SHARE
OUTLOOK:IN FOCUS
09 กรกฏาคม 2019

In focus : Game of Trade เตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทย ในศึกชิงมหาอำนาจ ทางการค้าสหรัฐฯ-จีน

มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ถูกยกกลับขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่ปี 2018

iStock-1128952311.jpg

Game of Trade เตรียมพร้อมเศรษฐกิจไทย ในศึกชิงมหาอำนาจทางการค้าสหรัฐฯ-จีน


มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ถูกยกกลับขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งทั่วโลกได้เห็นถึงความคืบหน้าและการขยายความรุนแรงของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับนานาประเทศโดยเฉพาะกับจีน เพื่อตอกย้ำถึงวาทกรรมที่ประธานาธิบดีทรัมป์เคยปราศรัยไว้ในช่วงหาเสียงปลายปี 2016 ว่าอเมริกาต้องมาก่อน (America First) และความพยายามในการลดการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ นี้เองที่นำมาสู่นโยบายการตั้งกำแพงภาษี รวมถึงการกีดกันทางการค้ากับประเทศคู่ค้าในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งด้านการค้าและเทคโนโลยีกับจีน เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาสในแง่ของผลกระทบจากสงครามการค้าโลกที่ได้ขยายเป็นสงครามการแย่งชิงความเป็นมหาอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีนในขณะนี้


พัฒนาการของการค้าโลกและสถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้า


1.1) พัฒนาการของการค้าโลกก่อนสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนและบทบาทของจีน
การค้าระหว่างประเทศมีบทบาทมากขึ้นในการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่ที่นานาประเทศร่วมกันก่อตั้งข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariff and Trade) ในปี 1948 ก่อนจะพัฒนาเป็นองค์การการค้าโลก หรือ WTO (World Trade Organization) ในปี 1995 การก่อตั้ง WTO ได้สนับสนุนให้เกิดการเปิดเสรีการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีทั้งในแบบทวิภาคีและพหุภาคี (รูปที่ 1) ซึ่งเครือข่ายข้อตกลงการค้าเสรีนี้เองที่ทำให้เกิดห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศที่กว้างขวางและมีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งการแบ่งขั้นตอนการผลิต (fragmentation) และเครือข่ายการผลิต (production network) ภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศ จากเดิมที่การค้าระหว่างประเทศเน้นการค้าขายสินค้าสำเร็จรูปและการผลิตไม่ซับซ้อน กลายเป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าวัตถุดิบขั้นต้นและขั้นกลางเพื่อนำมาผลิตก่อนจะส่งออกไปขายยังอีกประเทศหนึ่ง จนเกิดเป็นห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และการจัดสรรทรัพยากรทั้งในและระหว่างประเทศซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาระบบเศรษฐกิจอย่างมหาศาล นอกจากนี้ เครือข่ายข้อตกลงการค้ายังทำให้เกิดกระแสการย้ายฐานการผลิต (offshoring) จากประเทศพัฒนาแล้วไปยังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรีและค่าแรงที่ต่ำกว่า กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียจึงกลายเป็นจุดหมายหลักของเม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากธุรกิจต่างชาติที่ต้องการย้ายฐานการผลิต

Pic01.png

1.2) จุดเริ่มต้นของนโยบายกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ และสถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน
สหรัฐฯ รับรู้ถึงบริบทการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปจากการผงาดขึ้นของจีน ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ สูญเสียตำแหน่งมหาอำนาจของโลกได้ทั้งในทางเศรษฐกิจและการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี สหรัฐฯ จึงพยายามเข้ามาถ่วงดุลอำนาจและสกัดกั้นการขยายอิทธิพลของจีน เริ่มจากสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลประธานาธิบดีโอบามาที่ผลักดันข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ TPP (Trans-Pacific Partnership) ตั้งแต่ปี 2009 ซึ่ง TPP เป็นข้อตกลงการค้าขนาดใหญ่ มีเงื่อนไขและมาตรฐานการค้าการลงทุนที่เข้มงวดและครอบคลุมในหลายประเด็น รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจีน ทั้งการเปิดเสรีภาคธุรกิจและการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดบทบาททางเศรษฐกิจของจีนได้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 สหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ถอนสหรัฐฯ ออกจาก TPP และใช้นโยบายกีดกันทางการค้าผ่านภาษีนำเข้าเพื่อสกัดอิทธิพลของจีน และนำไปสู่การทำสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสองมหาอำนาจของโลกในปัจจุบันนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ มีเหตุผลทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจ ขึ้นอยู่กับสมมติฐานของผู้ที่สนับสนุนและผู้ที่คัดค้านการทำนโยบายกีดกันทางการค้า อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเหตุผลทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างเด่นชัดและเป็นเป้าประสงค์เดิมของประธานาธิบดีทรัมป์แล้ว อีไอซีมองว่า แรงจูงใจและเป้าหมายของนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
ที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบันมีเหตุผลสนับสนุนอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่

• ลดการขาดดุลทางการค้า ทรัมป์มองว่า การขาดดุลทางการค้าอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ เป็นผลมาจากรูปแบบการค้าที่ไม่เป็นธรรม อันเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ อาทิ 1) การอุดหนุนจากรัฐบาลประเทศผู้ส่งออกที่สร้างความบิดเบือนให้กับตลาด 2) การบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้เอื้อต่อความสามารถในการส่งออก (currency manipulation) 3) เจตนาในการทุ่มตลาด (dumping) และ 4) การเข้าหรือเป็นสมาชิกของข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าที่ทรัมป์มองว่าสหรัฐฯ เป็นฝ่ายเสียประโยชน์ เช่น TPP หรือ NAFTA (North American Free Trade Agreement)

• เพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯ ทรัมป์มองว่า สาเหตุที่ทำให้แรงงานสหรัฐฯ จำนวนมากไม่มีงานทำเป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตของอุตสาหกรรมการผลิตของเหล่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ เหล็ก ฯลฯ ดังนั้นการดึงอุตสาหกรรมและธุรกิจเหล่านั้นให้กลับมาตั้งฐานการผลิตในสหรัฐฯ จะเป็นการเพิ่มอัตราการจ้างงานในสหรัฐฯ ได้ ซึ่งทรัมป์มองว่า การให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากการปฏิรูปภาษีขนานใหญ่ช่วงปลายปี 2017 ประกอบกับมาตรการกดดันทางด้านภาษีนำเข้าจะสามารถช่วยสร้างแรงจูงใจให้บริษัทสหรัฐฯ ที่ย้ายสายการผลิตออกไปนอกสหรัฐฯ กลับมาลงทุนในสหรัฐฯ ในอนาคต

• ต้องการให้จีนยุติการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สำนักผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative: USTR) ระบุว่า ทางการจีนมีพฤติกรรมและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมที่ก่อให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยีของบริษัทสหรัฐฯ ให้กับจีนและการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งส่งผลเสียต่อการค้าและบริษัทของสหรัฐฯ โดยพฤติกรรมดังกล่าว ได้แก่ 1) การบังคับใช้ข้อจำกัดในการลงทุนซึ่งกดดันให้บริษัทสหรัฐฯ ต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีเพื่อแลกกับการเข้าไปลงทุนในจีน 2) การเลือกปฏิบัติในการออกใบอนุญาตอย่างไม่เป็นธรรมเพื่อกดดันให้เกิดการถ่ายโอนเทคโนโลยี 3) ทางการจีนสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการในสหรัฐฯ ซึ่งนำไปสู่การครอบครองเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา และ 4) ทางการจีนสนับสนุนการบุกรุกทางไซเบอร์ (cyber intrusion) เพื่อเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ซึ่งมีข้อมูลความลับทางธุรกิจมูลค่ามหาศาล อีกทั้งเพื่อยับยั้งไม่ให้จีนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำโลกด้านเทคโนโลยีของโลกตามนโยบาย Made in China 2025 ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีนที่ต้องการพัฒนาจีนสู่การเป็นประเทศแห่งการผลิตที่ใช้นวัตกรรมขั้นสูงภายในปี 2025 ได้อีกด้วย

1.3) วิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ส่วนที่เหลือมูลค่าราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหรัฐฯ ตัดสินใจเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนในมูลค่าที่เหลือราว 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังการเจรจานอกรอบการประชุมผู้นำ G20 อย่างไรก็ตาม โอกาสของการขึ้นภาษีดังกล่าวยังคงมีอยู่ เมื่อวันที่ 28-29 มิถุนายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ได้เข้าร่วมเจรจานอกรอบในประเด็นมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องให้เริ่มต้นการเจรจาการค้าร่วมกันใหม่อีกครั้ง และสหรัฐฯ ประกาศไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มเติม อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดีทรัมป์ยังมีอำนาจตัดสินใจเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนในมูลค่าที่เหลือในระยะข้างหน้า หากเจรจาการค้ารอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีความคืบหน้าอีก ทรัมป์อาจตัดสินใจขึ้นภาษีอย่างกะทันหันเช่นเดียวกับการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ในสินค้าจีนมูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงของการขึ้นภาษีสินค้าจีนมูลค่าที่เหลือยังคงมีอยู่

1.4) เปิดฉากสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ-จีน และนัยต่อเศรษฐกิจโลก
นอกจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อและการเจรจาที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง สงครามด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ-จีนที่ได้ปะทุขึ้นจากกรณีการแบนบริษัท Huawei ตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2019 ที่ทางการสหรัฐฯ สั่งห้ามบริษัทของสหรัฐฯ เช่น Google Microsoft ฯลฯ ทำธุรกิจกับ Huawei และได้ขยายวงไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการค้าจากบริษัทพันธมิตรรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในวงการเทคโนโลยีโทรคมนาคมอย่าง KDDI และ Softbank จากญี่ปุ่น ฯลฯ แท้จริงแล้วสงครามเทคโนโลยีได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงการทำสงครามการค้าตั้งแต่กลางปี 2018 แล้วหากพิจารณารายการสินค้าที่สหรัฐฯ มุ่งเป้าเก็บภาษีกับจีนซึ่งมีรายการสินค้าจำนวนมากอยู่ในหมวดเทคโนโลยี นอกจากนี้ สถานการณ์เริ่มส่อสัญญาณความขัดแย้งมากขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2018 โดยสหรัฐฯ สั่งให้ทางการแคนาดาควบคุมตัว CFO ของ Huawei และพยายามให้แคนาดาส่งตัวกลับไปยังสหรัฐฯ เพื่อดำเนินคดีในข้อหาที่ว่า Huawei ละเมิดการคว่ำบาตรทางการค้าของสหรัฐฯ กับอิหร่าน รวมถึงประเด็นการขโมย
ทรัพย์สินทางปัญญาของ T-Mobile ซึ่งเป็นบริษัทเยอรมนีที่ให้บริการเครือข่ายมือถือในสหรัฐฯ สำหรับสงครามเทคโนโลยีที่แฝงอยู่ในสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนนั้น หากพิจารณาลึกลงไปในระดับหมวดสินค้าที่ถูกขึ้นภาษีนำเข้าของทั้งสหรัฐฯ และจีนในช่วงที่ผ่านมา (Battle 3.1-3.2) ซึ่งแยกหมวดสินค้าตามระดับของการใช้เทคโนโลยีในการผลิต จะพบประเด็นเรื่องการบั่นทอนศักยภาพผู้ส่งออกจีนในหมวดสินค้าเทคโนโลยี รวมถึงความพยายามในการจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนตามนโยบาย Made in China 2025 อีกด้วย

iStock-183264463.jpg

สงครามการค้าและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

สงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีส่งผลลบกับจีนทั้งในด้านการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เห็นได้จากการส่งออกจีนที่หดตัวลงเล็กน้อยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2019 ขณะที่ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกยังขยายตัวต่ำ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวในปี 2019 เศรษฐกิจไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนในหลายมิตินอกเหนือจากด้านการค้า จากการศึกษาของอีไอซีพบว่า สงครามการค้าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างน้อยผ่าน 6 ช่องทาง (รูปที่ 10) ได้แก่ 1) ช่องทางห่วงโซ่การผลิตสินค้ากับจีน 2) ช่องทางเศรษฐกิจจีนชะลอตัว 3) ช่องทางผลกระทบผ่านประเทศคู่ค้าของไทยที่พึ่งพาการส่งออกไปจีนสูง 4) ช่องทางผลกระทบจากการทุ่มตลาด 5) ช่องทางผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย และ 6) ช่องทางผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ไทย

Button-01.jpg


Infocus_01.jpg

Infocus_02.jpg

Get the additional info

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ