SHARE
OUTLOOK:EUROZONE ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

เศรษฐกิจยูโรโซน

ประเทศเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย นโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายรับมือความเสี่ยง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 


เศรษฐกิจยูโรโซน : ประเทศเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย นโยบายการเงินการคลังผ่อนคลายรับมือความเสี่ยง


เศรษฐกิจยูโรโซนไตรมาส 2 ปี 2019 ขยายตัว 0.2%QOQ SA หรือ 1.2%YOY หากพิจารณารายประเทศ เศรษฐกิจเยอรมนีหดตัว 0.1%QOQ SA เนื่องจากเยอรมนีเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าการค้าถึง 87% ของ GDP จึงได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกค่อนข้างสูง ซึ่งกระทบต่อภาคการผลิตและการส่งออก สำหรับเศรษฐกิจอิตาลีไม่ขยายตัวจากผลของความไม่แน่นอนทางการเมือง ภาคเอกชนจึงชะลอการลงทุน ทำให้ทั้งเยอรมันและอิตาลีมีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจสเปนและฝรั่งเศสยังขยายตัวจากอุปสงค์ภายใน แนวโน้มช่วงที่เหลือของปี 2019 เศรษฐกิจยูโรโซนยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากทั้งปัจจัยภายนอกและภายในภูมิภาค ซึ่งก่อให้เกิดความไม่แน่นอนทั้งด้านการค้าและการเมือง อีไอซีประเมินเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2019 จะขยายตัวที่ 1.1%

นโยบายการคลังหนุนเศรษฐกิจยูโรโซนแต่อาจไม่มากเท่าที่ควร เศรษฐกิจยูโรโซนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยสูงขึ้นในประเทศหลัก รัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้ม
ใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเยอรมนีมีศักยภาพในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสูงที่สุด เนื่องจากมีหนี้สาธารณะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่เยอรมนีกลับเคร่งวินัยทางการคลังสูงและไม่ต้องการขาดดุลงบประมาณมาก จึงคาดว่าเยอรมนีจะใช้งบประมาณวงเงิน 5 หมื่นล้านยูโรหรือเพียง 1% ของ GDP เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่อิตาลีคาดว่าจะขาดดุลงบประมาณราว 2% ของ GDP ในปี 2020 จากคาดการณ์ในร่างงบประมาณปี 2019 ซึ่งอาจสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนได้บางส่วน ทั้งนี้อีไอซีประเมินเศรษฐกิจยูโรโซนปี 2020 จะขยายตัวที่ 1.0%

ECB ออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจยูโรโซน เนื่องจากยูโรโซนเผชิญกับความเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกต่อเนื่องจนทำให้เศรษฐกิจมีความเสี่ยงชะลอลงกว่าที่คาด เป็นสาเหตุให้การประชุมนโยบายการเงินของ ECB ในเดือนกันยายน 2019 คณะกรรมการได้ประกาศใช้เครื่องมือที่หลากหลายเพื่อผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1) ปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (deposit facility rate) ลดลง 0.1% เป็น -0.5% 2) เริ่มต้นใช้ระบบการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินสำรองส่วนเกินของธนาคารพาณิชย์แบบลำดับขั้น (Tiered-deposit rate) 3) ประกาศโครงการเข้าซื้อพันธบัตร (APP) รอบใหม่ วงเงิน 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือนโดยไม่กำหนดเวลาสิ้นสุด และ 4) สื่อสารทิศทางนโยบายการเงินใหม่โดยเน้นย้ำถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่ากรอบ

จับตาความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2019 และ 2020 ได้แก่ 1) การเจรจาข้อตกลงการค้าสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ หากสามารถบรรลุข้อตกลงจะช่วยลดความเสี่ยงของภาษีนำเข้ายานยนต์และชิ้นส่วนจากสหรัฐฯ และ 2) บทสรุปของ Brexit โดยประเด็นสำคัญของการเจรจา คือ การแก้ไขแผน Backstop อีไอซีมองว่าเนื้อหาข้อตกลงใหม่ของนายบอริส จอห์นสันจะไม่แตกต่างกับข้อตกลงเดิมของนางเทเรซา เมย์มากนัก

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินยูโร ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2019 อ่อนค่า4.6%YTD เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากเศรษฐกิจยูโรโซนมีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังเยอรมนีเติบโต
ติดลบ แม้ว่า ECB ออกมาตรการผ่อนคลายมากขึ้นก็ตาม ทั้งนี้อีไอซีคาดว่าเงินยูโรปลายปี 2019 จะอยู่ที่ราว 1.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร

• การส่งออกไทยไปยูโรโซนในช่วง 8 เดือนแรกของปีหดตัว 7.3%YOY โดยสินค้าส่งออกสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (-19%YOY) และอัญมณีและเครื่องประดับ (-2.2%YOY) เป็นต้น สำหรับในช่วงที่เหลือของปี การส่งออกสินค้าไปยังยูโรโซนมีแนวโน้มชะลอลงกว่า
ในช่วงก่อนหน้าตามภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนที่มีความเสี่ยงภาวะถดถอยสูงขึ้น

• การลงทุนทางตรงจากยูโรโซนมายังไทยในครึ่งแรกของปี 2019 หดตัว 30.4%YOY โดยธุรกิจสำคัญ 3 อันดับที่เข้ามาลงทุนในไทย ได้แก่ ธุรกิจขายส่งขายปลีก, อุตสาหกรรมผลิตคอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ และล่าสุดในเดือนสิงหาคม เยอรมนีเป็นประเทศที่ขออนุญาตประกอบธุรกิจมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวน 6 ราย เงินลงทุนราว 54 ล้านบาท


Outlook_Q4_2019_EU.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ