SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี

ยังขยายตัวได้ดี แต่มีความเสี่ยงหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวรุนแรง

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี : ยังขยายตัวได้ดี แต่มีความเสี่ยงหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวรุนแรง

เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวียังมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเด็นสงครามการค้า สินค้าส่งออกจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีได้รับสิทธิพิเศษทางภาษี อาทิ GSP (Generalized System of Preferences) และ EBA (Everything But Arms) ทำให้ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2019 การส่งออกรวมของกัมพูชา ลาว และเมียนมายังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ 13% แต่การส่งออกของเวียดนามชะลอลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวียังเติบโตได้ดี นำโดยการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการขยายโรงงาน โดยเฉพาะในเวียดนามซึ่งได้ผลบวกจากการที่บริษัทในจีนย้ายฐานการผลิตเพื่อเลี่ยงภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ขณะที่ การขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศจะช่วยสนับสนุนการบริโภคครัวเรือนต่อไป ทั้งนี้ IMF ประเมินว่า เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีจะขยายตัวที่ระดับ 6-7% ในปี 2019 และ 2020 สูงกว่าคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.3% และ 3.6% ตามลำดับ

เศรษฐกิจเวียดนามเติบโต 6.79%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2019 ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัว 7.3%YOY โดยการส่งออกเติบโตชะลอลงจาก 12% ในปี 2018 เป็น 7%YOY ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2019 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์สินค้าหมวดอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลัก อย่างไรก็ดี สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนทำให้สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากเวียดนามมากขึ้น โดยการส่งออกของเวียดนามไปยังตลาดสหรัฐฯ ขยายตัว 29%YOY นำโดยสินค้าเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า โทรศัพท์และอุปกรณ์ซึ่งทำให้สหรัฐฯ เริ่มหันมาเพ่งเล็งเวียดนามมากขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 69%YOY ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 4 ปี ทั้งนี้เวียดนามมีเป้าหมายผลักดันประเทศให้เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีของภูมิภาค ล่าสุด เวียดนามได้เป็นหนึ่งในประเทศแรก ๆ ของโลกที่ประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบ 5G ตามหลังสหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2020 และจะช่วยดึงดูดการลงทุนต่างชาติเข้ามาในเวียดนามมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฮเทค

ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีในระยะข้างหน้า คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวียังพึ่งพาการนำเข้าสินค้าค่อนข้างสูง ทั้งวัสดุก่อสร้างและสินค้าอุปโภคบริโภค IMF ประเมินว่าในปี 2018 กัมพูชา ลาว และเมียนมาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดคิดเป็นสัดส่วน 11% 17% และ 4% ต่อ GDP ตามลำดับ และมีแนวโน้มขาดดุลต่อไปในระยะข้างหน้า ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินสกุลท้องถิ่น ในเรื่องความเสี่ยงการอ่อนค่าอย่างฉับพลันหากเกิดภาวะเงินทุนไหลออก เนื่องจากเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศต่ำ โดยเฉพาะลาวที่มีระดับทุนสำรองระหว่างประเทศรองรับการนำเข้าได้เพียง 1.3 เดือน ณ สิ้นปี 2017 นอกจากนี้ ทิศทางของเศรษฐกิจจีนยังส่งผลต่อเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวีซึ่งพึ่งพาจีนเป็นหลัก ทั้งในฐานะตลาดส่งออกและประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอาจส่งผลต่อเนื่องให้การส่งออกไปยังจีนและการลงทุนจากจีนลดลงไปด้วย ในปี 2017 การส่งออกไปยังจีนคิดเป็นสัดส่วน 18% ของมูลค่าส่งออกจากกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ขณะที่ มูลค่า FDI จากจีนมีสัดส่วนสูงถึง 13% ของ FDI รวม

ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2019 การส่งออกจากไทยไปกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีหดตัวลง 4.7%YOY โดยเฉพาะในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรและส่วนประกอบ โดยเป็นผลด้านราคาน้ำมันที่ร่วงลงและภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงในบางประเทศ แต่การส่งออกในบางกลุ่มสินค้ายังขยายตัวได้ดี เช่น รถยนต์และส่วนประกอบ เหล็ก ผลิตภัณฑ์ความงาม และผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจซีแอลเอ็มวียังมีแนวโน้มเติบโตดี แต่หากเศรษฐกิจโลกและจีนชะลอตัวรุนแรงอาจสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจซีแอลเอ็มวี และส่งผลต่อเนื่องมาถึงการส่งออกไทยได้ในระยะข้างหน้า

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ