SHARE
OUTLOOK:IN FOCUS
09 กรกฏาคม 2019

โอกาสสำหรับธุรกิจไทย ในสงครามการค้า

ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าส่งผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้างในหลายภาคส่วนของทั้งเศรษฐกิจโลก

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

โอกาสสำหรับธุรกิจไทย ในสงครามการค้า


ความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าส่งผลกระทบเชิงลบเป็นวงกว้างในหลายภาคส่วนของทั้งเศรษฐกิจโลกและไทย โดยเฉพาะผลกระทบต่อการส่งออกซึ่งเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยง แต่ผู้ประกอบการยังสามารถหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติเพื่อบรรเทาผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าผ่าน 2 ช่องทาง ดังนี้

1. โอกาสจากการส่งออกทดแทนสินค้าจีนในสหรัฐฯ

สงครามการค้าทำให้สหรัฐฯ มองหาสินค้าทดแทนในตลาดอื่นนอกเหนือจากสินค้าจีนที่มีต้นทุนสูงขึ้นจากภาษีนำเข้า จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการส่งออกไปสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนในช่วงก่อนและหลังสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน สัดส่วนการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2019 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2018 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ถูกเก็บภาษีนำเข้า (รูปที่ 21) สะท้อนว่า ผู้นำเข้าสหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากแหล่งอื่นหลังเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าทดแทนในบางกลุ่มสินค้าที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน โดยผู้นำเข้าสหรัฐฯ ได้เลือกนำเข้าสินค้าไทยในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในหมวดพลาสติกและของที่ทำด้วยพลาสติก และหมวดผลิตภัณฑ์จากพืช หากสหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในอัตราที่สูงขึ้นและคงภาษีไว้ต่อเนื่อง อาจเป็นโอกาสในการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นได้ในระยะสั้น

Pic01.png


อีไอซียกตัวอย่างสินค้าที่สหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงแหล่งนำเข้าทันทีภายหลังการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน ได้แก่ แผงวงจรพิมพ์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อื่น ๆ เมื่อวิเคราะห์สินค้าที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้าจีน อีไอซีพบว่า มีบางสินค้าที่สหรัฐฯ ลดการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากจีนทันทีหลังการขึ้นภาษีนำเข้า และเปลี่ยนไปนำเข้าจากประเทศอื่นแทน ซึ่งไทยก็ได้รับประโยชน์ในการส่งออกสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น ได้แก่ แผงวงจรพิมพ์ และชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์อื่น ๆ (รูปที่ 22) อย่างไรก็ดี ในสินค้าดังกล่าวสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าไทยในสัดส่วนเพียง 1-2% ของการนำเข้าทั้งหมด รวมถึงยังมีคู่แข่งในการส่งออกทดแทนไปสหรัฐฯ อีกหลายประเทศ ทั้งเม็กซิโกและมาเลเซียที่มีความสามารถในการส่งออกสินค้าดังกล่าวทดแทนได้เช่นกัน ทำให้ผลบวกจากการส่งออกทดแทนไปสหรัฐฯ มีจำกัด ดังนั้นหากผู้ผลิตไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจีน ผู้ผลิตควรทำสัญญาซื้อขายระยะยาวกับผู้นำเข้าสหรัฐฯ เพื่อประกันคำสั่งซื้อและรักษาส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ในระยะยาว

Pic02.png


2. โอกาสจากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังไทย
ผู้ผลิตต่างชาติที่เคยตั้งฐานการผลิตสินค้าขั้นสุดท้ายในจีนเริ่มขยายฐานการผลิตไปยังข้างนอกจีนเพื่อเลี่ยงความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า โดยส่วนใหญ่ยังคงฐานการผลิตในจีนเพื่อรองรับการบริโภคภายในประเทศ แต่เริ่มขยายการผลิตไปยังประเทศอื่นโดยเฉพาะการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เป็นการกระจายความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงเป็นโอกาสของไทยในการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ เห็นได้จากมูลค่าโครงการลงทุนจากต่างชาติที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2018 (รูปที่ 23) โดยมีมูลค่าการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI สูงถึง 3.3 หมื่นล้านบาทเทียบกับปี 2017 อยู่ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง นอกจากนี้ผู้ผลิตต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยย่อมมีโอกาสใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศ จึงเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตภายในประเทศด้วยอีกทางหนึ่ง

Pic03.png


บริษัท RICOH เป็นหนึ่งในตัวอย่างของผู้ผลิตต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยเนื่องจากความไม่แน่นอนจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน โดย RICOH เป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องพิมพ์สัญชาติญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตของบริษัท RICOH Asia Industry (Shenzhen) ในส่วนการผลิตเครื่องพิมพ์รุ่นที่ทำงานด้วยความเร็วสูงเพื่อการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ย้ายมาที่ไทยผ่านบริษัท RICOH Manufacturing (Thailand) ซึ่งแต่เดิมผลิตเพียงเครื่องพิมพ์รุ่นที่ทำงานด้วยความเร็วระดับต่ำถึงปานกลาง การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทยในครั้งนี้จึงได้นำเทคโนโลยีการผลิตเครื่องพิมพ์ขั้นสูงเข้ามาด้วย รวมถึงไทยอาจได้ประโยชน์ทางอ้อมจากคำสั่งซื้อวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องพิมพ์จากภายในประเทศเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท ทาปาโก้ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตพลาสติกในไทยกล่าวว่าได้รับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์พลาสติกจากบริษัท RICOH Manufacturing (Thailand) เพิ่มขึ้น14 และปัจจุบันเป็นลูกค้าอันดับ 1 ของบริษัทอีกด้วย

อย่างไรก็ดี ไทยอาจเป็นแค่หนึ่งในทางเลือกของการย้ายฐานการผลิตเท่านั้นเพราะยังมีคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม ที่พร้อมดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตต่างชาติด้วยเช่นกัน แต่ไทยก็สามารถสร้างโอกาสด้วยการส่งออกสินค้าขั้นกลางไปที่เวียดนามแทน เนื่องจากผู้ผลิตต่างชาติเริ่มสนใจลงทุนในเวียดนามมากขึ้น จากข้อได้เปรียบด้านจำนวนข้อตกลงการค้าที่รัฐบาลเวียดนามมีกับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับสหภาพยุโรปผ่านข้อตกลง EVFTA จึงมีแนวโน้มที่ผู้ผลิตต่างชาติหลายรายตัดสินใจย้ายโรงงานเข้าเวียดนามเพื่อเลี่ยงผลกระทบจากสงครามการค้า โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ จึงอาจเป็นโอกาสของผู้ผลิตไทยในการส่งออกสินค้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนไปยังเวียดนาม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าในหมวดเครื่องจักรและอิเล็กทรอนิกส์จากไทยไปเวียดนามขยายตัวเฉลี่ย 8% และ 20% ต่อปี ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนรวม 23% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดจากไทยไปเวียดนามในปี 2018 (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตมายังเวียดนามได้ที่ CLMV Monitor Q1/2019)

แม้ว่าโอกาสจากสงครามการค้าไม่สามารถชดเชยผลกระทบทางลบต่อภาคการส่งออกไทยได้ แต่ผู้ประกอบการไทยต้องคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นและทำให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจในระยะยาว เนื่องจากไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กจึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบจากสงครามการค้าของสองมหาอำนาจโลก ทั้งด้านการค้าและเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง แต่ในอีกทางหนึ่งผู้ประกอบการไทยต้องพยายามคว้าโอกาสที่เกิดขึ้นจากสงครามการค้าด้วยจากการส่งออกทดแทนสินค้าจีนและการย้ายฐานการผลิตจากจีน ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องสร้างบรรยากาศการค้าการลงทุนภายในประเทศเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติและลดความเสียเปรียบจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยการทำข้อตกลงการค้ากับนานาประเทศ ทั้งนี้สงครามระหว่างสองมหาอำนาจนี้ยังมีความไม่แน่นอนอยู่ ผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะผู้ส่งออกจะต้องติดตามสถานการณ์ของสองมหาอำนาจโลกอย่างใกล้ชิด

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ