SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

เลือกตั้งรัฐสภายุโรปปี 2019 นัยต่อสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจไทย

ท่ามกลางความวุ่นวายในการเจรจาการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (UK) ออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit ที่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปที่แน่ชัด

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

ท่ามกลางความวุ่นวายในการเจรจาการแยกตัวของสหราชอาณาจักร (UK) ออกจากสหภาพยุโรป (EU) หรือ Brexit ที่ยังไม่สามารถมีข้อสรุปที่แน่ชัด ผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในช่วงวันที่ 23-26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่จะกำหนดอนาคตของสหภาพยุโรปอย่างมีนัยสำคัญ และอาจมีนัยทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทยได้อย่างที่ไม่คาดคิด ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มาใช้สิทธิ์เพิ่มเป็น 51% สูงที่สุดในรอบ 20 ปี เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าในปี 2014 ที่ 43% และมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

ปูพื้นภาพรวมการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปและความสำคัญของการเลือกตั้ง

รัฐสภายุโรป (European Parliament: EP) เป็นฝ่ายนิติบัญญัติในสหภาพยุโรป (European Union: EU) ทำหน้าที่ปรับแก้และอนุมัติกฎหมายต่าง ๆ จากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission)3 และตัดสินใจเรื่องงบประมาณร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the EU)4 (รูปที่ 1) รัฐสภายุโรปมีที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 751 ที่นั่ง โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมีส.ส.ตามสัดส่วนจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ ต่อประชากรสหภาพยุโรป

Pic01.png

การเลือกตั้งรัฐสภายุโรป เป็นการเลือกตั้งที่พลเมืองยุโรปเลือกส.ส.ของรัฐสภายุโรป ซึ่งมีวาระการเลือกตั้งทุก 5 ปี โดยส.ส.ที่มีแนวคิดและนโยบายคล้ายคลึงกันจะรวมตัวเป็นกลุ่มพรรคการเมืองใหม่ในรัฐสภายุโรป ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ประกอบไปด้วยพรรคการเมืองจากหลายประเทศภายใต้แนวคิดร่วมกัน เช่น แนวคิดอนุรักษ์นิยม (conservatism) แนวคิดสังคมนิยม (socialism) ฯลฯ การเลือกตั้งรัฐสภายุโรปครั้งนี้ มีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งฝ่ายบริหารสำคัญหลายตำแหน่ง เช่น ประธานรัฐสภายุโรป ประธานและคณะกรรมการ European Commission เป็นต้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2014 รัฐสภายุโรปได้เริ่มต้นขนบธรรมเนียมที่เรียกว่า “Spitzenkandidat” กล่าวคือ คณะมนตรียุโรป (European Council)5 จะแต่งตั้งตัวแทนของกลุ่มพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นประธาน European Commission คนต่อไป ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2014 ฌ็อง-โคลท ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากในรัฐสภาและถูกแต่งตั้งให้เป็นประธาน European Commission อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ European Council เสนอนางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน (Ursula von der Leyen) เป็นประธาน European Commission คนต่อไป ซึ่งปัจจุบันเธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเยอรมนีและเป็นสมาชิกกลุ่มพรรค EPP ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนจากกลุ่มพรรคเสียงข้างมากจึงขัดกับขนมธรรมเนียมเดิม และมีโอกาสที่จะไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจากรัฐสภายุโรป ทำให้ European Council อาจต้องเสนอชื่อประธาน European Commission ใหม่อีกครั้ง

สรุปผลการเลือกตั้ง : แนวคิดของกลุ่มพรรคการเมืองหลักในรัฐสภายุโรปและนัยต่อสหภาพยุโรป

1) ผลการเลือกตั้งบ่งชี้ว่า เสียงในสภาค่อนข้างกระจัดกระจายมากกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าและกลุ่มพรรคเสียงฝ่ายกลาง (centrism) ที่มีแนวคิดสนับสนุน EU ได้แก่ 2 กลุ่มพรรคคือ EPP และ S&D สูญเสียการเป็นเสียงข้างมาก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งในปี 2014 (รูปที่ 2) กลุ่มพรรค European People’s Party (EPP) และกลุ่มพรรค Progressive Alliance of Socialists and Democrats (S&D) เป็นพันธมิตรที่สามารถครองเสียงข้างมากมาได้โดยตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1979 แต่ในการเลือกตั้งในปี 2019 ทั้งสองกลุ่มพรรคการเมืองรวมที่นั่งกันน้อยกว่า 350 ที่นั่ง ทำให้สองกลุ่มพรรคดังกล่าวต้องการเสียงจากกลุ่มพรรค Renew Europe ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และ/หรือ กลุ่มพรรคกรีน (Greens) ที่เน้นนโยบายสิ่งแวดล้อมนิยม เพื่อครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งทั้งสองกลุ่มพรรคนี้มีแนวคิดสนับสนุน EU (Pro-EU) เช่นเดียวกัน

Pic02.png

2) กลุ่มพรรคที่มีแนวคิดต่อต้าน EU (Eurosceptics) ได้ที่นั่งในรัฐสภายุโรปเพิ่มขึ้น แต่จำนวนที่นั่งยังไม่เพียงพอต่อการเป็นเสียงข้างมากในสภา ทำให้เป็นที่คาดการณ์ว่ากลุ่มพรรคฝ่าย Eurosceptics มีแนวโน้มที่จะเน้นนโยบายไปทางด้านการเสนอจุดร่วมในการต่อต้าน EU และสงวนจุดต่างในนโยบายด้านต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มพรรคเพื่อรวมคะแนนเสียงในรัฐสภา อย่างไรก็ตาม กลุ่มพรรคต่าง ๆ ในฝ่าย Eurosceptics มีแนวคิดเชิงนโยบายที่แตกต่างกันพอสมควร เช่น ด้านนโยบายเศรษฐกิจ ในฝ่าย Eurosceptics มีทั้งกลุ่มพรรคที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายที่เน้นความช่วยเหลือและเพิ่มบทบาทของภาครัฐ และแนวคิดฝ่ายขวาที่ต้องการเพิ่มเสรีให้กับภาคเอกชนและลดบทบาทของภาครัฐ ทำให้การจับมือเป็นพันธมิตรในเชิงนโยบายค่อนข้างยาก แม้จะรวมกลุ่มกันได้ในเชิงอุดมการณ์ ดังนั้นในภาพรวม กระแสต่อต้าน EU แม้จะได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีไม่มากพอที่จะทำลายเสถียรภาพการรวมตัวของประเทศสมาชิกใน EU ได้ในระยะเวลาอันใกล้ อีไอซีมองว่า กระแส Eurosceptics ที่ไม่รุนแรงเท่าที่ควรสะท้อนจากผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในครั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงจากการเจรจา Brexit ที่เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันกระแส Eurosceptics ที่กลับยืดเยื้อเกินคาดและไม่ประสบผลเร็วตามที่ฝ่าย Eurosceptics เคยคาดการณ์ ผนวกกับเส้นตาย Brexit ที่ถูกยืดออกไปหลายครั้ง แม้จะผ่านการลงประชามติมาตั้งแต่ปี 2016 แล้วก็ตาม แสดงให้เห็นว่า แม้กระแส Brexit และ Eurosceptics จะเริ่มได้รับความนิยม แต่ก็ยังมีเสียงสนับสนุนจากประชาชนและจากกลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU อยู่เป็นจำนวนมากที่คานเสียงโหวตจากกลุ่มพรรคฝ่ายต่อต้าน EU

3) กลุ่มพรรค Greens ได้ที่นั่งส.ส. มากกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นกลุ่มพรรคการเมืองฝ่าย Pro-EU ที่ต้องการปรับเปลี่ยนทิศทางของ EU เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยมมากขึ้น เนื่องจากกลุ่มพรรค EPP และ S&D ต้องการคะแนนเสียงเพิ่มเติมจากกลุ่มพรรค Greens เพื่อครองเสียงข้างมากในรัฐสภา กลุ่มพรรค Greens จึงมีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยกลุ่มพรรคดังกล่าวพร้อมที่จะสนับสนุนผู้สมัครประธาน European Commission ที่ผลักดันนโยบายของพรรค

4) ในภาพรวม กลุ่มพรรคต่าง ๆ ในฝ่าย Pro-EU ส่วนใหญ่มีแนวคิดฝ่ายกลาง ทำให้สามารถหาจุดร่วมเชิงนโยบายได้ง่ายกว่ากลุ่มพรรคฝ่าย Eurosceptics อย่างไรก็ดี การร่วมมือเป็นพันธมิตรของกลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU ในขณะนี้มีอุปสรรคทางการเมืองอยู่บ้าง แม้กลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU จะมีแนวอุดมการณ์ตรงกันในการสนับสนุน EU แต่กลับมีความขัดแย้งในการเจรจาตำแหน่งฝ่ายบริหารสำคัญต่าง ๆ ของสหภาพยุโรป เช่น ตำแหน่งประธาน European Council, ประธาน European Commission และประธานรัฐสภายุโรป โดยนายเดวิด-มาเรีย แซสโซลี (David-Maria Sassoli) ส.ส.รัฐสภายุโรปจากกลุ่มพรรค S&D ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภายุโรปด้วยการสนับสนุนจากกลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU ทั้งนี้อีไอซีมองว่า ตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารอื่น ๆ จะถูกแบ่งให้กับกลุ่มพรรค Pro-EU ที่เหลืออีก 3 กลุ่ม คือ EPP Renew Europe และ Greens โดยแต่ละตำแหน่งขึ้นอยู่กับกระบวนการเจรจาภายในกลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU ซึ่งตำแหน่งประธาน European Commission และประธาน European Council มีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายและทิศทางของสหภาพยุโรป รวมถึงการแต่งตั้งประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank: ECB) ที่กำลังหมดวาระในสิ้นเดือนตุลาคมนี้จะมีนัยต่อการกำหนดนโยบายการเงินของ ECB ในระยะข้างหน้า (รูปที่ 3) ทำให้การเจรจาต่อรองตำแหน่งสำคัญใน EU ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ต่อจากนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

Pic03.png

นัยต่อเศรษฐกิจไทย

EU มีเป้าหมายในการทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี (bilateral FTA) ระหว่างประเทศอาเซียนต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่ข้อตกลงระดับภูมิภาคระหว่าง EU และอาเซียน ในปี 2013 EU นำโดยฌ็อง-โคลท ยุงเคอร์ (Jean-Claude Juncker) ประธาน European Commission คนปัจจุบันที่จะหมดวาระปลายปีนี้ ได้เริ่มเจรจาข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับไทยก่อนการรัฐประหารจะเกิดขึ้น ทำให้การเจรจายุติลงชั่วคราว โดยคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรประบุไว้ในปี 2014 ว่าจะเริ่มเจรจาข้อตกลงอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของไทย จึงทำให้หลังจากการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลไทยแล้วเสร็จ และผลการเลือกตั้งรัฐสภายุโรปในครั้งนี้ กลุ่มพรรคฝ่าย Pro-EU มีแนวโน้มที่รวมคะแนนเสียงในการเลือกประธาน European Commission ได้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ EU ภายใต้ประธาน European Commission คนใหม่
จะสานต่อยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าระหว่าง EU และอาเซียน และดำเนินการเจรจาข้อตกลงกับไทยอีกครั้ง

อีไอซีมองว่า ข้อตกลง EU กับไทย อาจมีลักษณะคล้ายกับข้อตกลงทวิภาคีที่ EU ได้บรรลุการเจรจากับเวียดนาม และสิงค์โปร์ที่ผ่านมติรัฐสภายุโรปเป็นที่เรียบร้อยและรอบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยข้อตกลงดังกล่าว อาจรวมถึงการลดภาษีศุลกากรระหว่างกัน และการลดอุปสรรคทางเทคนิคสำหรับการค้า (Technical Barriers to Trade) เช่นการใช้มาตรฐานสากลในสินค้าต่าง ๆ เพื่อให้การส่งออก-นำเข้าสินค้าสามารถทำได้ง่ายขึ้นและอาจกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในภาคส่งออกให้โตมากยิ่งขึ้น โดยในปี 2018 สหภาพยุโรปเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญสำหรับไทย คิดเป็น 9.91% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด นำโดยสินค้าในหมวดเครื่องจักรและส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ และอาหาร นอกจากการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว ข้อตกลงทวิภาคี EU กับไทยอาจครอบคลุมถึงการให้สิทธิ์เท่าเทียมกับบริษัทจาก EU ในการเข้าร่วมการประมูลสัมปทานต่าง ๆ (procurement tenders) และข้อตกลงคุ้มครองการลงทุน (Investment Protection Agreement: IPA) ซึ่งจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2018 EU มีมูลค่าการลงทุนในไทย 2.27 แสนล้านบาท7 สูงสุดเป็นอันดับสามรองจากจีนและญี่ปุ่น ดังนั้นไทยอาจเป็นชาติอาเซียนรายที่สามที่จะได้ลงนามข้อตกลงทวิภาคีกับ EU ตามหลังสิงค์โปร์ที่ได้ลงนามเป็นที่เรียบร้อยและเวียดนามที่บรรลุข้อตกลงในการเจรจาแล้ว ขณะเดียวกัน EU กำลังดำเนินการเจรจาข้อตกลงกับอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเมียนมาเช่นกัน

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ