SHARE
OUTLOOK:CLMV ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี

เติบโตชะลอลงจากความเสี่ยงภายนอกและความท้าทายรายประเทศที่สูงขึ้น

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี : เติบโตชะลอลงจากความเสี่ยงภายนอกและความท้าทายรายประเทศที่สูงขึ้น

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงราว 6-7% ในปี 2019 และ 2020 ท่ามกลางความเสี่ยงภายนอกที่เพิ่มขึ้น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากสงครามการค้าเริ่มส่งผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกรวมของกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีที่หดตัวลง 8%YOY ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2019 (ข้อมูลจาก IMF DOTS) โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าในเอเชีย แต่การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ยังคงเพิ่มขึ้น โดยสงครามการค้าจะมีส่วนช่วยเร่งแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตมายังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีโดยเฉพาะในเวียดนาม นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการมีแนวโน้มเป็นแรงสนับสนุนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและช่วยบรรเทาผลลบของการชะลอตัวของภาคส่งออก ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของชุมชนเมืองและกลุ่มชนชั้นกลางจะเป็นปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อในประเทศระยะยาว

เศรษฐกิจกัมพูชาจะยังเติบโตได้ที่ระดับราว 6.8% ในปี 2019 แต่เริ่มเห็นการชะลอตัวลงในระยะกลาง ความคืบหน้าของการปฏิรูปทางเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันการส่งออกและ FDI ในระยะข้างหน้า ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการสูญเสียสิทธิประโยชน์ทางภาษี Everything But Arms (EBA) จากสหภาพยุโรป ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มดีขึ้นในระยะกลางสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำหรับเศรษฐกิจกัมพูชา คือ การควบคุมดูแลความเสี่ยงของสถาบันการเงินรายย่อย (microfinance) ที่อยู่นอกระบบ

เศรษฐกิจลาวจะกลับมาขยายตัวที่ราว 6.4% ในปี 2019 และคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นเล็กน้อยที่ 6.5% ในปี 2020 หลังจากที่เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตชะลอลงในปี 2018 ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจลาว คือ การส่งออกไฟฟ้าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และภาคบริการ ซึ่งนำโดยภาคค้าส่ง-ค้าปลีกและการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจลาวมาจากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ ปัญหาหนี้ต่างประเทศและหนี้สาธารณะที่ค่อนข้างสูงซึ่งทำให้ลาวถูกปรับลดอันดับเครดิตประเทศโดย TRIS rating จากระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” สู่ระดับ BBB ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” ในช่วงเดือนกรกฎาคมปี 2019

เศรษฐกิจเมียนมาจะเติบโตชะลอลงเล็กน้อยที่ราว 6.4% ในปีงบประมาณการเงิน 2018/19 (FY2018/19) ด้วยแรงส่งจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศ การปฏิรูปและการลงทุนจากภาครัฐคาดว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2020 ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจเมียนมามาจากปัจจัยภายนอกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการลงทุนทางตรงจากต่างชาติ (FDI) รวมถึงแผนปฏิรูปเศรษฐกิจภายในที่ล่าช้ากว่าที่คาด

เศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงราว 6.5% ในปี 2019 และระยะกลาง สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนส่งผลบวกต่อการส่งออกทดแทนและ FDI มายังเวียดนาม แต่ก็เพิ่มความเสี่ยงที่สหรัฐฯ อาจหันมาเพ่งเล็งเวียดนามเป็นเป้าหมายรายต่อไปในการขึ้นภาษีได้ ขณะเดียวกัน ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างญี่ปุ่น-เกาหลีใต้อาจส่งผลลบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเวียดนามซึ่งพึ่งพาวัตถุดิบสินค้าเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้

ในภาพรวม ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีในปี 2019 และ 2020 คือ เศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลงกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีพึ่งพาค่อนข้างมาก รวมถึงความเสี่ยงเฉพาะของแต่ละประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง การพึ่งพาเศรษฐกิจจีนที่ค่อนข้างสูงทั้งด้านการค้า การลงทุน และนักท่องเที่ยวจะทำให้ความเสี่ยงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นปัจจัยสำคัญต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่นให้อ่อนค่าอย่างฉับพลันหากเกิดภาวะเงินทุนไหลออก เนื่องจากเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศต่ำ โดยเฉพาะลาวและเวียดนามที่มีทุนสำรองรองรับการนำเข้า (import cover) ต่ำกว่ามาตรฐาน 3 เดือนของ IMF (ข้อมูล ณ สิ้นปี 2018)


ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ