SHARE
IN FOCUS
05 ตุลาคม 2022

เทคโนโลยี 5G ความท้าทายของการใช้งานในภาคการผลิต

ความท้าทายในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จาก 5G มาจากข้อจำกัดทางด้านความเข้าใจ การขาดแคลนแรงงานทักษะสูงด้านดิจิทัล และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

5G กับอุตสาหกรรมการผลิต

5G เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตของไทยเข้าสู่ Industry 4.0
จากความพร้อมในการใช้งานของเทคโนโลยี 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศและคุณภาพของสัญญาณที่สามารถรองรับการใช้งานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้งานนวัตกรรมใหม่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับผู้ประกอบการ เนื่องจาก 5G สามารถรองรับการถ่ายโอนข้อมูลปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว มีความเสถียร และความหน่วงต่ำ รวมถึงสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้ในจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับ 4G ดังนั้น 5G จึงเหมาะสำหรับการใช้งานระบบอัตโนมัติภายในโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ระบบการทำงานภายในโรงงานอุตสาหกรรมมีความรวดเร็ว แม่นยำ และมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เช่น การตรวจสอบคุณภาพสินค้าระหว่างการผลิต และการควบคุมเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยงอันตรายผ่านระยะไกล

ข้อจำกัดการลงทุนในเทคโนโลยี 5G

ผู้ประกอบการยังเผชิญกับข้อจำกัดการลงทุนในเทคโนโลยี 5G ทั้งในด้านความเข้าใจนโยบายส่งเสริมการใช้งาน การขาดแคลนบุคลากร และการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
การลงทุนในเทคโนโลยี 5G ผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดในการลงทุน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การขาดความเข้าใจนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยี 5G รวมถึงเงื่อนไขในการสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2. การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง ที่จะเข้ามารองรับการใช้งานเทคโนโลยีในอนาคต และ 3. การเข้าถึงแหล่งเงินทุน เนื่องจากการลงทุนเทคโนโลยี 5G ต้องใช้เม็ดเงินค่อนข้างสูงและมีระยะเวลาคืนทุนหลายปี ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนตัดสินใจชะลอการลงทุน

 

การเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการในยุค 5G

ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับตัวทั้งการสร้างองค์ความรู้ นำเทคโนโลยีมาใช้และพัฒนาทักษะแรงงาน เพื่อให้พร้อมต่อการใช้งาน 5G ในภาคการผลิตที่มากขึ้น
เทคโนโลยี 5G จะเข้ามามีบทบาทในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มมากขึ้น และจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดจะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสิทธิประโยชน์และคำแนะนำได้อย่างถูกต้อง การรู้เท่าทันและการเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ พร้อมทั้งเริ่มนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ภายในโรงงาน จะช่วยหนุนให้ธุรกิจเติบโตและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว รวมถึง การพัฒนาทักษะแรงงานในองค์กร (Upskill, Reskill) โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง และการเข้าร่วมปรับปรุงหลักสูตรการศึกษากับสถานศึกษา ที่จะช่วยให้แรงงานทักษะในอนาคตตรงตามความต้องการของตลาด

  

การสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 5G

การผลักดันให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยี 5G อย่างแพร่หลายและเต็มศักยภาพ ในระยะแรก ผู้ประกอบการยังต้องการการส่งเสริมการใช้งานที่ชัดเจนเพื่อบรรเทาข้อจำกัด
ความท้าทายสำคัญของการส่งเสริมการใช้งานในระยะแรกคือ เป้าหมายและทิศทางการใช้เทคโนโลยี 5G ที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาความต้องการแรงงานทักษะสูง ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเกิดแรงจูงใจในการลงทุนนวัตกรรมสมัยใหม่ผ่านการใช้งานเทคโนโลยี 5G ในภาคอุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น


Button-01-(1).jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ