SHARE
OUTLOOK:GLOBAL ECONOMY
23 เมษายน 2019

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปี 2019 (ไตรมาส 2/2019)

เศรษฐกิจโลกปี 2019 เศรษฐกิจหลับเติบโตชะลอจากความไม่แน่นอนที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ

เผยแพร่ใน EIC Outlook ฉบับไตรมาส 2/2019 คลิกอ่านฉบับเต็ม 

 

เศรษฐกิจโลกปี 2019 มีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศในเขตยูโรโซน จีน และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (EM) ในเอเชียจากผลกระทบสงครามการค้า ขณะที่การเติบโตของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยังมีแนวโน้มค่อนข้างดี เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งผลลบต่อภาวะการส่งออกอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะในเขตยูโรโซนจากประเด็น Brexit ที่ยังมีแนวโน้มยืดเยื้อ เศรษฐกิจยูโรโซนและจีนมีทิศทางชะลอตัวลงชัดเจนสะท้อนจากดัชนีชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคการผลิตและการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง จากสาเหตุทั้งปัจจัยภายนอกเรื่องสงครามการค้าที่สร้างความไม่แน่นอนในการวางแผนของภาคธุรกิจ และจากปัจจัยภายในยูโรโซน เช่น การชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ในเยอรมนีและการประท้วงในฝรั่งเศส รวมถึงปัจจัยภายในจีน เช่น การลดบทบาทของภาคธนาคารเงาและการทยอยลดการก่อหนี้ ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงของทั้งสองภูมิภาค อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจหลักอย่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยังมีแนวโน้มการขยายตัวที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยในสหรัฐฯ คาดการณ์ภาครัฐยังมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และในญี่ปุ่นทั้งภาครัฐและเอกชนยังมีแนวโน้มลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนงาน Tokyo Olympics 2020 รวมถึงอานิสงค์การเร่งใช้จ่ายของภาคครัวเรือนก่อนการขึ้นภาษีการบริโภคในเดือนตุลาคม อนึ่ง แม้เศรษฐกิจโลกจะมีทิศทางชะลอตัวลงตามวัฏจักรเศรษฐกิจและจากความไม่แน่นอนเชิงนโยบายที่ยังมีอยู่ แต่เศรษฐกิจภูมิภาคหลักส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากพื้นฐานของตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวดี ตลอดจนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและมีส่วนช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน ด้านนโยบายการเงินในกลุ่มประเทศ DM เริ่มเปลี่ยนไปในทิศทางที่ผ่อนคลายขึ้นหากเทียบกับไตรมาสก่อน ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณชะลอแผนการเข้มงวดนโยบายการเงินโดยหยุดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2019 พร้อมประกาศยกเลิกการลดงบดุลของ Fed ณ สิ้นเดือนกันยายน ด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศจะออกมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม (TLTRO3) ซึ่งจะเริ่มใช้เดือนกันยายน และธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ เนื่องจากคาดการณ์เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ สุดท้าย กลุ่มประเทศ EM โดยเฉพาะภูมิภาคเอเชีย การเติบโตมีแนวโน้มชะลอลงเล็กน้อยจากภาคการส่งออกที่ชะลอลงตามภาวะการค้าโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ ทั้งจากภาษีนำเข้าสินค้าจีน (มาตรา 301) ที่มีผลต่อเนื่องจากปี 2018 และภาษีนำเข้าหมวดยานยนต์และชิ้นส่วน (มาตรา 232) ที่อยู่ระหว่างการพิจารณา แต่การเติบโตของกลุ่ม EM ในหลายประเทศจะเน้นการบริโภคภาคเอกชนและการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงส่งจากการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอลงในภาพรวม

อีไอซีมองว่า ความเสี่ยงสำคัญในปี 2019 สำหรับเศรษฐกิจโลก 3 ประการ ได้แก่ 1) สงครามการค้า 2) ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และ 3) ปัญหาในด้านภูมิรัฐศาสตร์ ยังมีความไม่แน่นอนสูงแต่ทิศทางมีแนวโน้มดีขึ้น ในช่วงไตรมาส 1 ทิศทางของความเสี่ยงโดยเฉพาะสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกเป็นไปในด้านที่ผ่อนคลายขึ้น จากความพยายามในการเจรจาหาข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ และจีน การขยายเวลาพักรบสงครามการค้าชั่วคราว และการปรับลดโอกาสการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และ ECB ในปีนี้ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่คลายความกังวลให้กับตลาดการเงินโลก ขณะที่ปัญหาการเมืองโดยเฉพาะบทสรุป Brexit แม้จะมีการเลื่อนเส้นตาย Brexit จากเดิมวันที่ 29 มีนาคมออกไป ซึ่งช่วยลดโอกาสการเกิด Brexit แบบไร้ข้อตกลง (no-deal) ซึ่งจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปอย่างมาก แต่การหาข้อสรุปที่ทำให้ทุกฝ่ายพอใจยังเป็นเรื่องที่ท้าทายและต้องอาศัยเวลาในการเจรจาต่อรอง ความไม่แน่นอนและความเสี่ยงเหล่านี้มีโอกาสส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและภาคธุรกิจได้ในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ความเสี่ยงส่วนอื่น เช่น การคว่ำบาตรอิหร่านและเวเนซุเอลา รวมไปถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในหลายภูมิภาคทั่วโลก จะมีโอกาสสร้างความผันผวนในตลาดการเงินโลกในระยะต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

Global_Infographic.jpg

ธนาคารมีการใช้เทคโนโลยี เช่น คุกกี้ (cookies) และเทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันบนเว็บไซต์ของธนาคาร เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งานเว็บไซต์ของท่านให้ดียิ่งขึ้น โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ นโยบายการใช้คุกกี้ของธนาคาร
ยอมรับ