SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
08 ตุลาคม 2019

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2019 และปี 2020 (ไตรมาส 4/2019)

เศรษฐกิจโลกปี 2019 สงครามการค้ากลับมาปะทุ ธนาคารกลางหลักเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบาย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 4/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 


เศรษฐกิจโลกช่วงปลายปี 2019 และแนวโน้มปี 2020 มีทิศทางชะลอตัวลงต่อเนื่องตามผลกระทบสงครามการค้าที่กระจายตัวมากขึ้น ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกได้ทยอยผ่อนคลายนโยบายการเงินและเริ่มพิจารณาใช้นโยบายการคลังเพื่อประคับประคองการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (การเติบโตทางเศรษฐกิจหดตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสติดต่อกัน 2 ไตรมาส) สูงขึ้นมากในหลายประเทศที่มีสัดส่วนการค้าต่อ GDP สูง เช่น เยอรมนี ฮ่องกงและสิงคโปร์ ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงจากผลกระทบสงครามการค้า ความไม่แน่นอนทางธุรกิจจากความเสี่ยงใหม่ที่ปะทุขึ้นในหลายประเด็นและกระจายตัวในหลายภูมิภาค เช่น การประท้วงในฮ่องกง เสถียรภาพรัฐบาลในยูโรโซนและละตินอเมริกา ความขัดแย้งระหว่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ทำให้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2020 ในเกือบทุกภูมิภาคมีความเสี่ยงถูกปรับประมาณการลง โดยเฉพาะผลกระทบต่อเนื่องของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนซึ่งยังคงบั่นทอนแนวโน้มการลงทุนโลกและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกผ่านต้นทุนทางการค้าที่สูงขึ้นจากกำแพงภาษี และการชะลอตัวของการค้าโลกจากการปรับห่วงโซ่อุปทานการผลิตในหลายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตาม ตลาดแรงงานในหลายภูมิภาคทั่วโลกยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราการว่างงานที่ยังคงต่ำ ทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปได้ อย่างไรก็ดี ผลกระทบของสงครามการค้าและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างไม่เพียงเฉพาะด้านการค้าการลงทุน แต่เริ่มขยายผลกระทบผ่านช่องทางอื่น เช่น ความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนที่ลดลง ภาวะการเงินที่ตึงตัวฉับพลันในบางช่วงเวลาจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก การชะลอตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางหลักทั่วโลกทั้ง Fed ECB BOJ และ PBOC และอีกหลายประเทศมีแนวโน้มดำเนินนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและเพิ่มสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจควบคู่กับนโยบายการคลังที่ผ่อนคลายผ่านมาตรการกระตุ้นต่าง ๆ ซึ่งจะมีบทบาทมากขึ้นในการช่วยลดความเสี่ยงของโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้บางส่วนในระยะข้างหน้า

อีไอซีมองว่า ความเสี่ยงสำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2019 และในปี 2020 มี 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) สงครามการค้าและความขัดแย้งของสหรัฐฯ-จีน 2) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ Brexit และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 3) ปัญหาและความเปราะบางเฉพาะรายประเทศที่มีความเสี่ยงขยายผลกระทบในระยะต่อไป ผลกระทบจากสงครามการค้ายังคงส่งผลลบต่อเนื่องจากการที่ปัจจุบันทั้งสหรัฐฯ และจีนได้ขึ้นภาษีนำเข้าต่อกันเกือบเต็มเพดานการนำเข้าของทั้ง 2 ประเทศแล้ว โดยฝั่งสหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าจีนรวมมูลค่าราว 5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และฝั่งจีนขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ราว 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้การเจรจาทางการค้ายังคงดำเนินควบคู่ไปด้วย แต่ความขัดแย้งด้านการค้าของสหรัฐฯ-จีนที่ได้ลุกลามสู่สงครามเทคโนโลยีและสงครามค่าเงินยิ่งเป็นการลดโอกาสในการประนีประนอมกัน และทำให้การบรรลุข้อตกลงทางการค้าเพื่อยุติสงครามการค้ายังมีความเป็นไปได้ต่ำจากจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนพฤศจิกายนยังคงมีอยู่ สหภาพยุโรป รวมถึงผู้ส่งออกในหมวดยานยนต์ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงเฝ้าติดตามความคืบหน้าในการเรียกเก็บภาษีจากทางการสหรัฐฯ ในอีกด้าน ประเด็น Brexit ยังคงยืดเยื้อและมีแนวโน้มกลับมาสร้างความผันผวนได้ ตราบใดที่สหราชอาณาจักรยังไม่สามารถหาข้อสรุปการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปได้ชัดเจน โอกาสการเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง (no-deal) ยังคงมีอยู่ซึ่งจะส่งผลลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในระยะต่อไป ในขณะที่ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ปะทุขึ้น อาทิ การยกระดับการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ จากเหตุการณ์โจมตีทางอากาศที่แหล่งผลิตน้ำมันของซาอุดีอาระเบียที่สร้างความผันผวนต่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงและราคาน้ำมันในตลาดโลก จะยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนต่อภาคธุรกิจจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก สุดท้าย ความเสี่ยงและความเปราะบางเฉพาะรายประเทศ เช่น การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง เสถียรภาพการเมืองในอิตาลี และความขัดแย้งของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ จะยังคงเป็นปัจจัยรั้งและเพิ่มความเสี่ยงให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหากประเด็นดังกล่าวบานปลายจนส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจเป็นวงกว้าง


Outlook_Q4_2019_Global_Sum.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ