8%YOY และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลงส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังยอดขายของธุรกิจที่มีความเชื่องโยงกับภาคการท่องเที่ยวสูง ได้แก่ ธุรกิจขนส่ง, บริการท่องเที่ยว, ขายปลีก และโรงแรมและร้านอาหาร

Outlook_Q4_2019_HK2.jpg

Outlook_Q4_2019_HK3.jpg

นอกเหนือจากความวุ่นวายภายในประเทศแล้ว ฮ่องกงยังได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ทำให้โอกาสค่อนข้างสูงที่ฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ทำให้การค้าโลกชะลอตัวลงและสร้างความไม่แน่นอนในการลงทุนของภาคธุรกิจทั่วโลก ทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าในฮ่องกงตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคมหดตัว 4.2%YOY และหากการประท้วงยืดเยื้อไปจนถึงไตรมาสที่ 3 อาจมีโอกาสที่เศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาสที่ 3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้ามีแนวโน้มติดลบได้เช่นกัน และจะทำให้เศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ในไตรมาสที่ 3 ของปี

ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

แม้ว่าการประท้วงจะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง แต่การชะลอตัวของเศรษฐกิจฮ่องกงมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวของไทยในทางอ้อมได้ ดังนี้

1) ผลกระทบต่อภาคการค้า ฮ่องกงเป็นคู่ค้ากับไทยเป็นอันดับที่ 5 โดยไทยมีสัดส่วนส่งออกสินค้าไปยังฮ่องกงราว 5% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2018 ดังนั้นฮ่องกงจึงถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการค้าและเป็นประตูที่เชื่อมโยงสินค้าไทยเข้าสู่ตลาดจีน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนจะยิ่งสร้างความไม่แน่นอนและเพิ่มความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกไทย ปัจจุบันการส่งออกสินค้าไปฮ่องกงตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมหดตัว 7.5%YOY โดยสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังฮ่องกงที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, เคมีภัณฑ์และพลาสติก และผลิตภัณฑ์ยาง

2) ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย การประท้วงในฮ่องกงที่ยืดเยื้อและไม่มีท่าทีจะยุติลง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนตัดสินใจเที่ยวประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนที่ฮ่องกง ซึ่งรวมถึงไทยอาจได้รับอานิสงค์จากการประท้วงในฮ่องกงครั้งนี้ นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญของไทยซึ่งคิดเป็น 27.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดในปี 2018 โดยล่าสุดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในเดือนสิงหาคมเริ่มกลับมาขยายตัวที่ 18.9%YOY ซึ่งอาจทำให้การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนชดเชยการหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปีได้ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมยังหดตัว 0.8%YOY อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้า หากเศรษฐกิจฮ่องกงเข้าสู่ภาวะถดถอย อาจทำให้นักท่องเที่ยวฮ่องกงซึ่งคิดเป็น 2.7% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดออกมาท่องเที่ยวในไทยลดลง ซึ่งเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวฮ่องกงในเดือนสิงหาคมหดตัว 2.4%YOY แต่หากนับจำนวนนักท่องเที่ยวฮ่องกงเข้าไทยตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคมยังขยายตัวอยู่ที่ 4.0%YOY

ในระยะข้างหน้า อีไอซีมองว่ารัฐบาลจีนยังไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงฮ่องกงได้ทั้งหมด โดยเฉพาะข้อสุดท้ายที่เรียกร้องการปฏิรูประบบเลือกตั้ง ที่ให้ชาวฮ่องกงมีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติและผู้บริหารสูงสุด ซึ่งถือเป็นการทำลายหลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่ปกครองฮ่องกงมาตั้งแต่รับมอบฮ่องกงจากอังกฤษ ขณะเดียวกันรัฐบาลจีนก็เลือกที่จะไม่ใช้ความรุนแรงด้วยการส่งกองทัพเข้าไปแทรกแซงกับผู้ประท้วงในฮ่องกงเช่นกัน เนื่องจากทางเลือกดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อการลงทุนของต่างชาติในฮ่องกงอย่างมากและอาจถูกใช้เป็นข้ออ้างจากต่างชาติในการกดดันพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้
ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ