SHARE
OUTLOOK:ASEAN 4 ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

เศรษฐกิจอาเซียน 4

เติบโตชะลอลงตามการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ แต่อุปสงค์ภายในยังสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจอาเซียน 4 : เติบโตชะลอลงตามการส่งออกที่ได้รับผลกระทบ แต่อุปสงค์ภายในยังสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ

การเติบโตเศรษฐกิจอาเซียน 4 ในไตรมาส 2 ปี 2019 ชะลอตัวในเกือบทุกประเทศยกเว้นมาเลเซีย
เนื่องจากได้รับผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2018 การค้าโลกโดยรวมที่ยังคงชะลอตัวและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เซมิคอนดักเตอร์และสมาร์ตโฟนที่เข้าสู่ช่วงขาลง ทำให้ภาพรวมการส่งออกของเศรษฐกิจอาเซียน 4 หดตัวติดต่อกันตั้งแต่ต้นปี 2019 (ยกเว้นฟิลิปปินส์ที่การส่งออกพลิกกลับมาเป็นบวกช่วงไตรมาส 2) เช่นเดียวกับการลงทุนโดยรวม
ของเศรษฐกิจอาเซียน 4 ในไตรมาสสองที่ขยายตัวต่ำ โดยภาคเอกชนชะลอการลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนจากผลกระทบของสงครามการค้า ประกอบกับความล่าช้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐในอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม การบริโภคภาคเอกชนยังคงเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีตามอัตราการว่างงานที่ต่ำอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลเดือนมิถุนายน อัตราการว่างงานของอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และสิงคโปร์อยู่ที่ 5% 3.3% 5.4% และ 2.2% ตามลำดับ ซึ่งยังถือว่าค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอดีต

ทิศทางของเศรษฐกิจในระยะต่อไปขึ้นอยู่กับแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนและปัจจัยเฉพาะรายประเทศ

อินโดนีเซีย ขยายตัว 5.05%YOY ในไตรมาสสอง ซึ่งชะลอลงเล็กน้อยจาก 5.07%YOY ในไตรมาสแรก จากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมันที่ยังไม่ฟื้นตัวและผลกระทบจากสงครามการค้า ประกอบกับแผนการขาดดุลงบประมาณภาครัฐที่คาดว่าจะน้อยลงในปี 2019 และ 2020 ทำให้รายจ่ายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำและการเติบโตที่ชะลอลงทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่อง 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปีจาก 6% มาอยู่ที่ 5.25% ในเดือนกันยายนและยังมีแนวโน้มปรับลดลงได้อีก ในระยะต่อไป อีไอซีมองว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโตจากการบริโภคภาคครัวเรือนซึ่งสะท้อนจากยอดค้าปลีกที่ยังเติบโตและอัตราการว่างงานซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ดี

มาเลเซีย เติบโตเร่งขึ้นที่ 4.9%YOY ในไตรมาสสองจาก 4.5%YOY ในไตรมาสแรก จากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังเติบโตดี การส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีมีแนวโน้มทรงตัวจากการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้นทดแทนการหดตัวของการส่งออกหมวดสินค้าโภคภัณฑ์ ธนาคารกลางมาเลเซียปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง 1 ครั้งในเดือนพฤษภาคมจาก 3.25% เป็น 3% ในระยะต่อไป อีไอซีมองว่าการเติบโตของมาเลเซียจะยังคงได้แรงหนุนจากการการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกจากค่าเงินริงกิตที่ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐ

ฟิลิปปินส์ ขยายตัวชะลอลงที่ 5.5%YOY ในไตรมาสสองจาก 5.6%YOY ในไตรมาสแรก โดยมีสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการลงทุนภาคเอกชนและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้าทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐชะลอตัว ในขณะที่การส่งออกฟื้นตัวในไตรมาสสองจากการส่งออกสินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์และผลไม้ ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายไป 3 ครั้งตั้งแต่ต้นปี โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลงมาอยู่ที่ 4.00% จาก 4.75% เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
ที่ชะลอลง และยังมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยได้อีกเนื่องจากในปี 2018 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายถึง 175 basis points (จาก 3% สู่ระดับ 4.75%) ในระยะต่อต่อไป อีไอซีมองว่าการเติบโตของฟิลิปปินส์จะมีแนวโน้มจากการกระตุ้นทางการคลังและการใช้จ่ายของภาครัฐตามโครงการ Build Build Build และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใหม่ตามแผนของรัฐบาล

สิงคโปร์ เติบโตชะลอลงเหลือ 0.1%YOY หรือ -3.3%QOQ SAAR ในไตรมาสสองจาก 1.1%YOY ในไตรมาสแรก สาเหตุมาจากการหดตัวในเกือบทุกภาคส่วนทั้งการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกรวม ภาคอุตสาหกรรมการผลิตยังหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของสงครามการค้าและความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีน เพิ่มโอกาสของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิคในไตรมาสทืี่ 3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงต่อเนื่องอยู่ที่ 0.8% ในเดือนสิงหาคม อีไอซีคาดว่าธนาคารกลางสิงคโปร์มีแนวโน้ม
ปรับกรอบความชันของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (NEER) ให้ลดลงเพื่อไม่ให้เงินดอลลาร์สิงคโปร์แข็งค่าเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ลดลง

กลุ่มประเทศอาเซียน 4 มีแนวโน้มปรับทิศทางผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2019 และ 2020 ท่ามกลางความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากการบริโภคภาคครัวเรือนที่จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเติบโตในระยะต่อไป นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายผสานกับนโยบายการคลังผ่านการใช้จ่ายของภาครัฐและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนช่วยประคองให้กลุ่มประเทศอาเซียน 4 ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อในระยะข้างหน้าแม้ความเสี่ยงของผลกระทบสงครามการค้ายังคงมีอยู่

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ