SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2019 (ไตรมาส 3/2019)

เศรษฐกิจโลกปี 2019 สงครามการค้ากลับมาปะทุ ธนาคารกลางหลักเริ่มส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบาย

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกจากความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ในขณะที่ ธนาคารกลางในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (DM) แสดงท่าทีในการผ่อนคลายนโยบายเพื่อรองรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2019 มีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ DM ที่อยู่ในช่วงปลายวัฏจักรขาขึ้น ความกังวลในตลาดการเงินโลกสำหรับโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มสูงขึ้นจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่กลับมาปะทุเมื่อเดือนพฤษภาคมหลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดิมที่อัตรา 10% ขึ้นเป็น 25% และจีนประกาศตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสหรัฐฯ มูลค่าราว 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในอัตรา 5-25% แม้ว่าผลการประชุม G20 เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายน สหรัฐฯ และจีนได้ข้อสรุปว่า ทั้งสองฝ่ายจะยังคงเดินหน้าเจรจาทางการค้าต่อไป โดยสหรัฐฯ จะยังไม่ขึ้นภาษีนำเข้าจีนในส่วนที่เหลืออีกราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐพร้อมอนุญาตให้บริษัทสหรัฐฯ ยังคงทำการค้าต่อไปได้ชั่วคราวกับบริษัท Huawei และบริษัทจีนทั้งหมดที่ถูกแบนไปก่อนหน้า แต่การเจรจาเพื่อยุติสงครามการค้ายังเป็นเรื่องท้าทายและทางการสหรัฐฯ มีแนวโน้มพร้อมใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกดดันจีนต่อเนื่อง จึงทำให้การเจรจาสงครามการค้ายังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ในอีกด้านธนาคารกลางในกลุ่มประเทศ DM แสดงท่าทีเตรียมพร้อมในการกระตุ้นเศรษฐกิจหากภาวะเศรษฐกิจแย่ลงมากกว่าคาดโดยอีไอซีคาดว่า นอกจากแผนการยุติการลดงบดุลในเดือนกันยายนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังมีแนวโน้มที่ Fed จะลดดอกเบี้ยนโยบายราว 2 ครั้งเพื่อรองรับความเสี่ยงเศรษฐกิจชะลอและคาดการณ์เงินเฟ้อล่าสุด
ที่ต่ำกว่าคาด ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) นอกจากมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ (TLTRO3) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนกันยายน ถ้อยแถลงล่าสุดบ่งชี้ว่าดอกเบี้ยนโยบายคงที่ของ ECB ถูกขยายไปจนถึงช่วงกลางปี 2020 และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบายอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ จะเห็นได้ว่า ทั้ง Fed, ECB และ BOJ พร้อมใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายหากมีความจำเป็นเพื่อรองรับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็มีแนวโน้มปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในช่วงครึ่งหลังของปีเพื่อรองรับผลกระทบจากสงครามการค้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจหลักทั้งสหรัฐฯ ยูโรโซน ญี่ปุ่นและจีน แม้ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวในภาคอุตสาหกรรมการผลิต แต่ภาคบริการ เช่น ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ ยังมีแนวโน้มเติบโตทรงตัว อีกทั้งตลาดแรงงานยังคงมีความแข็งแกร่งจากอัตราการว่างงานที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ

อีไอซีมองว่า ความเสี่ยงสำคัญในปี 2019 สำหรับเศรษฐกิจโลกมี 3 ประการ ได้แก่ 1) สงครามการค้า 2) การชะลอตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก 3) ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยเฉพาะ Brexit ความเสี่ยงจากสงครามการค้ายังมีอยู่มากเนื่องจากทางการสหรัฐฯ มีรายการสินค้าที่พร้อมขึ้นภาษีนำเข้าจีนในส่วนที่เหลือ (มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ) และภาษีที่สหรัฐฯ เล็งเก็บจากสหภาพยุโรป (EU) จากความขัดแย้งในข้อพิพาทประเด็นการอุดหนุนบริษัทเครื่องบินโบอิ้งและแอร์บัส ซึ่งรวมมูลค่าสินค้าที่สหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีได้สูงถึงราว 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีเส้นตายการตัดสินใจขึ้นภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนของสหรัฐฯ (มาตรา 232) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ที่ทั้งสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงผู้ส่งออกในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนในเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อเนื่อง ในอีกด้าน สัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักเริ่มชัดเจนมากขึ้นจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ เช่น การค้า การลงทุน ในภาพรวมที่มีแนวโน้มอ่อนแอลง ประกอบกับเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve) ทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเริ่มสร้างความกังวลต่อโอกาสการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สุดท้าย ประเด็น Brexit มีแนวโน้มกลับมาสร้างความผันผวนในช่วงก่อนเส้นตายเดือนตุลาคม (deadline of Article 50 extension) หากผู้นำสหราชอาณาจักรคนใหม่ไม่สามารถหาข้อสรุปการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป จึงทำให้โอกาสการเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง (no-deal) ยังคงมีอยู่ซึ่งจะส่งผลลบอย่างมากต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปในระยะต่อไป

Outlook_Q3_2019_Final.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ