SHARE
OUTLOOK:CHINA ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

เศรษฐกิจจีน

รัฐบาลออกนโยบายการเงินการคลังกระตุ้นชุดใหญ่ รับมือผลกระทบสงครามการค้า

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจจีน : รัฐบาลออกนโยบายการเงินการคลังกระตุ้นชุดใหญ่ รับมือผลกระทบสงครามการค้า

เศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัว 6.2%YOY ต่ำที่สุดในรอบ 27 ปี เนื่องจากผลของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อภาคการส่งออกสินค้า 8 เดือนแรกขยายตัวเพียง 0.4%YTD โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ หดตัวถึง 9.34%YTD การค้าที่ชะลอสร้างแรงกดดันไปยังภาคการผลิตซึ่งคิดเป็น 29.4% ของ GDP ให้ชะลอลง สะท้อนจากดัชนี PMI ภาคการผลิตในเดือนกันยายนอยู่ที่ 49.8 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ 50 โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กได้รับผลกระทบสูง ขณะที่ PMI ภาคบริการอยู่ที่ 53.7 ยังมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปีได้ อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าที่รุนแรงขึ้นกำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและชะลอการบริโภคภาคครัวเรือนโดยเฉพาะการบริโภคสินค้าคงทน ทำให้เศรษฐกิจครึ่งหลังมีแนวโน้มชะลอกว่าครึ่งแรกของปี โดยอีไอซีประเมินว่า เศรษฐกิจจีนปี 2019 จะขยายตัว 6.1%

ปี 2020 อีไอซีประเมินเศรษฐกิจจีนจะเติบโตชะลอลงที่ 5.8% ซึ่งรวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของรัฐบาลจีนแล้ว เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีท่าทีจะยุติลงในระยะสั้น ทำให้รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเน้นที่การลงทุนภาครัฐ เพื่อทดแทนภาคเอกชนที่ชะลอการการลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า โดยจีนพยายามให้รัฐบาลท้องถิ่นเร่งออกพันธบัตรให้ครบโควตาก่อนสิ้นปีนี้ ล่าสุดในเดือนสิงหาคมรัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรไปแล้วกว่า 91% ของโควตาทั้งหมด 2.15 ล้านล้านหยวน นอกจากนี้ รัฐบาลจีนพยายามกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน ด้วยการออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคอีก 20 ด้าน ทั้งการผ่อนคลายข้อจำกัดการซื้อรถยนต์และส่งเสริมการซื้อรถยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศที่กำลังชะลอลงได้

ธนาคารกลางจีนผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น เพื่อรับมือผลกระทบจากสงครามการค้า ล่าสุดธนาคารกลางจีนได้ลดสัดส่วนการดำรงเงินสำรอง (RRR) สำหรับทุกธนาคารลง 0.5% ซึ่งต่ำสุดตั้งแต่ปี 2007 และลด RRR สำหรับธนาคารพาณิชย์บางเมืองลง 1.0% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในภาคธนาคารและส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อภาคธุรกิจ อีไอซีมองว่าธนาคารกลางจีนมีโอกาสลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อสภาพคล่องระยะกลาง (MLF) รวมถึงการปฏิรูปอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime rate) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจและ SMEs ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งนี้ทิศทางนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับสถานการณ์สงครามการค้าหลังจากนี้ ประกอบด้วย 1) การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ มูลค่า 1.56 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐที่อัตรา 15% ในวันที่ 15 ธันวาคม และ 2) ท่าทีการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ รอบใหม่ในเดือนตุลาคม ซึ่งฝ่ายจีนมีอำนาจต่อรองมากขึ้นหลังประธานาธิบดีทรัมป์กำลังเสียคะแนนเสียงจากประเด็นการใช้อำนาจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจนนำไปสู่ความเสี่ยงของการถอดถอนจากตำแหน่ง

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินหยวน ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2019 อ่อนค่า 3.9%YTD เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากแรงกดดันของสงครามการค้าที่รุนแรงขึ้น ในระยะต่อไปหากความตึงเครียดทางการค้ายังคงมีอยู่ ซึ่งรวมถึงมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ หลังจากนี้ ทำให้เงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้อีก

• การส่งออกของไทยไปจีนใน 8 เดือนแรกของปี 2019 หดตัว 6.9%YOY โดยสินค้าสำคัญที่ส่งออกหดตัวส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้นและกลาง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง (-24.4%YOY), เคมีภัณฑ์ (-30.4%YOY) และคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-15.1%YOY) ขณะที่สินค้าผู้บริโภคยังขยายตัวดี อาทิ ผลไม้สด-แช่เย็น (105.9%YOY) แต่หากผลของสงครามการค้าส่งผลต่อผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น อาจมีความเสี่ยงที่ไทยจะส่งออกสินค้าผู้บริโภคไปจีนชะลอลงได้

• การลงทุนโดยตรงจากจีนในไทยครึ่งแรกของปี 2019 หดตัว 5.1%YOY อย่างไรก็ดี ในบางอุตสาหกรรมมีเม็ดเงินเข้ามาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางและพลาสติก ตัวอย่างเช่น บริษัท Sailun Tire ผู้ผลิตยางล้อรถยนต์สัญชาติจีนเตรียมย้ายฐานการผลิตยางล้อรถยนต์จากจีนมายังไทย เพื่อหลีกเลี่ยงความไม่แน่นอนของสงครามการค้าที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด

Outlook_Q4_2019_CN.jpg


ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ