ปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ ด้วย Bioeconomy
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ใน EEC
ปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ ด้วย Bioeconomy
อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นหนึ่งใน 12 กลุ่มอุตสาหกรรม S-curve ใน EEC โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาสู่การเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ “Bioeconomy” ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบทางการเกษตร และมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำด้านวัตถุดิบทางการเกษตร กลางน้ำ จากโรงงานผลิตน้ำตาล โรงงานผลิตแป้งมันสำปะหลัง และโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม และปลายน้ำ จากโรงกลั่นน้ำมัน และโรงผลิตโอลีโอเคมีที่มีกำลังผลิตเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศ
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของไทยยังต้องเผชิญกับความท้าทายทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด ในด้านการผลิต กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้ว่าไทยยังพึ่งพาเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศ และยังต้องสั่งสมองค์ความรู้เพื่อต่อยอดในการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิตและคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ในด้านการตลาดการกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อเพิ่มความต้องการใช้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะสร้างตลาดและผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ เช่น ไบโอพลาสติก สามารถแข่งขันได้กับผลิตภัณฑ์ที่มาจากปิโตรเลียมที่มีราคาถูกกว่า
ความต้องการผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้มีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพมากขึ้น เช่น หลายประเทศได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกเพื่อสร้างตลาดและความต้องการในประเทศ เช่น ญี่ปุ่นที่มีเป้าหมายเพิ่มการใช้ไบโอพลาสติกจากราว 70,000 ตัน ในปี 2013 เป็น 2 ล้านตันภายในปี 2030 สหรัฐที่มีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐซื้อสินค้าจากอุตสาหกรรมชีวภาพ และสหภาพยุโรปที่มีการเสนอให้บรรจุภัณฑ์มีการใช้วัตถุดิบที่ทำจากวัสดุชีวภาพ 10% ภายในปี 2030 โดย European Bioplastics คาดการณ์ว่า กำลังการผลิตพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มราว 24% จาก 2.11 ล้านตันในปี 2018 เป็น 2.62 ล้านตันในปี 2023
ในขณะเดียวกัน ผลิตภัณฑ์ชีวภาพก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาเพื่อให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพของโลก ที่เริ่มมีความกังวลว่าจะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร เพราะการแย่งใช้ทรัพยากรในการผลิต เช่น น้ำ และพื้นที่เพาะปลูก เป็นต้น ปัจจุบันอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพในไทยนั้นผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ “รุ่นแรก” (first generation biofuels) จากวัตถุดิบทางอาหาร เช่น เอทานอลจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลัง และไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม แต่เทรนด์การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่ไม่ได้ผลิตจากอาหาร (advanced biofuels) จะเพิ่มสูงขึ้น เช่น เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 (second generation biofuels) ที่ผลิตจากของเหลือใช้จากอุตสาหกรรมเกษตรที่มีเซลลูโลสเป็นองค์ประกอบ เช่น หญ้า ซังข้าวโพด ทะลายปาล์ม และ เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 3 (third generation biofuels) ที่ผลิตจากพืชพลังงาน เช่น สาหร่าย โดยบริษัท Allied Market Research คาดว่าตลาด advanced biofuels ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 57,124 ดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2022
จากเทรนด์การใช้ผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีแนวโน้มว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบัน 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย ได้พัฒนานโยบาย Bioeconomy เพื่อสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบทางการเกษตร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นไทยควรเร่งส่งเสริมการวิจัยพัฒนา พัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพออกสู่ตลาดมากขึ้น ควบคู่ไปกับการสร้างอุปสงค์ของผลิตภัณฑ์ชีวภาพในประเทศ เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันจากความพร้อมด้านวัตถุดิบและต่อยอดอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในประเทศเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้าน Bioeconomy อย่างชัดเจน
______________
เผยแพร่ในกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ smart eec วันที่ 15 สิงหาคม 2019