ติดตามผลกระทบของมาตรการกีดกันการค้า และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ต่อการส่งออกไทย
มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย ผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ
เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม
มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศ โดยมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ นั้น ได้เริ่มต้นใช้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2018 โดยเป็นการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า 4 กลุ่ม แบ่งเป็นการเริ่มเก็บภาษี 2 ช่วง โดยช่วงแรกคืออุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ ที่ถูกเก็บภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2018 ขณะที่สินค้าต่อมาคือเหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม ที่ถูกเริ่มเก็บภาษีเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018 สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนนั้น ได้เริ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ในปีเดียวกัน โดยสหรัฐฯ ได้ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมูลค่ารวมกว่า 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมาตรการกีดกันทางการค้า และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนส่งผลกระทบภาคการค้าระหว่างประเทศดังนี้
ผลกระทบทางตรงต่อภาคการส่งออกไทย
สินค้าส่งออกไทยในบางกลุ่มยังคงได้รับผลกระทบทางตรงที่ต่อเนื่องจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2018 โดยสินค้า 2 กลุ่ม จาก 4 กลุ่ม ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดต่ำลงกว่าแนวโน้มมูลค่าที่เพิ่มขึ้นก่อนมีการเริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้า (แสดงดังรูปที่ 14) ขณะที่สินค้ากลุ่มอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกขึ้นภาษี ยังมีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯเพิ่มขึ้นหลังการใช้มาตรการ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอะลูมิเนียมจากไทยยังมีข้อได้เปรียบด้านราคา ประกอบกับผู้ประกอบการได้ใช้วิธีการเจรจากับผู้นำเข้าของสหรัฐฯ เป็นผลให้ได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับการส่งออกในแต่ละครั้ง
รูปที่ 14 : มูลค่าการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการขึ้นภาษีจากมาตรการกีดกันทางการค้าต่ำลงกว่าแนวโน้มก่อนการประกาศใช้มาตรการอย่างมีนัยสำคัญ
มูลค่ารวมของการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สำหรับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า
หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หมายเหตุ : *สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเริ่มเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์กึ่งตัวนำ (แผงโซลาร์) และเครื่องซักผ้า-เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2018 และเริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอะลูมิเนียม เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2018
ที่มา: การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ Trademap
ผลกระทบทางอ้อมต่อภาคการส่งออกและนำเข้าของไทย
สำหรับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนนั้น ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคการส่งออก และนำเข้าของไทย โดยภาคการส่งออกของไทยนั้น ได้รับผลกระทบจากสินค้าส่งออกของไทยบางกลุ่มไปยังจีน ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของสินค้าส่งออกของจีนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
สินค้าส่งออกไทยบางกลุ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนในกลุ่มเครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งมีโอกาสได้รับผลทางอ้อมจากสงครามการค้าที่หดตัวที่ -21.7%YOY ตั้งแต่ช่วงหลังจากสหรัฐฯ บังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้ากับสินค้าดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ เช่นเดียวกันกับสินค้ากลุ่มแผงวงจรไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวในช่วงเดือนกันยายนถึงกุมภาพันธ์หดตัวที่ -27.9%YOY ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในกลุ่มเม็ดพลาสติกไปยังจีนยังสามารถขยายตัวได้ที่ 10.5%YOY เนื่องจากจีนนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่เพื่อใช้ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีสินค้าบางกลุ่มที่สหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้มาตรการภาษีนำเข้าตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน 2018 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มยางแผ่น และกลุ่มไม้-ผลิตภัณฑ์ไม้ไปยังจีนในช่วงหลังมาตรการ (เดือนตุลาคม 2018-กุมภาพันธ์ 2019) หดตัวที่ -77.0%YOY และ -37.7%YOY ตามลำดับ โดยสินค้ากลุ่มยางแผ่นและไม้ส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบส่วนหนึ่งจากโรงงานในจีนที่ได้รับผลกระทบจากกฎเกณฑ์การควบคุมมลพิษที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่เคมีภัณฑ์ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 28.8%YOY ทั้งนี้ แม้ว่าสหรัฐฯ ได้ทำการเลื่อนการขึ้นภาษีจาก 10% เป็น 25% ออกไป จากเดิมที่จะขึ้นในวันที่ 1 มีนาคม 2019 อย่างไรก็ดี ในภาพรวมก็ยังถือว่าสงครามการค้ายังคงมีทิศทางยืดเยื้อ และมีแนวโน้มสูงที่จะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในระยะเวลาอันสั้น เช่น ข้อเรียกร้องด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การเปิดตลาดภาคบริการและเกษตรกรรม เป็นต้น
รูปที่ 15 : การส่งออกสินค้าของไทยบางกลุ่มสินค้า เริ่มได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากจีน
อัตราการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงหลังมีการบังคับใช้มาตรการกีดกันทางการของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากจีน*
หน่วย : %YOY (ช่วงหลังใช้มาตรการกีดกัน)
หมายเหต : *สินค้าในหมวดคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบได้รับผลกระทบทางอ้อมจากการที่สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการกีดกันทางการค้าต่อสินค้านำเข้าจีน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2018 สินค้าในหมวดเม็ดพลาสติก และแผงวงจรไฟฟ้า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2018 และสินค้าในหมวดยางแผ่น ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และเคมีภัณฑ์ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2018
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 21 มีนาคม 2019
ผลการเจรจาครั้งล่าสุด8 ท่าทีการประนีประนอมระหว่างสหรัฐฯ กับจีนต่อการสร้างความตกลงทางการค้าในระยะข้างหน้า ยังคงส่งผลกระทบต่อการส่งออกไทย หากจีนยินยอมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในกลุ่มที่นำเข้าจากไทย ก็จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนสำหรับสินค้าที่อยู่ในข้อตกลงลดลง โดยยังต้องติดตามผลการตกลงอย่างเป็นทางการว่าจีนจะยอมนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ กลุ่มใด
รูปที่ 16 : สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอลง ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า
มูลค่าการส่งออกที่แท้จริงไปจีน จำแนกเป็นสินค้าที่ได้รับและไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (3MMA) และ Real GDP ของจีน
หน่วย : %YOY
ที่มา : การวิเคราะห์โดย EIC จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และ CEIC ณ วันที่ วันที่ 21 มีนาคม 2019
ทั้งนี้สงครามการค้าทำให้เศรษฐกิจจีนในภาพรวมชะลอลง และยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า (รูปที่ 16) โดยสินค้ากลุ่มดังกล่าวมีสัดส่วนกว่า 67% ของมูลค่าการส่งออกปี 2018 ซึ่งอีไอซีคาดว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะขยายตัวชะลอลงที่6.3% ชะลอลงจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัว 6.6%
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าจับตาในปี 2019 คือการเริ่มย้ายตลาดนำเข้าของสหรัฐฯ และจีน โดยผลของสงครามการค้าทำให้ทั้ง 2 ประเทศ นำเข้าสินค้ากันได้ลดลงสำหรับรายการที่ถูกขึ้นภาษีการค้าทำให้ต้องหาตลาดทดแทนการนำเข้าสินค้าโดยเบี่ยงเบนตลาดนำเข้าไปยังตลาดอื่นแทน ซึ่งไทยมีโอกาสเป็นประเทศที่อาจสามารถส่งออกสินค้าเพื่อทดแทนได้ ทั้งนี้ผลของการส่งออกเพื่อทดแทนยังไม่ปรากฏชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากผู้นำเข้าของทั้ง 2 ประเทศ ยังต้องใช้เวลาในการปรับตัวระยะหนึ่ง ซึ่งผลของการส่งออกทดแทนของไทยนั้น อาจปรากฏในปี 2019 หากมีการตัดสินใจย้ายตลาดนำเข้ามายังไทย ทั้งนี้ตัวอย่างสินค้าที่ไทยอาจส่งไปยังตลาดจีนทดแทนสินค้าของสหรัฐฯ ได้แก่ สินค้าเกษตรจำพวกผลไม้ กุ้งแช่แข็ง เนื้อไก่ ของที่ทำด้วยทองแดง วิสกี้ บุหรี่ และอาหารสัตว์ ในด้านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ทดแทนสินค้าจากจีนได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์