SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

เศรษฐกิจญี่ปุ่น

การส่งออกร่วงลง แต่ยังได้แรงส่งจากการลงทุนและการบริโภคครัวเรือน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจญี่ปุ่น : การส่งออกร่วงลง แต่ยังได้แรงส่งจากการลงทุนและการบริโภคครัวเรือน

เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต 0.9%YOY ในไตรมาสแรกของปี 2019 หรือ 2.2%QOQ SAAR ด้วยแรงหนุนจากการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่ การส่งออกได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และอุปสงค์ต่อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกที่เริ่มลดลง มูลค่าส่งออกรวมและส่งออกไปจีนหดตัว 4.3%YOY และ 7.7%YOY ตามลำดับ ในช่วงห้าเดือนแรกของปี 2019 ส่งผลลบต่อเนื่องถึงภาคการผลิต โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมร่วงลง 1.1% ในเดือนเมษายน ขณะที่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 ในเดือนมิถุนายน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ที่ร่วงลงในไตรมาส 2

เศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีจะได้แรงสนับสนุนจากการลงทุนภาคเอกชน และการเร่งใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก่อนการขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคม การลงทุนภาคเอกชนของญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มขยายตัวนำโดยการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงาน รวมถึงการลงทุนนอกภาคการผลิตซึ่งผลกำไรยังเติบโตดี ขณะที่ การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังคงขยายตัว 1.3%YOY ในเดือนเมษายน และตลาดแรงงานที่ตึงตัวต่อเนื่องน่าจะช่วยสนับสนุนค่าจ้างแรงงานในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงหลักต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นคือการแข็งค่าต่อเนื่องของเงินเยน จากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ปะทุขึ้น และความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ซึ่งหากเงินเยนแข็งค่ารุนแรงจะส่งผลลบต่อภาคส่งออกญี่ปุ่นในระยะข้างหน้าได้ ทั้งนี้อีไอซีคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวราว 0.8% ในปี 2019

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำไปจนถึงช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 เพื่อสนับสนุนการเติบโตของญี่ปุ่น ท่ามกลางความผันผวนในเศรษฐกิจโลกและผลกระทบจากการขึ้นภาษีการบริโภค พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปีงบประมาณ 2019 2020 และ 2021 เป็น 1.1% 1.4% และ 1.6% ตามลำดับ ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ 2% โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานล่าสุดอยู่ที่ 0.8% ในเดือนพฤษภาคม นอกจากนี้ หากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าที่คาด อีไอซีมองว่า BOJ อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมผ่านการปรับกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ยระยะยาว หรือเพิ่มวงเงินเข้าซื้อกองทุน ETF

จับตาการเจรจาการค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่น สหรัฐฯ เรียกร้องให้ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้สินค้าเกษตรและยานยนต์จากสหรัฐฯ มากขึ้นเพื่อลดการขาดดุล
การค้า ขณะที่ ญี่ปุ่นต้องการให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีสินค้ายานยนต์ทั่วโลก รวมทั้งถอดข้อกำหนดป้องกันการแทรกแซงค่าเงินเพื่อการแข่งขัน (currency clause) ออกจากข้อตกลง เพราะอาจจำกัดอิสระในการการดำเนินนโยบายของ BOJ

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

• เงินเยนแข็งค่าขึ้น 1.3%YTD เทียบดอลลาร์สหรัฐ ณ วันที่ 1 กรกฎาคม และมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2019 เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนหันเข้าหาเงินเยนซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (safe haven)

• การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในช่วง 5 เดือนแรกของปีหดตัวลง 4.4%YOY ทั้งนี้ญี่ปุ่นได้ตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) ของไทยไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2019 ในสินค้าเกษตร ประมง และสินค้าอุตสาหกรรม แต่สินค้าไทยยังได้สิทธิพิเศษภายใต้ข้อตกลงการค้า JTEPA8และ AJCEP9 ซึ่งครอบคลุมสินค้าทั้งหมดที่เคยได้สิทธิ์ใน GSP ยกเว้นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล (ซอร์บิทอล)

• การลงทุนจากญี่ปุ่นในไทยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในเดือนเมษายน 2019 องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) รายงานว่า นักลงทุนญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยแม้สถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งยังสนใจลงทุนมากขึ้นในธุรกิจบริการ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม และการท่องเที่ยว เป็นต้น



Outlook_Q3_20193.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ