SHARE
SCB EIC BRIEF
18 กรกฏาคม 2019

The Rise of China … จีนกับบทบาทที่น่าจับตาในการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่

นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “จีน” คือประเทศมหาอำนาจที่น่าจับตามองมากที่สุด ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก



iStock-600155006.jpg

The Rise of China … จีนกับบทบาทที่น่าจับตาในการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่

นาทีนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า “จีน” คือประเทศมหาอำนาจที่น่าจับตามองมากที่สุด ทั้งในฐานะผู้บริโภคและผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก อีกทั้งยังมีบทบาทเชิงรุกที่เชื่อมโยงกับโลกในหลากหลายมิติ ทั้งในมิติการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตามนโยบาย “Go Global” หรือ “ยุทธศาสตร์จีนบุกโลก” ซึ่งรวมไปถึงการสร้างพันธมิตรเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางการค้าและแผ่ขยายอิทธิพลไปยังภาคธุรกิจต่าง ๆ และเพิ่มอำนาจต่อรองในเวทีระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ ระบบขนส่งคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจพลังงาน ภาคการผลิต หรือแม้แต่ในภาคเกษตรกรรม โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง เพื่อแลกกับการเข้าถึงตลาดหรือแหล่งทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศนั้น ๆ ซึ่งเป็นโมเดลที่สอดรับกับ China’s Belt and Road Initiative (BRI) ซึ่งเป็น Roadmap สำคัญที่ถูกนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจจีนเข้ากับเศรษฐกิจโลกผ่านการพัฒนาโครงข่ายเส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ถูกพัฒนาต่อยอดมาจากทฤษฎีเส้นทางสายไหม (Silk Road Concept) ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั่นเอง

สำหรับในภาคเกษตรกรรม ต้องยอมรับว่าปัจจุบัน จีนคือหนึ่งในประเทศที่มีการพัฒนาในเรื่องการเกษตรสมัยใหม่ หรือ Modern Agriculture อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่อง Indoor Farming ที่มีความรุดหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยได้มีการก่อสร้างโรงงานปลูกพืชขนาดใหญ่ในหลากหลายพื้นที่ทั้งภายในประเทศจีนเองและในหลายภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในอภิมหาโปรเจกต์ของจีนที่น่าจับตามองคือ การใช้ Greenhouse Technologies เพื่อพลิกฟื้นพื้นที่ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศแห้งแล้งอย่างทะเลทรายของอียิปต์ให้กลายเป็น “พื้นที่สีเขียว” ที่สามารถทำประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมได้ ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นมาจากความร่วมมือภายใต้โครงการด้านการเกษตรระหว่างรัฐบาลจีนและอียิปต์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2017 ภายใต้เม็ดเงินลงทุนที่สูงถึง 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบราว 13,000 ล้านบาท ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อมุ่งพัฒนาให้ภาคเกษตรกรรมของอียิปต์ก้าวไปสู่การเกษตรยุคใหม่โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นตัวขับเคลื่อน โดยเมื่อช่วงปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการก่อสร้างโรงเรือนกระจก หรือ Greenhouse ขนาดใหญ่จำนวน 600 หลังบนพื้นที่ขนาด 6,250 ไร่กลางทะเลทรายในเมือง 10th of Ramadan ทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงไคโร เพื่อปลูกพืชผักและผลไม้สดนานาชนิด โดยวัสดุและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งหมดรวมทั้งช่างเทคนิคที่เกี่ยวข้องล้วนถูกส่งตรงมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น นอกจากนี้ ภายในบริเวณโรงเรือนยังมีพื้นที่สำหรับคัดแยก บรรจุหีบห่อ และจัดเก็บผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานในระดับสากลอีกด้วย

ทั้งนี้กุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ คือความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ทันสมัยด้านการเกษตรเพื่อเอาชนะธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งนับเป็น paradigm shift และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของภาคเกษตรกรรม โดยสำหรับในกรณีนี้คือ การเปลี่ยนจากการเพาะปลูกแบบ Outdoor Farming หรือ “การทำเกษตรกลางแจ้ง” ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบดั้งเดิม มาสู่ Indoor Farming หรือ “การทำเกษตรในร่ม” โดยใช้เทคโนโลยีเรือนกระจกสำหรับเพาะปลูกพืชผักและผลไม้ต่าง ๆ กลางทะเลทรายนั่นเอง ซึ่งการนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้ทำให้เราสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมและตัวแปรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณแสงแดด ปริมาณและคุณภาพน้ำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิดภายใต้ระบบปิดในเรือนกระจก ซึ่งตัวแปรเหล่านี้ล้วนมีผลโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของพืชเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มต่อพื้นที่เพาะปลูกให้สูงที่สุด

อนึ่ง ความมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะเป็นการพลิกโฉมภาคเกษตรกรรมของอียิปต์แล้ว ยังทำให้ประเทศที่เต็มไปด้วยท้องทะเลทรายซึ่งได้ชื่อว่าเป็น net food importer กำลังมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และมีความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้นอีกด้วย โดยอียิปต์ได้เริ่มปรับเปลี่ยนบทบาทจากประเทศผู้นำเข้ามาเป็นประเทศผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรส่วนเกินที่เหลือจากความต้องการบริโภคภายในประเทศไปขายยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมะเขือเทศ แตงกวา พริกไทย รวมถึงถั่วชนิดต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันปริมาณสินค้าที่ส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15% ของผลผลิตทางการเกษตรทั้งหมดที่ผลิตได้ภายใน Glasshouse ที่สร้างขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น โครงการดังกล่าวนี้ยังช่วยสร้างงานให้กับคนในพื้นที่ถึงกว่า 6,000 ตำแหน่งอีกด้วย อนึ่ง นอกเหนือไปจากโรงเรือนจำนวน 600 หลังที่ได้ก่อสร้างเสร็จไปแล้วในเมือง 10th of Ramadan ยังมีเรือนกระจกอีก 2,350 แห่งที่หมู่บ้าน Abu Sultan ในจังหวัด Ismailia ของอียิปต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างบนพื้นที่กว่า 24,000 ไร่กลางทะเลทราย ซึ่งโดยรวมแล้ว การก่อสร้างโรงเรือนกระจกในทั้ง 2 พื้นที่ดังกล่าวจะช่วยสร้างงานให้กับชาวอียิปต์ได้มากถึงราว 30,000 ตำแหน่งเลยทีเดียว ซึ่งกระแสการลงทุนของนักลงทุนจีนในรูปแบบนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเป็นอย่างดี และกำลังค่อย ๆ สยายปีกครอบคลุมไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นต้น เพื่อเปลี่ยนพื้นดินที่ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้อย่างทะเลทรายให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารในอนาคตอันใกล้

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้น คือจุดเปลี่ยนที่น่าจับตามองของภาคเกษตรกรรมในโลกแห่งอนาคต และกำลังมีส่วนสั่นคลอนบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลก เพราะ โมเดลการเติบโตของธุรกิจการเกษตรในอนาคตกำลังถูกขับเคลื่อนโดยอาศัยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นตัวนำร่อง ไม่ใช่จากความโชคดีของทำเลที่ตั้งประเทศและความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติแบบในน้ำมีปลาในนามีข้าวอีกต่อไป ดังนั้นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่ทันสมัยและนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมจึงเป็นทั้งทางเลือกและทางรอดที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนอกเหนือไปจากการทำการเกษตรภายในสิ่งปลูกสร้างอย่าง Indoor Farming หรือ Vertical Farming เพื่อควบคุมสภาวะแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผลผลิตทางการเกษตรที่มีราคาสูงแล้ว ไทยยังควรให้ความสำคัญกับการเกษตรแบบแม่นยำสูง (precision agriculture) ที่เน้นประสิทธิภาพในการเพาะปลูก โดยนำเอาเทคโนโลยีและระบบเซ็นเซอร์เข้ามาช่วยในกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การตรวจวัดสภาพดิน ความชื้น แร่ธาตุ ความเป็นกรดเป็นด่าง รวมไปถึงระบบสั่งการและควบคุมการให้น้ำให้ปุ๋ยแบบอัตโนมัติ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (yield) รวมถึงการปรับปรุงสายพันธุ์เพื่อพัฒนาคุณภาพและรสชาติของผลผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาถึงโอกาสทางธุรกิจในการเชื่อมโยงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มของจีนเพื่อแก้เกมและรองรับกับความท้าทายที่มากขึ้นจากการที่จีนจะกลายมาเป็นคู่แข่งในสินค้าเกษตรกับไทย หรือแม้แต่การแสวงหาตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอาหารใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานผู้บริโภคและกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดส่งออกเดิม ๆ ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นสิ่งที่ภาครัฐและผู้ประกอบการไทยไม่ควรมองข้ามและต้องเตรียมรับมือไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย และขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาสินค้าเกษตรเชิงนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบเศรษฐกิจที่สอดรับกับยุทธศาสตร์การเติบโตแบบ Value-Based Economy ของรัฐบาล

                                              

เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 สิงหาคม 2019

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ