SHARE
OUTLOOK:BULL-BEAR
24 เมษายน 2019

BULL-BEAR: ราคาน้ำมัน (ไตรมาส 2/2019)

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 1 ปี 2019 มีแนวโน้มลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แม้ว่า OPEC และพันธมิตรจะตกลงร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตน้ำมัน

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

 

ราคาน้ำมัน 
(USD/บาร์เรล)

2017

2018F

2019F
(ค่าเฉลี่ย)  เฉลี่ย Q1 Q2 Q3F Q4F เฉลี่ย Q1 Q2F Q3F Q4F เฉลี่ย ช่วงราคา

ราคาน้ำมันดิบ WTI

51 63 68 70 59 65 55 60 62 59 59 54-66
ราคาน้ำมันดิบ Brent 54 67 75 75 68 71 63 68 69 65 66 61-73


 ประมาณการราคาน้ำมันดิบโดย EIC
*ช่วงราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยต่อปี กรณีฐาน ซึ่งประมาณการโดย Leading global houses (ณ 14 กุมภาพันธ์ 2019)

 

EIC’s view: Bear

 

ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 2 ปี 2019 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยได้ปัจจัยสนับสนุนหลักจากการลดปริมาณการผลิตของ OPEC และพันธมิตร ซึ่งคาดว่าจะทำได้ตามเป้าหมายที่จะลดอุปทานจำนวนทั้งสิ้น 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ของ OPEC ที่ผลิตน้ำมันได้มากที่สุด เดิมตกลงไว้ว่าจะลดการผลิตน้ำมันจำนวน 3.2 แสนบาร์เรลต่อวัน ได้ประกาศจะลดเพิ่มอีก 5 แสนบาร์เรลต่อวัน ให้เหลือการผลิตที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัวอันเนื่องมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะกรณีเวเนซุเอลาที่จะส่งออกน้ำมันได้น้อยลง และหากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงยืดเยื้อ สหรัฐฯ อาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้เข้มขึ้นได้

สำหรับราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยทั้งปี 2019 มีแนวโน้มลดลงจากปีก่อนหน้า โดยการเพิ่มขึ้นของอุปทานน้ำมันในสหรัฐฯ คาดว่าจะมาชดเชยในส่วนที่ OPEC ลดปริมาณการผลิตน้ำมันซึ่งจะหมดอายุลงในเดือนมิถุนายน 2019 ทั้งนี้สหรัฐฯ สามารถขุดเจาะน้ำมันดิบได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2018 แซงหน้าซาอุดีอาระเบีย ขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันใหญ่ที่สุดของโลก จากปัจจัยสนับสนุนด้านการพัฒนาเทคโนโลยีขุดเจาะ hydraulic fracturing สำหรับ shale oil และข้อได้เปรียบด้านลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่มีชั้นหินดินดานซับซ้อนหลายชั้น ทำให้มีปริมาณน้ำมันสำรองสูง และในปี 2019 EIA คาดว่า การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือขยายตัว 10%YOY นอกจากนี้ ในด้านอุปสงค์ของน้ำมันปี 2019 คาดว่าจะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก ดังที่ IMF ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ 3.3% ในปี 2019

อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาความเสี่ยงด้านบวก เรื่องข้อตกลงการลดปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC+ ที่จะสิ้นสุดในเดือนมิถุนายน 2019 อาจได้รับการต่ออายุออกไปอีกจนถึงสิ้นปี 2019 ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นได้

ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย
หน่วย: พันบาร์เรลต่อวัน

TH_26.jpg


ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของ EIA และ OPEC




 

BULLs BEARs
  • อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มลดลงจากการร่วมมือกันลดปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC และพันธมิตรในช่วงครึ่งแรกของปี 2019 ตามข้อตกลงจำนวนรวม 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ในเดือนมกราคม 2019 OPEC ลดการผลิตน้ำมันได้ราว 8 แสนบาร์เรลต่อวัน เทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 30.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยซาอุดีอาระเบียลดปริมาณการผลิตมากที่สุดที่ 3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน เหลือ 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสามารถลดการผลิตได้มากกว่าที่ตกลงไว้เกือบ 1 แสนบาร์เรลต่อวัน และซาอุฯ มีแผนจะปรับลดการผลิตในเดือนมีนาคมให้ลงไปแตะระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน

  • สหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา Petróleos de Venezuela (PdVSA) ซึ่งเป็นแหล่งที่มาสำคัญของรายได้รัฐบาลนาย
    มาดูโร โดยคาดว่า จะทำให้การส่งออกน้ำมันของเวเนซุเอลาลดลง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลัก ทั้งนี้ภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรในเดือนมกราคม เรือบรรทุกน้ำมันของเวเนซุเอลากว่า 20 ลำ จอดลอยลำอยู่นอกชายฝั่งอ่าวเม็กซิโก ไม่สามารถส่งน้ำมันเข้าไปยังสหรัฐฯ ได้ และสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาไปยังสหรัฐฯ ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 2.4 แสนบาร์เรลต่อวัน หดตัว 41% เมื่อเทียบกับปลายเดือนมกราคม

  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2018 สหรัฐฯ ผลิตได้ที่ระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็น 17%YOY สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้สหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันอันดับ 1 ของโลก ทั้งนี้ EIA ประเมินว่าในปี 2019 สหรัฐฯ จะผลิตน้ำมันสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน

  • ความต้องการน้ำมันปี 2019 ของสหรัฐฯ และจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโภคน้ำมันอันดับ 1 และ 2 ของโลก มีแนวโน้มเติบโตช้าลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และความกังวลเรื่องสงครามการค้า โดย EIA คาดว่าอุปสงค์น้ำมันปิโตรเลียมของสหรัฐฯ และจีนในปี 2019 จะอยู่ที่ 20.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2%YOY) และ 14.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (3%YOY) ตามลำดับ ชะลอตัวลงจากปี 2018 ที่อุปสงค์น้ำมันขยายตัว 3% และ 4% ตามลำดับ

 

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ