SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

ความไม่แน่นอนด้านการเมืองปรับตัวดีขึ้นหลังได้นายกฯ แต่รัฐบาลใหม่ยังคงมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2019 รัฐสภาได้มีการออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผลปรากฎออกมาว่านายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย (สมัยที่ 2)

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

Outlook_Q3_2019_Final_TH19.jpg


เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2019 รัฐสภาได้มีการออกเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี โดยผลปรากฎออกมาว่านายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย (สมัยที่ 2) คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ถูกเสนอชื่อโดยพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง โดยการได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงได้บางส่วน เนื่องจากเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเข้ามาบริหารประเทศได้ในไม่ช้า จึงมีแนวโน้มส่งผลให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นมากขึ้นอย่างน้อยในระยะสั้น โดยหากพิจารณาสถานการณ์ในตลาดหุ้นพบว่า ดัชนี SET มีการปรับเพิ่มขึ้นถึง 33.19 จุด ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 6 มิ.ย. 2019 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความชัดเจนของสถานการณ์การเมืองที่มีมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่การประกาศเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐของหลายพรรคการเมืองจนถึงวันที่สภามีมติเลือกนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ การที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากขั้วการเมืองเดิมก่อนการเลือกตั้ง ก็มีโอกาสทำให้การสานต่อนโยบายมีความต่อเนื่องมากขึ้น โดยนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ (mega-projects) ที่เน้นลงทุนด้านระบบขนส่งทั้งระบบถนน ระบบราง ท่าเรือ และอากาศยาน รวมถึงโครงการสร้างและพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ที่จะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้จะได้นายกฯ คนใหม่จากขั้วการเมืองเดิม แต่สถานการณ์ด้านการเมืองในระยะข้างหน้าก็ยังมีความท้าทายอยู่อีกหลายประการ ได้แก่
(1) เสียง ส.ส. ระหว่างฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน สะท้อนจากเสียงในการเลือกนายกฯ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2019 ซึ่งการที่ทั้งสองฝ่ายมีเสียงใกล้เคียงกัน อาจจะทำให้การผลักดันนโยบายหรือการผ่านร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลมีความยากลำบาก อีกทั้งการที่ฝ่ายรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสมจากหลายพรรคการเมือง ก็อาจทำให้การประสานผลประโยชน์ระหว่างพรรคทำได้ยาก จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เสถียรภาพของรัฐบาลอาจไม่มั่นคงในระยะข้างหน้า โดยจากการสำรวจของสวนดุสิตโพล6 พบว่า ประชาชนที่ตอบคำถามกว่า 73.65% เชื่อว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ครบวาระ 4 ปี และมากถึง 34.07% คิดว่ารัฐบาลจะมีอายุไม่เกิน 1 ปี ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปเนื่องจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับแรกของการประกอบธุรกิจในไทยตามความเห็นของผู้ประกอบการที่ทำการสำรวจโดย WEF ปี 2017-2018 (รูปที่ 12)

รูปที่ 12 : ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองเป็นปัจจัยที่น่ากังวลมากที่สุดของไทย จากการสำรวจของ WEF
Outlook_Q3_2019_Final_TH17.jpg

ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ World Economic Forum’s Executive Opinion Survey 2017-18

(2) การประสานแนวนโยบายต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ
เนื่องจากแต่ละพรรคมีนโยบายที่ต่างกันในช่วงการรณรงค์หาเสียง หรือในบางนโยบาย แม้ว่าจะมีจุดประสงค์คล้ายกัน แต่วิธีการในการดำเนินนโยบายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการคัดเลือกและประสานผลประโยชน์ของนโยบายจากหลายพรรคจึงไม่ใช่งานที่ง่าย นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายในมิติของความเป็นไปได้ในการจัดสรรงบประมาณอีกด้วย เนื่องจากหลายมาตรการของหลายพรรคการเมืองเป็นนโยบายที่ต้องอาศัยวงเงินงบประมาณขนาดใหญ่และมีแนวโน้มจะเป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง เช่น การประกันราคาสินค้าเกษตรหรือประกันรายได้เกษตรกร การให้เงินกับมารดาที่มีการตั้งครรภ์ การให้เงินดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุที่กำหนด และโครงการบ้านล้านหลัง เป็นต้น และยังรวมถึงนโยบายสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นค่าแรงที่อาจส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยหากมีการปรับขึ้นค่าแรงแบบก้าวกระโดดก็จะเป็นการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยตรง ซึ่งอาจทำให้หลายบริษัทไม่สามารถปรับตัวได้ทันและจำเป็นต้องปิดกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่มักมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานในระดับสูง ดังนั้นแม้ว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ได้ แต่ความไม่แน่นอนด้านแนวนโยบายเศรษฐกิจก็ยังมีอยู่ ซึ่งนับเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับที่สามตามรูปที่ 12 ในการประกอบธุรกิจที่ทำการสำรวจโดย WEF ในปี 2017-2018 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารจึงควรสร้างความชัดเจนด้านนโยบายทางเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด เพื่อลดความไม่แน่นอน และยังต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนถึงผลกระทบ
ของนโยบายต่าง ๆ ก่อนที่จะมีการดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทยยังอาจสะท้อนได้จากการวิเคราะห์ด้วยวิธีการ text analytics โดยใช้ฐานข้อมูลของ Global Database of Events, Language and Tone (GDELT) (รูปที่ 13) โดยพบว่าสัดส่วนข่าวที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองของไทยมีทิศทางปรับลดลงหลังจากการเลือกตั้ง ซึ่งต่อมามีทิศทางทรงตัวในระดับสูงจนถึงช่วงปลายเดือนมิถุนายนแม้ว่าจะมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อต้นเดือนมิถุนายนแล้วก็ตาม นอกจากนี้ หากพิจารณาลักษณะเนื้อหา (tone) ของข่าว ก็จะพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว ข่าวที่เกี่ยวกับความไม่แน่นอนทางการเมืองจะมีลักษณะเนื้อหาเชิงลบ สะท้อนว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มสร้างความกังวลต่อนักลงทุนต่อเนื่อง จึงจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการลงทุนภาคเอกชนของประเทศในระยะต่อไป

รูปที่ 13 : ความไม่แน่นอนทางการเมืองลดลงหลังการเลือกตั้ง แต่ยังอยู่ในระดับสูงแม้จะได้นายกฯ คนใหม่แล้ว ขณะที่ tone ของข่าวความไม่แน่นอนทางการเมือง ก็ยังเป็นเนื้อหาเชิงลบต่อเนื่อง
Outlook_Q3_2019_Final_TH18.jpg


ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ GDELT



6
โพลในหัวข้อ “ประชาชนคิดอย่างไร? กับ การอภิปรายเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรี” ส่งข่าววันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ