SHARE
OUTLOOK:THAI ECONOMY
09 กรกฏาคม 2019

เจาะลึกเศรษฐกิจไทย ปี 2019 (ไตรมาส 3/2019)

เศรษฐกิจไทยปี 2019

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 3/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม

 

อีไอซีปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2019 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.3% เหลือขยายตัว 3.1% ตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจากความรุนแรงของสงครามการค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น


ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2019 มีทิศทางชะลอลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน เนื่องจากความรุนแรงของสงครามการค้าที่มีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ และยังรวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางชะลอตัวมากขึ้นจากแนวโน้มการค้าและการลงทุนที่ลดลงเนื่องจากภาวะสงครามการค้าและความไม่แน่นอนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงทำให้การส่งออกสินค้าในปี 2019 มีแนวโน้มหดตัว นอกจากนี้ สภาวการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยผ่านภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลง นอกจากนี้ ค่าเงินบาทที่แข็งค่ายังส่งผลทางลบต่อผู้ส่งออกและผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีกด้วย กล่าวคือ จากการที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีทิศทางอ่อนค่าตามท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ Dovish มากขึ้น ประกอบกับการที่เงินบาทไทยมีลักษณะเป็น Regional safe haven จึงทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและมีทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบทางลบต่อกำไรในรูปเงินบาทของผู้ส่งออก และยังทำให้รายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีการปรับลดลงอีกด้วย

ในด้านการลงทุนยังมีแนวโน้มขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยผลจากการปรับลดคาดการณ์ของภาคส่งออกจะส่งผลต่อการชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกเพิ่มเติม โดยแม้การลงทุนในภาพรวมจะยังได้ปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐในส่วนของการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ในช่วงที่เหลือของปี การลงทุนยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าสถานการณ์จะปรับดีขึ้นบ้างหลังจากได้นายกรัฐมนตรี และรวมถึงความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณที่อาจจะกระทบการเบิกจ่ายการลงทุนภาครัฐได้บางส่วนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี

ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยหากไม่รวมการกระตุ้นเศรษฐกิจ การบริโภคมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการหดตัวของภาคส่งออกที่จะส่งผลต่อรายได้ของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งออก และยังอาจส่งผลต่อเนื่องถึงระดับการจ้างงานและรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจดังกล่าวอีกด้วย อย่างไรก็ดี ด้วยภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจึงทำให้ภาครัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านบัตรสวัสดิการและการลดหย่อนภาษีในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ อีไอซียังคาดว่ารัฐบาลใหม่จะทำการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในช่วงครึ่งหลังของปี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2019 จะขยายตัวได้ดีแต่ในอัตราที่ชะลอลงจากปีก่อนหน้า

ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปยังมีทั้งปัจจัยเสี่ยงภายนอกและปัจจัยเสี่ยงภายใน โดยปัจจัยเสี่ยงภายนอกมาจากความรุนแรงของสงครามการค้าที่อาจเพิ่มระดับมากขึ้นในอนาคต ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจมีมากกว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงภายในมาจากความไม่แน่นอนด้านการเมืองที่ยังคงอยู่ในระดับสูงแม้รัฐสภาจะมีมติเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้ว แต่รัฐบาลใหม่ก็ยังมีความท้าทายรออยู่ข้างหน้า อาทิ เสถียรภาพและความสามารถในการผลักดันนโยบายของรัฐบาลใหม่ เนื่องจากเสียงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีจำนวนใกล้เคียงกัน และยังรวมถึงการประสานแนวนโยบายของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลว่าจะทำได้มากน้อยเท่าใด นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงภายในอีกประการก็คือ ความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีนี้ โดยเฉพาะงบลงทุนภาครัฐ


Thai_Econ.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ