SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงกลางปี 2019 ต่อ GDP

ตามมติ ครม. วันที่ 30 เมษายน 2019 ได้เห็นชอบให้มีมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2019 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทมาตรการ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

Outlook_Q3_2019_Final_TH15.jpg

มาตรการพยุงเศรษฐกิจที่ออกในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2019 ที่ผ่านมา
Outlook_Q3_2019_Final_TH16.jpg
ตามมติ ครม. วันที่ 30 เมษายน 2019 ได้เห็นชอบให้มีมาตรการพยุงเศรษฐกิจในช่วงกลางปี 2019 โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทมาตรการ ได้แก่

1) มาตรการให้เงินสนับสนุนผ่านผู้ถือบัตรสวัสดิการ โดยจะมีทั้งมาตรการที่ให้เงินสนับสนุนกับผู้ถือบัตรทั้งหมดและมาตรการที่ให้ตามสถานภาพบุคคล ได้แก่ ผู้พิการ เกษตรกร และผู้ปกครองบุตร ซึ่งมีเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 13,210 ล้านบาท

2) มาตรการลดหย่อนภาษีในหลายประเภท อาทิ การท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง การซื้ออุปกรณ์กีฬา หนังสือ และการซื้อที่อยู่อาศัย เป็นต้น โดยกระทรวงการคลังได้คาดการณ์สูญเสียรายได้ไว้ประมาณ 8,620 ล้านบาท

อีไอซีประเมินว่า มาตรการเงินโอนผ่านบัตรสวัสดิการที่คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจมูลค่า 1.32 หมื่นล้านบาท จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประมาณ 0.05% (GDP ปรับเพิ่มขึ้นจากกรณีเดิม 0.05%) ในปี 2019 ผ่านการจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 เนื่องจากมาตรการส่วนใหญ่จะเป็นการให้เงินสนับสนุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ขณะที่ มีเพียงมาตรการให้เงินสนับสนุนกับผู้พิการเท่านั้นที่จะมีการสนับสนุนออกไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี ขณะที่ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากมาตรการลดหย่อนทางภาษีด้านการท่องเที่ยวและจากการซื้อสินค้าประเภทต่าง ๆ อีไอซีคาดว่า จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่มากนัก เนื่องจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีการเสียภาษีมีจำกัด และมีแนวโน้มสูงที่แต่ละบุคคลจะไม่มีการใช้สิทธิลดหย่อนเต็มจำนวน นอกจากนั้น มาตรการทางภาษีในรูปแบบเช่นนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการในช่วงเวลาหนึ่ง แต่พอหมดช่วงอายุของมาตรการแล้ว การบริโภคก็จะชะลอลงอย่างชัดเจน ตัวอย่างเช่น มาตรการรถคันแรกที่มีการเร่งซื้อรถยนต์ในช่วงที่มีมาตรการ แต่พอหมดอายุมาตรการ การซื้อรถยนต์ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยหากเทียบเคียงกับกรณีนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดการเร่งการบริโภคได้บางส่วนในช่วงไตรมาสที่ 2 แต่ก็จะตามมาด้วยการชะลอของการบริโภคในช่วงที่เหลือของปี ดังนั้นจึงคาดว่าผลกระทบในภาพรวมทั้งปี 2019 ของมาตรการลดหย่อนภาษีจะมีไม่มากนัก

คาดผลกระทบจากมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยต่ำกว่า 5 ล้าน จะมีไม่มากนัก แม้ว่าจะมีจำนวนเงินลดหย่อนได้มากถึง 200,000 บาท แต่จากการประเมินของอีไอซีพบว่า ผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยก็จะมีไม่มากเช่นเดียวกัน เนื่องจากเงื่อนไขที่มีจำกัดเฉพาะผู้ซื้อบ้านหลังแรก ซึ่งภาครัฐก็ส่งเสริมการซื้อบ้านหลังแรกมาตลอดช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เสียภาษีที่เข้าข่ายจะได้ประโยชน์จากมาตรการอาจมีไม่มากนัก นอกจากนี้ มาตรการ LTV และระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ก็จะเป็นปัจจัยกดดันต่อการพิจารณาให้สินเชื่อของสถาบันการเงินตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงทำให้คาดว่าผลของมาตรการต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจในภาพรวมอาจจะมีไม่สูงนัก4

4 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ “มาตรการลดหย่อนภาษีซื้อบ้านหลังแรก… ผลต่อตลาดบ้านโดยรวมอาจมีไม่มาก” https://www.scbeic.com/th/detail/product/5979

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ