SHARE

Family Business: กงสี ดี ต่อเศรษฐกิจ

สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวก็คือความรู้สึกเป็นเจ้าของ


iStock-1156096411.jpg



Family Business: กงสี ดี ต่อเศรษฐกิจ

สิ่งที่ดีที่สุดเกี่ยวกับธุรกิจครอบครัวก็คือความรู้สึกเป็นเจ้าของ ซึ่งความรู้สึกเป็นเจ้าของนี้ทำให้เอาชนะอุปสรรคสำคัญของทุนนิยมสมัยใหม่สองประการ นั้นคือการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ระยะสั้นและปัญหาตัวแทน

ที่มา : The Economist, April 16th, 2015


ธุรกิจครอบครัว (Family Business) หรือกิจการที่ความเป็นเจ้าของส่วนใหญ่จำกัดภายในวงศ์ตระกูลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อยทั้งในแง่ของมูลค่ากิจการและจำนวนของบริษัท
ในปี 2018 Credit Suisse ได้ประเมินมูลค่าของธุรกิจครอบครัวทั้งหมดในไทยว่ามีถึงราว 30 ล้านล้านบาท และกระจายอยู่ในทุกภาคส่วนธุรกิจ ทั้งนี้ธุรกิจครอบครัวไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ในปี 2019 Earnest and Young (EY) ร่วมกับมหาวิทยาลัย  St. Gallen ได้จัดทำดัชนี Family Business 500 ซึ่งจัดอันดับบริษัทครอบครัวที่ใหญ่ที่สุด 500 บริษัท ของโลกซึ่งมีบริษัทไทยติดอันดับอยู่ถึง 4 บริษัท1นอกจากนี้ ตามข้อมูลของ PwC ประเทศไทย พบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีลักษณะเป็นธุรกิจครอบครัว จะเห็นได้ว่าธุรกิจครอบครัวมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับธุรกิจครอบครัวมากขึ้นโดยเฉพาะในส่วนของ SME บทความนี้จะให้คำจัดกัดความอย่างกว้างของธุรกิจครอบครัวคือ ธุรกิจที่มีจำนวนผุ้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกมีนามสกุลเดียวกันอย่างน้อย 2 คนขึ้นไป2 

ธุรกิจครอบครัวถือเป็นส่วนใหญ่สำหรับ SME ไทยทั้งในแง่จำนวนและในแง่รายได้ จากฐานข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในไทยของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัทที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีอย่างน้อยประมาณ 58% จากจำนวน SME ทั้งหมดที่จดทะเบียนและทำกิจการอยู่ในปี 2018 (ประมาณ 7 แสนราย) และมีรายได้รวมทั้งหมด 14.5 ล้านล้านบาทในปี 2017 ซึ่งคิดเป็น 75% ของรายได้รวมของ SME ทั้งหมดในประเทศไทย(19.4 ล้านล้านบาท) ในปี 2017 ธุรกิจครอบครัวนั้นกระจายอยู่ในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ เช่นในธรุกิจค้าส่งและค้าปลีกประมาณ 2.6 แสนราย (คิดเป็น 57% ของ SME ทั้งหมดในภาคธุรกิจนี้), ในภาคการผลิตประมาณ 9 หมื่นราย (60%) และก่อสร้าง 8.8 หมื่นพันราย (50%) ตามลำดับ3 

SME ครอบครัวในไทยมีความเข้มแข็งกว่าธุรกิจ SME ที่ไม่ใช่ครอบครัว ซึ่งตรงนี้สอดคล้องกับงานวิจัยต่างประเทศหลายชิ้น4 ทั้งในแง่ของอัตราการปิดกิจการและประสิทธิภาพของธุรกิจ

1. เราพบว่าอัตราการปิดกิจการ (exit rate) ต่ำกว่าโดยเปรียบเทียบ ซึ่งอัตราการปิดกิจการวัดจากจำนวนบริษัทที่ปิดกิจการในปีนั้น ๆ เทียบกับจำนวนบริษัทที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ณ ต้นปี จากรูปที่ 1  จะเห็นได้ว่า SME ที่เป็นกิจการครอบครัวมีอัตราการปิดกิจการที่ต่ำกว่า SME ทั่วไป ซึ่งในระหว่างปี 2008-2018 อัตราการปิดกิจการเฉลี่ยของ SME ครอบครัวอยู่ที่ 5.6% ซึ่งอัตราการปิดกิจการของ SME ทั่วไปอยู่ที่ 8% ซึ่งเมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมแล้วพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกันทุกอุตสาหกรรม เช่น ในภาคการผลิตระหว่างช่วงเดียวกันอยู่ที่ 4.8% (FB)5 เทียบกับ 6.4% (NFB) ในภาคก่อสร้างอยู่ที่ 7.3% (FB) เทียบกับ 8.7% (NFB) ในภาคโรงแรมและร้านอาหารอยู่ที่ 5.5% (FB) เทียบกับ 7.8% (NFB)

2. ขณะเดียวกันเราพบว่าอัตราการอยู่รอดของกิจการครอบครัวสูงกว่ากิจการที่ไม่ใช่ครอบครัวอย่างเห็นได้ชัด อัตราการอยู่รอดของกิจการ วัดจากสัดส่วนของจำนวนบริษัทที่เหลืออยู่ในแต่ละปีเทียบกับจำนวนบริษัททั้งหมดที่เริ่มกิจการในปีนั้น ตามรูปที่ 1 เราพบว่าสำหรับบริษัท (SME) ที่เริ่มกิจการในปี 2010 (ประมาณ 5หมื่นบริษัท) เมื่อผ่านไป 5 ปี กิจการที่เป็นธุรกิจครอบครัว (FB) จะเหลืออยู่ ประมาณ 84% และกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว (NFB) จะเหลืออยู่ 75% รูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกปีเกิดของกิจการ และในทุกภาคส่วนของธุรกิจ เช่นในภาคการผลิตหลังจากผ่านไป 5 ปีอยู่ที่ 86% (FB) เทียบกับ 77.5% (NFB) ในภาคก่อสร้างอยู่ที่ 83% (F) เทียบกับ 74% (NFB) ในภาคโรงแรมและร้านอาหารอยู่ที่ 87% (F) เทียบกับ 73% (NFB) รูปแบบเช่นนี้เกิดขึ้นกับทุกปีเกิดของกิจการในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

sme01.png

3. ตัวชี้วัดอีกตัวหนึ่งที่นิยมใช้ในงานวิจัยเพื่อวิเคราะห์ประสิทธิภาพของธุรกิจคือ ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (RoA) และยอดขายต่อสินทรัพย์ (Sales to Asset ratio) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบ SME ระหว่างกลุ่มเป็น SME ครอบครัวและ SME ที่ไม่ใช่ครอบครัวจะพบว่า SME ครอบครัวมีค่าเฉลี่ยและค่ากลางของทั้งสองอัตราส่วนนี้อยู่ในระดับที่สูงกว่าตามตารางที่  1

sme02.png

ทุนจดทะเบียนเริ่มกิจการครั้งแรกสูงกว่าสำหรับธุรกิจในเกือบทุก ๆ ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉลี่ยธุรกิจ SME ที่เป็นกิจการครอบครัวมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น (ณ ครั้งแรกที่จดทะเบียน) อยู่ที่ราว 2.4 ล้านบาท เทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช่ครอบครัวที่ 2 ล้านบาท ยกเว้นในบางอุตสาหกรรม เช่น การศึกษา ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร และ กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ ในขณะเดียวกัน ประมาณ 20% ของธุรกิจครอบครัวมีการเพิ่มทุนมากกว่าหนึ่งครั้งเทียบกับประมาณ 16% ของธุรกิจที่ไม่ใช่ครอบครัว ทั้งทุนจดทะเบียนและจำนวนครั้งของการเพิ่มทุนที่สูงกว่าสะท้อนถึงขีดความสามารถในการระดมทรัพยากรที่สูงกว่าของกิจการครอบครัว ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าปัจจัยหนึ่งที่ธุรกิจครอบครัวเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากกว่าคือการที่มีจุดเริ่มต้นที่ดีกว่านั้นเอง

ทั้งนี้ลักษณะเฉพาะตัวอย่างหนึ่งของธุรกิจครอบครัวคือการที่กิจการมักจะมีต้นทุนตัวแทนหรือ Agency Cost ที่ต่ำกว่าธุรกิจประเภทเดียวกันที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว ซึ่งกิจการที่ไม่ใช่ครอบครัวมักประสบปัญหาตัวแทน (Agency Problem) หรือการที่ผู้บริหารและเจ้าของมีเป้าหมายและแรงจูงใจไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น การที่ผู้บริหารคำนึงถึงผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลักหรือผู้บริหารมองเป้าหมายระยะสั้นในระยะเวลาที่ตนเองบริหารงานซึ่งอาจจะขัดกับการสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นในระยะยาว ดังนั้นเมื่อธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวทั้งส่วนที่เป็นผู้บริหารและผู้ถือหุ้นเพื่อกำหนดเป้าหมายของกิจการและครอบครัวร่วมกันจะนำไปสู่ทั้งการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และการให้ความสำคัญกับเป้าหมายระยะยาวมากกว่า ในแง่นี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ธุรกิจที่เป็นธุรกิจครอบครัวย่อมมีความได้เปรียบกว่า

ธุรกิจครอบครัวควรเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและมุ่งสร้างวัฒนธรรมความเป็นมืออาชีพในองค์กร ธุรกิจครอบครัวย่อมมีต้นทุนตัวแทนที่ต่ำจากการที่ผู้บริหารและเจ้าของเป็นคน ๆ เดียวกันโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก ทั้งนี้การที่กิจการจะเติบโตต่อไปในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งพฤติกรรมผู้บริโภค เทคโนโลยีใหม่ ๆ และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น นอกจากการมีต้นทุนตัวแทนต่ำแล้วยังต้องมีรูปแบบองค์กรที่พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ หลาย ๆ ครั้งการเป็นธุรกิจครอบครัวที่ส่งต่อแบบรุ่นสู่รุ่น อาจยึดติดกับการทำธุรกิจเดิม ๆ ที่เคยได้ผลในอดีตซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทำธุรกิจในปัจจุบันที่ต้องการความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจอย่างรวดเร็ว นอกเหนือจากนั้นธุรกิจครอบครัวควรเสริมสร้างวัฒนธรรมธรรมความเป็นมืออาชีพให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับกิจการหรือครอบครัวขนาดใหญ่ เพราะไม่ว่าทั้งขนาดของครอบครัวหรือภาระงานที่มากขึ้น ย่อมเกินกว่าสมาชิกในครอบครัวจะสามารถรับผิดชอบได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวที่อาจก่อให้เกิดปัญหาระหว่างสมาชิกในครอบครัว จึงจำเป็นที่กิจการโดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ต้องแบ่งแยกระหว่างหน้าที่บริหารและกรรมการออกจากกันหรือแปลงตัวเองไปสู่ธุรกิจครอบครัวแบบมืออาชีพ แม้ว่าอาจจะตามมาด้วยต้นทุนตัวแทนที่สูงขึ้นก็ตาม

1 CPF (อันดับที่ 108), CP ALL (อันดับที่ 114), Indorama (อันดับที่ 195), Thai Beverage (อันดับที่ 298)
2ซึ่งเงื่อนไขเช่นนี้มีข้อจำกัดบางประการ เช่น ไม่ได้นับรวมผู้ที่เปลี่ยนนามสกุล เป็นต้น
3 ทั้งนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจจะต่ำกว่าความเป็นจริงอยู่บ้างเนื่องจากยังไม่ได้นับรวมผู้ถือหุ้นที่เป็นนิติบุคคลซึ่งก็อาจจะเป็นบริษัทครอบครัวเช่นกัน และยังไม่ได้รวมห้างร้านที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลกับกรมส่งเสริมพัฒนาธุรกิจการค้า
4 สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จาก Dyer 2006 Pounder 2015 และ Dyer 2019 ซึ่งได้ทำวรรณกรรมวิเคราะห์งานศึกษาต่าง ๆ เอาไว้
5 FB Family Business หรือธุรกิจครอบครัว และ NFB หรือธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว

                                                

เผยแพร่ในการเงินการธนาคาร คอลัมน์เกร็ดการเงิน วันที่ 18 กรกฎาคม 2019

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ