เตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เทคโนโลยี 5G
เตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เทคโนโลยี 5G
เตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เทคโนโลยี 5G
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยี 5G เป็นกระแสที่ทั่วโลกให้ความสนใจเนื่องจากเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital transformation) จากคุณสมบัติที่สามารถรองรับการรับส่งข้อมูลจำนวนมหาศาลด้วยความเร็ว ความแรง และความเสถียรเทียบเท่ากับการใช้งานผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (fibre-optic) ทำให้เทคโนโลยี 5G ไม่ได้จำกัดการใช้งานเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น แต่สามารถตอบโจทย์การใช้งานให้กับภาคอุตสาหกรรมอีกด้วย โดยประเทศยักษ์ใหญ่เช่น จีน สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ ได้นำร่องเปิดให้บริการในบางพื้นที่เรียบร้อยแล้วในปีนี้ ขณะที่ ไทยกำหนดโรดแมป (roadmap) ที่จะเปิดใช้ 5G เชิงพาณิชย์ในปี 2020 ซึ่งสอดคล้องกับอีกหลายประเทศทั่วโลก
สำหรับไทย เทคโนโลยี 5G เปรียบเสมือนรากฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสร้างประโยชน์ให้กับภาคเศรษฐกิจในระยะยาว ทุกวันนี้โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมจึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของไทย เทคโนโลยี 5G ถือเป็นกุญแจสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจและพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยในยุคดิจิทัล ซึ่งภาครัฐมีความตั้งใจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G เชื่อมโยงทุกอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและภาคบริการให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในอนาคต โดยภาครัฐคาดว่าเทคโนโลยี 5G จะใช้งานในไทยอย่างแพร่หลายในปี 2035 และจะสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมโดยรวมกว่า 2.3 – 5 ล้านล้านบาท ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมและด้านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมจึงเป็นจำเป็นต้องเร่งดำเนินการก่อนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ถึงแม้ว่าไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมแบบไร้สายมาอย่างต่อเนื่อง แต่การก้าวสู่ 5G ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (operator) ต้องมีคลื่นความถี่ตามที่กำหนดและมีความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน ซึ่งประเมินว่าจะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานด้านการสื่อสารและบริการทั่วโลกได้กำหนดมาตรฐานคลื่นความถี่ที่ operators ต้องครอบครองสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ไว้ 3 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงคลื่นความถี่ต่ำกว่า 1 GHz, 1-6 GHz และ สูงกว่า 6 GHz ซึ่งจะกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจาก operator ไทยส่วนใหญ่ยังได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ไม่ครอบคลุมตามช่วงคลื่นที่กำหนด นอกจากต้นทุนในส่วนของคลื่นความถี่แล้ว operator แต่ละรายยังต้องเตรียมความพร้อมด้านโครงข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการขยายโครงข่าย การเพิ่มสถานีฐาน และการอัปเกรดอุปกรณ์รับสัญญาณ โดย ITU ประเมินว่า การให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเพิ่มสถานีฐานมากถึง 40-50 เท่าจากสถานีฐาน 4G เดิม นั่นหมายถึงเม็ดเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาล
ในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลควรมีการกำหนดย่านความถี่ที่ใช้และเงื่อนไขใบอนุญาตให้ชัดเจน รวมถึงการใช้โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน (Infrastructure sharing) ที่ควรมีการพิจารณาเพื่อลดต้นทุนการติดตั้งโครงข่ายซ้ำซ้อนและย่นระยะเวลาในการติดตั้ง เช่นเดียวกับในอังกฤษที่มีการใช้เสาสัญญาณโทรคมนาคมทั้งหมดร่วมกันระหว่าง operators ขณะที่ ไทยมีการใช้เสาสัญญาณโทรคมนาคมร่วมกันเพียง 30% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความพร้อมของภาคอุตสาหกรรมในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้นถือเป็นอีกความท้าทายสำคัญ อีไอซี ประเมินว่า อุตสาหกรรมในกลุ่มสื่อและบันเทิง สาธารณสุข และขนส่ง จะเป็นกลุ่มแรกที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในระยะแรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G ทำให้ภาคอุตสาหกรรมไทยตื่นตัวและมองเห็นโอกาสในการพลิกโฉมธุรกิจของตนให้สอดคล้องกับบริบทของโลก เมื่อพิจารณาโครงสร้างธุรกิจ เงินลงทุนเริ่มต้นและระยะเวลาคืนทุนแล้ว อีไอซี ประเมินว่าในระยะแรกเทคโนโลยี 5G จะถูกใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นหลัก โดยอุตสาหกรรมในกลุ่มสื่อและบันเทิง สาธารณสุข และขนส่งจะเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มใช้เทคโนโลยี 5G และถูกกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแอปพลิเคชันรวมถึงอุปกรณ์อัจฉริยะสำหรับการใช้งานใหม่ ๆ เพื่อเข้าถึงตลาดและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น สำหรับกลุ่มสื่อและบันเทิง เทคโนโลยี 5G จะทำให้เกิดรูปแบบใหม่ ๆ ในการนำเสนอเนื้อหา เนื่องจากระยะเวลาที่ใช้ในการดาวน์โหลดเนื้อหาดิจิทัลลดลง ในด้านสาธารณสุข เทคโนโลยี 5G สามารถช่วยยกระดับบริการทางการแพทย์ของไทยและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา โดยการเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์ wearables และการรักษาพยาบาลทางไกล (telehealth) ขณะที่ ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เทคโนโลยี 5G จะทำให้สามารถการติดตามสถานะการขนส่งสินค้าแบบ real-time
ในระยะต่อมา เทคโนโลยี 5G จะส่งผลให้ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ เข้ามามีบทบาททดแทนแรงงานมากขึ้น ซึ่งจะพลิกโฉมภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคสาธารณูปโภค และภาคการเกษตรของไทยในอนาคต โดยเทคโนโลยี 5G จะเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการผลิตสินค้าอย่างชัดเจนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต โรงงานผลิตสินค้าแบบดั้งเดิมที่ใช้แรงงานเป็นหลักจะถูกพัฒนาให้กลายเป็นโรงงานอัจฉริยะควบคุมการผลิตผ่านหุ่นยนต์และเซ็นเซอร์ในโรงงาน ปัจจุบันมีโรงงานที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นโรงงานอัจฉริยะ ซึ่งเป็นโรงงานที่อยู่ในระดับอุตสาหกรรม 3.0 ขึ้นไปอยู่ราว 2 หมื่นโรงงานหรือคิดเป็นประมาณ 15% ของโรงงานทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มยานยนต์ และปิโตรเคมี ในส่วนของระบบสาธารณูปโภค เทคโนโลยี 5G จะช่วยสนับสนุนการบริหารจัดการพลังงานผ่านระบบจ่ายไฟอัตโนมัติ (smart grid) ทำให้ประเทศประหยัดพลังงานได้มากขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G สามารถเข้ามาช่วยในการจัดการสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ดิน น้ำของภาคเกษตรไทยส่งผลให้มูลค่าการผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นเกิดเป็น smart farming ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ภาคอุตสาหกรรมไทยจะต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับความท้าทาย 3 ประการ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค การแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และกฎระเบียบที่เข้มงวด ในอนาคตเทคโนโลยี 5G จะทำให้โลกมีการเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่าย ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์ให้เอื้อต่อการใช้บริการเทคโนโลยี 5G และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่คาดหวังความสะดวกสบายและการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น ขณะที่ แรงกดดันจากคู่แข่งทางธุรกิจรวมถึง supplier ใน value chain จะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีรวมถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด นอกจากนี้กฎระเบียบและข้อบังคับด้าน data security และ data privacy จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยสหรัฐฯ เป็นประเทศหนึ่งที่หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเพื่อกีดกันการค้ากับประเทศคู่แข่งเรียบร้อยแล้ว
_________________
เผยแพร่ในประชาชาติธุรกิจ คอลัมน์มองข้ามชอต วันที่ 8 กรกฎาคม 2019